mali
นางสาว อมรรัตน์ มารูปหมอก

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเส้นทางการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส


กินอยู่แบบไทย ใช้ของไทย

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเส้นทางการพัฒนาโอเพ่นซอร์ส

                  สถานการณ์ของประเทศไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับสภาพปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วต่อยุคสมัย  ที่เปลี่ยนแปลงไป  ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนกับกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของประชาชนคนไทย  สภาวะการณ์นี้เปรียบเสมือนสังคมไทยกำลังโต้คลื่นกระแสโลกาภิวัตน์ที่โถเข้าใส่ต่อการบริโภควัตถุนิยมกับทุกสิ่งที่ผ่านมา  โดยการขาดการกลั่นกรองถึงประโยชน์ที่แท้จริงของความเจริญเหล่านั้น               

                อย่างไรก็ตามในเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเป็นที่ทราบกันอย่างดีว่ามีลักษณะของการอาศัยพึ่งพาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมเล็ก ๆ ที่ใช้ส่วนบุคคลไปจนถึงซอฟต์แวร์ระดับสูงที่ใช้ในองค์กรต่าง ๆ  ประกอบกับพฤติกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ  ที่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย  ทำให้เกิดเป็นข้อเสียเปรียบในเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศและมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ในระยะยาว  (ธีรภัทร  มนตรีศาสตร์,RHCE) 

               แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์เสรี (Free Software)  และซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส (Open Source Software ) หรือเรียกรวมว่า F/OSS  เป็นแนวคิดหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  จากสภาพปัญหาด้านซอฟต์แวร์ที่เห็นชัดในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นภาพการไร้ความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของประเทศไทยที่จะต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ปัญหาการขาดบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ ไม่มีความสามารถในการผลิตและบริการซอฟต์แวร์ภายในประเทศด้วยตนเอง  ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในหลายด้านในการประยุกต์ใช้เพื่อดำเนินการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานในการดำเนินชีวิตของพระสกนิกรชาวไทย  ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนเพื่อให้สามารถแก้ไขภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

             การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้

            1.      กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจาก วิถีชีวิตดั่งเดิมของสังคมไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา  และเป็นการมองโลกในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลามุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนา

            2.      คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติตนบนทางสายกลางและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

                   3.      คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆ กัน ดังนี้    

  •  ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ    
  •   ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
  •  การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

            4.      เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

  •      เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย "ความรอบรู้" เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน "ความรอบคอบ" ที่จะนำความรู้เหล่านี้มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและ   "ความระมัดระวัง" ในขั้นปฏิบัติ   
  • เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

             5.   แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้คือการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี

                หากมีการนำซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สมาใช้งานเพิ่มขึ้นในประเทศไทย จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้เชิงเทคนิครับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตซอฟต์แวร์จากชุมชนโอเพ่นซอร์ส   (community) เป็นการพัฒนาศักยภาพของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยได้ทางหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการที่รวดเร็วเช่นนี้ นอกจากนี้ตัวแบบการสร้างธุรกิจโอเพ่นซอร์สยังมีส่วนช่วยเกิดการจ้างงาน การแข่งขันในเชิงธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นและมีกลไกในการดำรงรักษาสภาพ ในตัวซอฟต์แวร์เองให้คงอยู่กับชุมชน

                 เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นอยู่แบบไทย คือ อยู่อย่างพอมีพอกิน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดำเนินชีวิตบนทางสายกลางและยึดมั่นในคุณธรรม แต่มิใช่ว่าจะเป็นแนวทางเฉพาะในระดับบุคคลหรือภาคการเกษตรเท่านั้น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาประยุกต์กับการพัฒนาโอเพ่นซอร์สนี้ถือว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

คือ นอกจากจะพอเพียงในระดับบุคคลแล้วยังขยายผลไปสู่สังคมและประเทศชาติโดยรวมอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อความสามารถในการพัฒนาอย่างมั่นคงยั่งยืน พึ่งตนเองได้ และสามารถปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เอกสารอ้างอิง ·       คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ "เศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร?" กรุงเทพมหานคร. 2548. ·       วารสารมูลนิธิชัยพัฒนา "เศรษฐกิจพอเพียง" http://www.chaipat.or.th/journal/aug99/thai/self.html ·       อภิญญา ปุญญฤทธิ์ "ธ.ก.ส. กับการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" วารสารเพื่อการพัฒนาชนบท ธ.ก.ส. ·       โครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง "ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน" http://www.sufficiencyeconomy.org
  • ธีรภัทร  มนตรีศาสตร์  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาโอเพ่นซอร์สของไทย http://www.itdestination.com
หมายเลขบันทึก: 98825เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท