เป็นการค้นหาจุดร่วม การวิเคราะห์เปรียบเทียบในเชิงวิชาการ การเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความ เข้าใจ ตลอดจนการสานเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถยนต์ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ไปสู่จุดหมายแห่งเดียวกัน เป็นจุดหมายที่มีความสมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ บนถนนแห่งความพอเพียงเส้นนี้นั่นเอง
สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ร่วมกับ สกว. ระดมสมอง จัดทำ Road Map เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง สู่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระดับชาติ ที่ประชุม เสนอจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่องและประสานงานกับหลายภาคส่วน ตลอดจนการกำหนดหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการปฏิบัติ เปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อวิถีชีวิต ขณะเดียวกัน เร่งสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ พร้อมกันไป หวังผลักดันสู่เศรษฐกิจทางเลือก แพร่หลายทั่วโลก
*****************
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการระดมสมอง ครั้งแรก เพื่อจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง (Road Map) และการสร้าง เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ โดยผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม ประมาณ 110 คน
ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคมกล่าวถึง วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย ในการจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีความ ชัดเจนว่าสถานภาพของประเทศไทย จะพัฒนาไปสู่ทิศทางการเป็นเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีเป้าหมายในระดับต่าง ๆ ณ จุดใด และขณะนี้ระดับความพอเพียงของประเทศอยู่ ณ จุดใด หากจะก้าวต่อไปควรจะทำอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่นโยบายดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ขาดขั้นตอนที่ชัดเจน เป็นต้นว่า ยังไม่เคยมีการตั้ง คำถามว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค หรือข้อท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีขั้นตอน อีกทั้งปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดผลสำเร็จ (Critical success factors) มีอะไรบ้าง เนื่องจาก บุคลากรภาครัฐบางส่วน อาจยังไม่เข้าใจความหมายและเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีพอ นอกจากนี้ยังเกิดความสับสนจาก กรณี ที่มีผู้ไม่ได้ศึกษาและไม่ เข้าใจ มีการกล่าวโจมตีว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่ง ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเป้าหมายของการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ เป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียง ระบุชัด ว่า “เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์” และ “เพื่อให้พร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง” ยิ่งไปกว่านั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังให้คำนึงถึงการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อมิให้เป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี มีแผนที่เดินทาง (road map) ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย พร้อมกับการสร้างเครือข่ายและความเข้าใจระหว่างประเทศ
สำหรับการจัดทำแผนที่เดินทาง จะมีการจัดประชุมระดมสมอง 3 ครั้ง และมีทีมวิชาการที่ ทำวิจัยเพื่อสนับสนุนข้อมูลในการระดมสมอง แผนที่เดินทางจะบอกแนวทางและเป้าหมายเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ ระบุวิสัยทัศน์และนำเสนอจังหวะก้าวใน 5 ปี ซึ่งข้อเสนออาจเป็นการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ กติกา การจัดการความรู้และข้อมูล การจัดการระบบงบประมาณและการกระจายอำนาจ องค์กรที่มีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และระบุถึงปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดผลสำเร็จ (critical success factors) ในแต่ละด้าน โดยจะมีการจัดลำดับความสำคัญ มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม สามารถปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำหนดยุทธศาสตร์ระดับประเทศ หน่วยงานปฏิบัติอื่น ๆ และภาคประชาสังคม มีความเข้าใจและเห็นแนวทางพัฒนาประเทศที่ชัดเจน พร้อมจะดำเนินงานพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน
ขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนที่เดินทาง กล่าวว่า เป้าหมายใน การจัดทำแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นเครื่องนำทางให้กับประเทศไทยสามารถโลดแล่นบนถนนโลกได้อย่างมั่นคงปลอดภัย โดยเน้นให้เห็นว่า บนถนนสายนี้ ไม่ได้มีรถยนต์ประเทศไทยเพียงคันเดียวที่แล่นอยู่ แต่ยังมีรถยนต์อีกหลายคัน กำลังวิ่งไปในทางเดียวกัน เพียงแต่มีแผนที่ประจำรถ กันคนละภาษา ซึ่งหมายความว่า ประเทศอื่น ๆ ในโลกที่กำลังแล่นอยู่ในทิศทางนี้ ก็มีแผนที่เดินทางที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนประเทศไทย
ฉะนั้น โครงการจัดทำแผนที่เดินทางและการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างประเทศ จึงเป็นการค้นหาจุดร่วม การวิเคราะห์เปรียบเทียบในเชิงวิชาการ การเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความ เข้าใจ ตลอดจนการสานเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถยนต์ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ให้ไปสู่จุดหมายแห่งเดียวกัน เป็นจุดหมายที่มีความสมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ บนถนนแห่งความพอเพียงเส้นนี้นั่นเอง
การระดมสมองครั้งแรกนี้ ประกอบด้วยกลุ่มย่อยด้านเศรษฐกิจ ทุนและเทคโนโลยี ด้านการเรียนรู้และสุขภาวะ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการกระจายอำนาจ มีข้อเสนอวิสัยทัศน์ภาพกว้างให้ประเทศไทยมีวิถีชีวิตและสังคมตามแนวทางพอเพียง มีภูมิคุ้มกันที่ทำให้อยู่ได้อย่างมีความสุขและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยมีความสมดุลใน 5 ด้าน คือ การดูแลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในสังคม การลดช่องว่างในสังคม ความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีในประเทศและต่างประเทศ ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา และการมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมกลุ่มย่อย ก็ได้เสนอประเด็นวิกฤติที่คล้ายคลึงกัน คือ ปัญหากลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ปัญหาค่านิยมและสื่อ ปัญหาการขาดความเข้าใจในเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาทางนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง ปัญหาทางการเมืองหรือความขัดแย้งที่บั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชน และปัญหาความพร้อมของส่วนท้องถิ่นที่ต่างระดับกัน
ข้อสรุปในเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะให้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นเจ้าภาพในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่องและประสานงานกับหลายภาคส่วน การสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคประชาชนผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้และการจัดการความรู้ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง มีหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการปฏิบัติ เปลี่ยนเป้าหมายการศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อวิถีชีวิต รัฐจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่พอเพียงให้ทุกคนเข้าถึงได้ ให้มีกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลงโดยใช้ฐานความรู้ท้องถิ่นและการรองรับสิทธิชุมชน การมีเกณฑ์ชี้วัดเพื่อใช้ตรวจสอบ กำกับดูแลการเลือกตั้งและการบริหารจัดการของรัฐ
สำหรับ ข้อมูลที่นำเสนอในการระดมสมองครั้งแรกนี้ จะนำไปใช้ในการพิจารณาประเด็นวิกฤติและพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อสนับสนุนการทำแผนที่เดินทางประกอบการระดมสมองครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ:สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคมมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โทรศัพท์ 02-579-7044
โทรสาร 02-941-3756
www.rasmi-trrm.org