พี่นพพล ที่ผมรู้จัก ตอนนั้นผมจบใหม่ ๆ
ไปบรรจุเป็นหมอนามัยที่ อ.ป่าบอน พี่นพพล
มาช่วยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของ สสอ. เรียบ ๆ และเรียบร้อย
มีมุขตลกเล่าให้อารมณ์ขันได้เสมอ ๆ พี่เขาเป็นคนนิ่ง ๆ แต่เจ้าคิด
เหมือนกัน จนผมย้ายออกมาแล้ว ก็ยังประทับใจพี่เขาเสมอครับ
พบเจอที่ไหนก็ต้องได้ตลกกันอย่างน้อย 1 เรื่อง ปัจจุบันพี่นพพล กองเอียด รับราชการ ตำแหน่ง
เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข ระดับ 6 (หัวหน้าสถานีอนามัย)
สถานีอนามัยบ้านน้ำตก หมู่ที่ 1 ต.วังใหม่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง สังกัด
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอป่าบอน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
วันหนึ่งผมต้องไปช่วยงานที่ สสอ.ป่าบอน เพราะทางพี่สมมาตรฯ สาธารณสุขอำเภอขอตัวให้ไปช่วยเตรียมเรื่องการนำเสนอต่อคณะกรรมการประกวด สสอ.ดีเด่น ระดับเขต ระดับภาค และระดับประเทศ ราว ๆ เกือบ 1 เดือนที่ต้องเทียวไปช่วยเกือบทุกวัน ก็ได้รับรู้ว่าพี่นพพลได้รับรางวัล “ผู้ประดิษฐ์ เครื่องมือห่อผลไม้ รางวัลที่ 2 การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ภาคภูมิใจแทนพี่เขาด้วย แม้จะผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คุณค่าแห่งความดีก็น่าจะได้นำมาถ่ายทอดไว้ครับ “หมออนามัยคนเก่ง”
แรงจูงใจของพี่เขาเกิดมาจาก โดยพื้นฐานเดิมครอบครัว บิดามารดา มีอาชีพทำนา ทำสวนยางพารา มีฐานะยากจน ตอนวัยเด็กจึงต้องช่วยเหลือบิดามารดาในการประกอบอาชีพ ด้วยความยากลำบาก จึงพยายามเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ เพื่อการประกอบอาชีพที่ไม่ต้องลำบากเหมือนกับการทำนาทำสวน โดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนรักการอ่าน การจินตนาการ เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้สอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยการสาธารณสุขภาคใต้ จังหวัดยะลา
เมื่อจบการศึกษา เข้ารับราชการ ตำแหน่ง เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน (พนักงานอนามัย) หรือชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า "หมออนามัย" ทำงานอยู่ที่สถานีอนามัย อยู่กับชาวบ้าน ชุมชน ให้บริการดูแลด้านสุขภาพตามบทบาทหน้าที่ของหมออนามัย เช่น การรักษาพยาบาลเบื้องต้น การป้องกันและควบคุมโรค การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้ร่วมกับหน่วยงานในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในการแก้ปัญหาของชาวบ้าน การสัมผัสกับชุมชนทำให้ทราบถึงปัญหาของชาวบ้าน
นอกเหนือจากด้านสุขภาพอนามัยแล้ว ปัญหาจากการประกอบอาชีพยังเป็นปัญหาของชาวบ้านที่รอการแก้ไข ประกอบกับจากพื้นฐานเดิมของครอบครัวที่มีอาชีพทางการเกษตร ถึงแม้จะมีอาชีพรับราชการในปัจจุบัน โดยนิสัยส่วนตัวก็ยังรักการเกษตร เมื่อมีครอบครัวและสร้างบ้านเรือน ก็ได้ปลูกไม้ผลไว้เพื่อบริโภคภายในบริเวณบ้าน เช่น ขนุน กระท้อน มังคุด เมื่อไม้ผลได้ผลผลิต ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำลายของแมลงศัตรูพืช เช่น ผลขนุนจะถูกหนอเจาะ ผลกระท้อน มังคุด ถูกทำลยโดยแมลงวันทองเจาะไซผล ในขั้นแรกก็แก้ปัญหาโดยการใช้ยาฆ่าแมลง การห่อโดยใช้บันได การปีนลำต้น ก็ยังพบอุปสรรค เช่น การใช้ยาฆ่าแมลง มักได้รับผลกระทบจากการใช้ยา มีอาการวิงเวียนศีรษะ กลิ่นจากยา การใช้บันได หรือการปีนลำต้นเพื่อห่อผลไม้ ได้พบปัญหาจากอุบัติเหตุ อาจตกบันได หรือตกต้นไม้ จากมดบนลำต้น การไม่มีเวลาว่างพอ ล่าช้าในการห่อ ตลอดจนสิ้นเปลืองแรงงาน
จากปัญหาดังกล่าวจึงมีความคิดว่า เกษตรกรที่ประกอบการทำสวนผลไม้เป็นอาชีพหลัก หรือแม้แต่ปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนก็น่าจะประสบปัญหาดังกล่าว บางรายอาจถึงกับปล่อยทิ้งไม่สนใจกับผลผลิตที่เกิดขึ้น จึงไม่คุ้มกับการลุงทุน หรือรายที่มีทุนมาก ก็อาจทำเป็นนั่งร้าน ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้คิดสิ่งประดิษฐ์เป็นเครื่องห่อผลไม้ เพื่อห่อผลกระท้อน และสามารถห่อผลไม้ชนิดอื่นที่มีขนาดผลใกล้เคียงกันได้ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ม่าเหมี่ยว ทับทิม ฯลฯ หรือถ้าหากมีผลขนาดใหญ่กว่าก็สามารถตัดแปลงได้ โดยใช้ส่วนประกอบในการประดิษฐ์ที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่อาศัยหลักการเดียวกัน ซึ่งเครื่องมือที่ประดิษฐ์นี้ นอกจากจะมีคุณสมบัติห่อผลไม้ได้เกือบทุกชนิดแล้ว ยังเป็นเครืองมือที่ใช้ได้ง่าย น้ำหนักเบา เก็บรักษาง่าย ปรับเปลี่ยนทิศทางการห่อได้ทั้งในแนวตั้แนวนอน หรือทำมุมเอียง วัสดุที่ใช้ห่อหาได้ง่าย
ภาพประกอบนำมาจาก เมืองลุงดอทคอม
ติดตามเรื่องราวและรายละเอียดในการทำเครื่องมือห่อผลไม้ได้ที่
http://www.muanglung.com/noppol.htm
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ชายขอบ ใน ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน
สนใจการประดิษฐ์เครื่องมือห่อผลไม้ ขอสอบถามหน่อยครับว่ามีทำขายหรือไม่ หาซื้อได้ที่ไหนครับ หรือขอทราบขั้นตอนวิธีทำได้หรือไม่ครับ จะทดลองเอาไปใช้ห่อผลไม้ครับ ขอบคุณมากครับ