ฝนตกหลักและน้ำท่วมคราวนี้ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง


การช่วยเหลือต่าง ๆ ดีมากครับ โดยเฉพาะ อบจ. เทศบาล อบต. จนผมนึกถึงว่านี่แหละข้อดีของการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่น รวดเร็วทันการณ์ไงครับ ส่วนราชการระดับภูมิภาค หรือส่วนกลางก็ตัวอย่างจากระบบเตือนภัยไงครับ ช่วยตรงนั้น และช่วยในการสนับสนุนให้แก่ท้องถิ่น เพราะเขาอยู่ใกล้ เห็นเอง เข้าถึงได้ ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยเกิดว่า “ราชการไม่เหลียวแล” ผมว่าชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ครับ และชาวบ้านเองก็รู้แล้วว่าจะดูแลช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร

     ฝนตกหลักและน้ำท่วมคราวนี้ ขณะที่บันทึกเป็นครั้งที่ 3 แล้วในช่วงติด ๆ กัน ระบบเตือนภัยโดยการออกประกาศล่วงหน้าและแม่นยำของกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้มากทีเดียว ผมทราบจากออกไปพบหลายคนและสอบถาม เกือบทุกคนบอกว่าได้ทราบก่อนหน้า ทางชลประทานที่ดูแลอ่างกักเก็บน้ำก็แจ้งข่าวล่วงหน้าว่าจะปล่อยน้ำออก จะถึงตรงไหนเวลาเท่าไหร่ก็เม่นยำมาก อันนี้ทั้งจากในตัวเมืองพัทลุง และที่บางแก้ว เท่าที่ผมทราบ แต่ใช่ว่าไม่มีอะไรเสียหาย มีมากเหมือนกัน แต่ที่ป้องกันได้ก็ได้ป้องกันเสีย ทางจังหวัดมีการประเมินและรายงานออกมาเป็นระยะอย่างเช่น ถึงวันที่ 15 ธ.ค.2548
          ราษฎรได้รับความเดือนร้อน 2,584 ครอบครัว จำนวน 10,692 คน มีผู้เสียชีวิต ที่อำเภอเมือง จำนวน 1 คน
         พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมกว่า 10,000 ไร่ รวมทั้งถนนทางเข้าหมู่บ้านหลายสาย โดยเฉพาะถนนเพชรเกษม ช่วงจังหวัดพัทลุง - ตรัง ถูกน้ำท่วมขังเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะที่บ้านสามแยกบ้านคลองหมวย ที่หน้าสถานีอนามัยตำบลบ้านนา และที่บ้านต้นไทร ตำบลบ้านนา กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ ระดับน้ำท่วมสูงรถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถผ่านได้ ทางแขวงการทางพัทลุงแจ้งให้ผู้ที่ต้องการเดินทางไปจังหวัดตรังเปลี่ยนไปใช้เส้นทาง พัทลุง - ทุ่งสง - ตรัง แทน
          ส่วนภายในเขตเทศบาลเมืองพัทลุงน้ำได้ท่วมขังถนนหลายสาย และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านได้เร่งนำกระสอบทรายกั้นน้ำกันเข้าบ้านเรือนอีกทั้งโรงเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาลถูกน้ำท่วมขัง โรงเรียนหลายโรงได้สั่งปิดให้นักเรียนกลับบ้านก่อนกำหนด
          ที่บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต เกิดฝนตกหนักทำให้หินบนภูเขาพังถล่มลงมาทับสวนยางพาราเสียหายกว่า 200 ต้น ในพื้นที่กว่า 3 ไร่
     ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันนี้คาดว่าจะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นจากข้าว พืชไร่อื่น ๆ ของเกษตรกรที่ปลูกไว้แช่น้ำนาน แต่วันนี้ผมยังไม่ได้หาข้อมูลส่วนนี้มานำเสนอไว้ และอาาจะต้องใช้เวลาหลังน้ำลดเพื่อประเมินกันอีกครั้ง

กำลังจะเข้าบ้านที่ผมไปแวะ ที่เห็นไปไกล ๆ น้ำทั้งนั้น (ปกติชานบ่อน้ำจะสูงเพื่อกันน้ำไหลย้อนกลับ)

     ทางด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ก็ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังน้ำลดคือโรคตาแดง โรคอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง ประชาชนต้องระมัดระวังในเรื่องของน้ำดื่มที่ไม่สะอาด นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู ซึ่งจะพบในจุดที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะโรคฉี่หนูให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หากจำเป็นต้องสวมรองเท้าหุ้มข้อสูง และหากมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ทานยาแล้วไม่หาย ให้ไปพบแพทย์ พร้อมทั้งได้แจกจ่ายชุดยาที่จำเป็น

     แต่เท่าที่ผมประเมินคร่าว ๆ จะเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สิน/พืชสินค้าทางการเกษตรมากกว่า ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการช่วยเหลือต่าง ๆ ดีมากครับ โดยเฉพาะ อบจ. เทศบาล อบต. จนผมนึกถึงว่านี่แหละข้อดีของการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่น รวดเร็วทันการณ์ไงครับ ส่วนราชการระดับภูมิภาค หรือส่วนกลางก็ตัวอย่างจากระบบเตือนภัยไงครับ ช่วยตรงนั้น และช่วยในการสนับสนุนให้แก่ท้องถิ่น เพราะเขาอยู่ใกล้ เห็นเอง เข้าถึงได้ ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างที่เคยเกิดว่า “ราชการไม่เหลียวแล”

     ผมว่าชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ครับ และชาวบ้านเองก็รู้แล้วว่าจะดูแลช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไร ง่าย ๆ สิ่งแรกที่ประเมินคือการคอยฟังข่าวสารด้วยตัวเอง แล้วก็ลงมือช่วยเหลือกันเองก่อนไงครับ นึกถึงชาวมอร์แกน เมื่อครั้งเกิดสีนามิ เขาได้ใช้ประสบการณ์การเรียนรู้จากเมื่อครั้งบรรพบุรุษ เขียนใส่คัมภีร์ไว้ ลูกหลานถึงได้รู้และเอาตัวรอดได้

หมายเลขบันทึก: 9999เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2005 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท