เตรียมของดีไว้โชว์ใน "เวทีปัญญา สัมมนาวาที" (ก.พ.ร.)


ของดีๆ มีอยู่ทุกที่

        วันนี้ขอแอบมาโฆษณาเล็กน้อยเกี่ยวกับงาน "เวทีปัญญา  สัมมนาวาที" ครั้งที่ 1  ของ ก.พ.ร. ต่อจากที่ อ.หมอวิจารณ์  และ น้ำ เขียนไว้  ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 15 มิ.ย. 2550 (1 วัน) ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ให้ภาคราชการ  ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน"   เพราะได้เข้าไปช่วยเรื่องเตรียมงาน "จับภาพ" กับเขาค่ะ

        งานนี้  อ้อ และ น้ำ ได้ไปจับภาพกับทีม ก.พ.ร.  3 ที่ค่ะ   บอกได้เลยว่า  3 ที่  3 สไตล์ หล่อ (เด่น) ไม่เหมือนกันเลยค่ะ   เอาเป็นว่าวันนี้ขอโฆษณาบางจุดที่ประทับใจเป็นน้ำจิ้มไว้ก่อนนะคะ

         1. กรมทางหลวงชนบท  :   โดยงานหลักของกรมต้องทำเรื่อง (1) การสำรวจ ออกแบบ  (2) การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์  (3) การก่อสร้าง  (4) การบำรุงรักษาทางและสะพาน  (5) การอำนวยความปลอดภัยงานทาง  ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนชนบทอยู่แล้ว  กรมจึงมีเทคนิควิธีอยู่มากในการเข้าถึง และดึงชาวบ้านให้มาร่วมให้ข้อมูล ร่วมคิดให้ความเห็น ร่วมตัดสินใจ  (เพราะชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ ย่อมรู้ดีว่าช่วงไหนจะเกิดอุบัติเหตุสูง สร้างตรงไหนได้ใช้ประโยชน์มาก)   การทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายตัวจริงของพื้นที่ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพึงพอใจในการสร้างถนน และได้ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง   จึงเป็นสิ่งสำคัญและทำให้งานของกรมทางหลวงชนบทเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิผล  (บริบทไทยแบบชนบทค่ะ)

           

            2. กรมการค้าภายใน : อันนี้บริบทออกแนวทันสมัยซักหน่อย    มีเรื่องดีๆ หลายเรื่องค่ะ  เช่น (1) เรื่องการสร้างพันธมิตรภาคเอกชน/ แนวร่วมในการสร้างหลักประกันและทางเลือกแก่ผู้บริโภค (ด้านความยุติธรรมค่ะ)  , (2) การสร้างอาสาสมัคร/ เครือข่ายผู้บริโภค (มาจากแนวคิด "ไม่มีใครคุ้มครอง ปชช. ได้ดีเท่าให้พวกเขาคุ้มครองกันเองได้),  (3) การตั้งที่ปรึกษาภาคประชาชน    (4) การสอนและมอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบมาตรฐาน  (5) การตอบสนองข้อร้องเรียนของ ปชช.    เหล่านี้ล้วนมีเทคนิคสร้างการมีส่วนร่วมมากมายค่ะ

          ขอยกตัวอย่าง 1 เรื่องประทับใจก่อนนะคะ  คือ เรื่องการตอบสนองข้อร้องเรียน เช่น เรื่องความยุติธรรมในการซื้อขาย , สินค้าไม่ได้คุณภาพ ฯลฯ    ซึ่งจะมีคนโทรเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลืออยู่มาก  ซึ่งที่นี่อธิบดีถึงกับให้ถือเป็นนโยบายว่า  "ไม่ว่าเรื่องอะไรที่โทรเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ  ให้รับไว้ทั้งหมด อย่าบอกว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องของกรม ของกรมอื่น"  แล้วเรื่องที่กรมรับผิดชอบให้รีบดำเนินการช่วยเหลือให้ข้อแนะนำ หรือดำเนินการลงไปช่วย     ส่วนเรื่องที่เป็นของส่วนราชการอื่นให้รีบประสานส่งต่อ   และเรื่องที่ไม่มีหน่วยใดรับเป็นเจ้าของ  ถ้าเราช่วยได้ให้ช่วย (ถ้าไม่มีใครช่วย แล้วประชาชนจะไปพึ่งใคร)"    ส่วนการช่วยเหลือความเดือดร้อนของ ปชช.  ทางกรมไม่เพียงแต่รับที่โทรเข้ามาร้องเรียนเท่านั้น  แต่ยังทำงานเชิงรุกเข้าไปค้นหาทางเว็บไซต์ เช่น pantip , ออก Mobile เคลื่อนที่ไปรับเรื่องตามจุดต่างๆ   และให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหา หรือลงไปช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม   โดยการแก้ปัญหาการโกง ข้อร้องเรียนต่างๆ ก็จะถูกเก็บไว้เป็น database รวบรวมปัญหา- การแก้ไข  และ update อยู่เสมอ  มีการประมวลผลเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน ดูว่าช่วงนั้นปัญหาอะไรกำลัง hot  เพื่อหาวิธีการดำเนินการ    ถามต่อไปก็พบว่ามีอยู่บ่อยๆ ที่ ปชช. หรือเครือข่าย เสนอวิธีแก้ไขปัญหามาให้  ก็เก็บไปใช้และต่อยอดความรู้ใน database ด้วย  และด้วยความคิดที่อยากให้ประชาชนได้รู้เท่าทันและมีความเข้มแข็ง  จึงมีการสังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ออกมาเผยแพร่  เช่น ทำหนังสือ "108 กลโกง"  มาเผยแพร่  และเผยแพร่สู่สังคมทางรายการ "ถอดรหัส"  เป็นต้น       ความภาคภูมิใจของคนในกรมนี้  คือ การได้ช่วยเหลือแก้ทุกข์ให้ชาวบ้าน  (ผลเห็นทันตา  คือ ปชช. ได้ความเป็นธรรม   มีคำขอบคุณ คำชม และบางครั้งชาวบ้านขอบคุณขนาดเอาขนมมาฝาก  และร่วมเป็นเครือข่ายทำงานช่วยกรมด้วย)  

         3. กรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ  :   จุดเด่นของกรมนี้ เกิดจากข้อจำกัดความขาดแคลนด้านคน และงบประมาณที่ไม่พอ     ความฉลาดของกรมจึงทำให้อธิบดีมีนโยบายว่า "กรมไม่สามารถทำงานคนเดียวรอด  จึงต้องดึงเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม"  ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการมาก่อนที่ ก.พ.ร. จะออกตัวชี้วัด "การมีส่วนร่วมของ ปชช." ซะอีก     จึงทำให้สถานพินิจฯ ได้เปิดรับสมัคร "คณะกรรมการสงเคราะห์" ในชุมชนจังหวัดเพื่อมาเป็นที่ปรึกษา ผอ. สถานพินิจฯ ในแต่ละจังหวัด  และไม่เพียงคณะกรรมการสงเคราะห์ (มีทั้งคนจากภาคเอกชน ราชการ แพทย์ อาชีพอิสระ NGO) จะร่วมเป็นแค่ที่ปรึกษาวางแผน  แต่ยังช่วยบริจาคทุน ช่วยเหลือด้านวัสดุ สถานที่ จัดงานกิจกรรม ให้เด็กได้ฝึกอาชีพ เรียน และทำกิจกรรมต่างๆ   คณะกรรมการบางคนมาเป็นครูฝึกอาชีพ  ดึงคนในชุมชนมาสอนให้   บางคนเป็นแพทย์มาตรวจร่างกายให้ฟรี  โดยไม่มีเงินตอบแทน   และชุมชนพื้นที่ที่สถานพินิจฯ ดึงเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ผลที่ได้รับคือ การมีเจตคติที่ดีต่อสถานพินิจฯ และเด็ก (ไม่ใช่คุกเด็ก ไม่ใช่อย่างที่ชาวบ้านรู้สึก)   และหลายจังหวัดที่เด็กเมื่อจบออกไป ได้รับให้ไปทำงานกับคณะกรรมการสงเคราะห์และชุมชน  เช่น  จ. ขอนแก่น  เมื่อจบออกไปแล้วมีกรรมการสงเคราะห์รับไปทำงานด้วยเป็นชั่งตัดผม   

             จุดเด่นอีกจุดคือ  กรมพินิจฯ  มีการทำงานร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ รวมทั้งมูลนิธิฯ และ NGO ต่างๆ ด้วย (เหลือบไปเห็นน้ำดื่มตรา สสส. นึกได้จึงถาม)    เช่น โรงเรียนและสถานพินิจฯ  จัดโครงการให้เด็กกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้ ป้องกันก่อนเกิดคดี,   ทำงานกับอาชีวะ กศน., สารพัดช่าง สาธารณสุข คนในชุมชน เข้ามาช่วยเหลือฝึกอาชีพ สอนหนังสือ นำภูมิปัญญามาสอน    มีมูลนิธี เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ช่วยเหลือเด็กและเยาวชน มาช่วยในโครงการต่างๆ     ถามถึงการทำงานกับเครือข่าย  ได้ความว่ากรมได้รับการช่วยเหลือในการทำงานอย่างดีมากร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ   บางทีสถานพินิจบางแห่งแตก (มีเด็กเยอะ เกิดปัญหา)  คนของสถานพินิจก็เอาไม่อยู่    ทั้ง NGO มูลนิธิ เพื่อนราชการ และ  ชุมชน  รีบเข้ามาช่วยเหลือกันอย่างรวดเร็ว  บางทีมาเยอะกว่าคนของสถานพินิจฯ อีก

            วันนี้โฆษณาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ  เทคนิค และของดีอื่นๆ  เอาไว้ในวันงาน 15 มิ.ย. 2550 นะคะ

อ้อ_สคส.    

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ก.พ.ร.#ร.พ.ก.#เวที
หมายเลขบันทึก: 96759เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

งือๆๆๆๆๆๆ ซึ่งครับ อ๊ากๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท