BAR กิจกรรมเชียร์และรับน้อง


จะทำให้ช่วงเวลารับน้องและเชียร์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัย ที่นิสิตปี 1 จะจดจำด้วยความสุข ความทรงจำที่ดี

                    จากการสัมมนาสโมสรนิสิตคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร  เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อสรุปหนึ่งที่ได้จากการสัมมนาคือ กิจกรรมเชียร์และรับน้องของคณะทันตะฯจะยกเลิกพี่วินัย ว้ากเกอร์ เชียร์หรือรับน้องด้วยความเครียดและความกดดันทั้งหมด บวกกับสโมสรนิสิตอยากนำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการดำเนินงานของสโมฯ  วันนี้เราจึงทำ BAR กิจกรรมเชียร์และรับน้องกันครับ

                   จริงๆแล้ว นิสิตเองก็ประชุมเตรียมงานกันมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้วล่ะครับ แต่คราวนี้มีทีมอาจารย์ที่ดูแลเรื่องกิจกรรมเชียร์และรับน้องเข้ามาคุยด้วย (มีผม อ.ชายแดน อ.นิติ อ.จินตนา อ.วัลดา อ.รณยุทธ) ในลักษณะที่คุยกันสบายๆ ไม่เป็นทางการ แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ (คุยกันตั้งแต่ทุ่มครึ่งถึงสี่ทุ่มครึ่ง)

                    ในบันทึกนี้ผมเก็บเรื่องราวต่างๆและประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังครับ

                    นิสิตหลายคนบอกว่า

  • ไม่แน่ใจว่าเมื่อไม่มีพี่วินัยหรือพี่เชียร์ที่เข้มงวด จะควบคุมนิสิตจำนวนมาก (ประมาณ 90 คน) ได้อย่างไร  
  • จะมีระเบียบเชียร์ที่ดีได้อย่างไร (ตั้งมือพร้อมกัน นั่งหลังตรง ปรบมือพร้อมกัน ร้องเพลงเสียงดัง ฯลฯ) 
  • รุ่นน้องจะไม่สามัคคีกันถ้าไม่สร้างสถานการณ์กดดัน
  • จะไม่มีวินัย (แต่งตัวเรียบร้อย ติดกระดุมคอด้วย แขวนป้ายชื่อตลอดเวลา ยกมือไหว้รุ่นพี่ทุกครั้งที่เจอ ฯลฯ)

                   และนี่คือคำถามที่อาจารย์ได้โยนลงไปให้นิสิตได้คิดกัน

  • จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการรับน้องในความคิดของนิสิตคืออะไร (คือมีวินัย ร้องเพลงได้ทุกเพลง (ประมาณ 20 กว่าเพลง) ปรบมือพร้อมเพรียงกันจริงๆหรือ)
  • การมีระเบียบเชียร์ที่ดีสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีจริงหรือ
  • คนเราจะสามัคคีกันได้ภายใต้ความกดดันเท่านั้น?
  • การดุด่า ว่ากล่าวว่าให้มีวินัย แต่งตัวเรียบร้อยโดยพี่กลุ่มหนึ่ง(ที่ทำหน้าที่ซ้อมเชียร์หรือพี่วินัย) จะทำให้รุ่นน้องแต่งตัวเรียบร้อยหรือมีวินัยที่ดี ? (โดยที่รุ่นพี่คนอื่นๆที่ไม่ได้เป็น staff ไม่ได้แต่งตัวเรียบร้อย)  
  • ถ้าเห็นด้วยกับวิธีเดิมๆ แสดงว่าตอนเป็นนิสิตปี 1 ชอบวิธีเหล่านี้?
  • ไม่ต้องร้องทั้ง 20 กว่าเพลงได้มั้ย จะเป็นอะไรหรือเปล่า
  • และอีกหลายคำถามครับ

                    จากนั้นก็ได้คุยกันในเชิงลึกถึงประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างเข้าใจให้ตรงกันที่จะไปทำงานต่อได้ โดยสรุปคือ

  • ตอนอยู่ปี 1 ไม่ชอบวิธีการเหล่านี้ แต่ไม่กล้าเปลี่ยน เพราะกลัวรุ่นพี่ว่า ซึ่งในการคุยกันวันนี้ ทุกคนมีความเห็นว่าให้ปรับเปลี่ยนได้เลย ในที่ประชุมวันนี้ไม่มีใครว่า ถ้าคนที่ไม่เข้าประชุมมาต่อว่าให้ตอบว่า อ.พิชิตอยากคุยด้วย (ล้อเล่นนะครับ)
  • ตัดเพลงเชียร์ออก ให้เหลือเท่าที่จำเป็น (เพลงประจำคณะ มหาวิทยาลัยเป็นต้น)
  • จุดมุ่งหมายของการรับน้องและประชุมเชียร์คือ ความรักความสามัคคีภายในชั้นปีและระหว่างชั้นปี ดังนั้นทุกกิจกรรมจะปรับในรายละเอียดเพื่อมุ่งสู่ประเด็นนี้เป็นหลัก
  • กิจกรรมทั้งหมดจะต้องไม่เครียดเลย ไม่มีอารมณ์ที่ไม่ดีของรุ่นพี่ ไม่มีความพร้อมเพรียงหรือแหกปากร้องดังๆที่ไม่จำเป็น
  • คำพูดของรุ่นพี่สำคัญมาก ในเรื่องเดียวกันด้วยน้ำเสียงต่างกัน จะได้ผลไม่เหมือนกัน
  •  positive approach ในทุกๆเรื่อง
  • เปลี่ยนชื่อห้องเชียร์เป็นห้องสำราญ
  • เน้นที่การเรียนรู้ด้วยตนเองของนิสิตปี 1  เป็นหลัก เช่นเรื่องการแต่งตัวเรียบร้อย  นิสิตทันตแพทย์ที่ดีในความคิดของตัวเอง
  • จะทำให้ช่วงเวลารับน้องและเชียร์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัย ที่นิสิตปี 1 จะจดจำด้วยความสุข ความทรงจำที่ดี
  • และอีกหลายประเด็นมากครับ ผมจำไม่ได้ เดี๋ยวคงมีคนอื่นๆที่เข้า BAR มาเขียนในเรื่องนี้ (ผมเล่าเรื่อง gotoknow ให้นิสิตฟังและเชิญชวนให้มาเขียน blog ด้วยครับ เร็วๆนี้เตรียมพบกับ planet สโมสรนิสิตคณะทันตะฯ นะครับ)

                   บรรยากาศการพูดคุย สนุกสนาน เป็นกันเองและชวนคบคิดมากนะครับ เอามาสรุปเป็นข้อๆแบบนี้ อาจจะฟังดูห้วนๆไปหน่อย

                    ความคิดเหล่านี้มาจากนิสิตเป็นส่วนใหญ่นะครับ ผมเพียงเก็บประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง ครั้งนี้เหมือนจะเป็นการจุดประกายความคิดและสร้างกำลังใจให้กับทีมงานทุกคน เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่เราจะยกเลิกพี่เชียร์และพี่วินัย (เปลี่ยนเป็นพี่ใจดีแทน) คงต้อง BAR กันอีกหลายครั้งก่อนจะถึงวันงาน

                   ถ้ามีโอกาส ผมจะเก็บมาเล่าต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 97980เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 01:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
P

 

ส่วนใหญ่ การรับน้องตอนนี้ดีขึ้นค่ะ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ถ้าไม่มีการกินเหล้า ก็ไม่น่ามีอะไรรุนแรงค่ะ

P
  • ขอบคุณครับ ผมเห็นด้วยครับว่ารับน้องตอนนี้ดีขึ้น
  • ที่คณะไม่เคยมีความรุนแรงอยู่แล้ว แต่ยังมีความเครียดหรือการสร้างสถานการณ์กดดันอยู่บ้าง
  • ปีนี้เราเลยเดินหน้าต่อด้วยการรับน้องด้วยความรัก ความอบอุ่น ความสามัคคีเท่านั้นครับ เราตั้งใจกันไว้ว่าจะไม่มีความเครียดใดใด (แม้เพียงเล็กน้อย) แฝงอยู่แม้แต่นาทีเดียว กำลังช่วยกันออกแบบกิจกรรมกันอยู่ครับ
  • ความคืบหน้าจะทยอยนำมาเล่าต่อครับ
  • ขอคิดด้วยคน
  • รู้สึกว่าตอนนี้วิธี KM หรือ BAR อะไรประมาณนี้จะเป็นเทคนิดวิธีทีสามารถ นำไปใช้ได้ในทุกๆเรื่อง คล้ายๆการสนทนากลุ่มของการวิจัย
  • นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าอย่างเรื่องรับน้อง บางคนก็ต้องการให้มันเป็ฯประเพณีที่น่าจดจำสามารถเล่าให้รุ่นน้องๆได้ฟัง แต่วิธีการที่เหมาะสม พอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ก็ขึ้นอยู่ว่ารุ่นพี่แต่ละคนจะคิดจะอ่านกันอย่างไร
  • เห็นว่าเป็นการที่มีการคุยกันแบบนี้ เพราะหากเป็นความต้องการของทั้งสองฝ่าย ก็จะได้ไม่เกิดปัญหาได้ และทุกฝ่ายเต็มใจที่จะเข้าร่วม
  • แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมี แม้ในบางมุมมอง ผู้ใหญ่อาจว่าไร้สาระ แต่ใครจะรู้ว่านั้นจะเป็นเวลาที่น่าจดจำมากที่สุดของเด็ก
  • เค้าจะได้เรียนรู้เพื่อน ที่เค้าจะต้องเจอ ตลอด 6 ปี (สำหรับทันตแพทย์นะ)

ชอบแนวคิดนี้ค่ะ ชอบมากจริงๆ ตอนปี 1 ก็ไม่ค่อยประทับใจห้องเชียร์ที่เคยเข้ามา แต่ก็คิดว่าห้องเชียร์ก็คงต้องเป็นแบบนี้ คณะอื่นยังโหดกว่านี้ อะไรแบบนี้ ... แต่พอทีมงานนำเสนอห้องสำราญนี้ขึ้นมาแล้ว รู้สึกว่าน่าจะ ใช่เลยนะคะ !!! ดีใจแทนน้องๆ แล้วก็เป็นกำลังใจให้ทีมงานทุกท่านค่ะ สู้ๆ นะคะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท