เพลงพื้นบ้าน วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง (1) "จุดเริ่มต้น"


ผู้ที่อนุรักษ์อย่างแท้จริง จะต้องเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน

เพลงพื้นบ้าน

วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

(1) จุดเริ่มต้น

            

           วิธีการ หรือกระบวนการ เป็นแบบแผน ชั้นเชิงในการปฏิบัติ เช่น วิธีการวาดภาพ วิธีการร้องเพลง วิธีการเรียนรู้  วิธีการสืบทอดภูมิปัญญา เป็นต้น

           ารอนุรักษ์ เป็นการรักษาไว้ รักษาเอาไว้ให้คงเดิม เช่น การอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น  การอนุรักษ์ ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  การอนุรักษ์เพลงอีแซว  เป็นต้น

           คำว่าอนุรักษ์ เรามักจะพบ และได้ยินพูดกันบ่อย ๆ ในการจัดกิจกรรมประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะศิลปะด้านการแสดงประเภทเพลงพื้นบ้าน  บางท่านกล้าที่จะพูดว่า เพลงพื้นบ้านใช้สำนวนเรียบง่าย  ไม่บังคับสัมผัสที่ลงตัวมากนัก อาจมีเฉพาะสัมผัสนอกเท่านั้นก็ได้ ศึกษาจากบทร้องดูเขาเล่นเดี๋ยวเดียวก็เล่นได้ (แสดงว่าเป็นนักดู) ส่วนบางท่านเจียมตัว ให้เหตุผลว่า เพลงพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น คนในท้องถิ่นใดก็สามารถที่จะเล่นเพลงพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้นได้ดี และฝึกฝนได้รวดเร็วกว่าคนต่างถิ่น (น่าจะเป็นนักแสดง) จริงอยู่การฝึกหัด การฝึกฝนที่ต้องใช้เวลานาน ๆ  รวมทั้งมีความตั้งใจจริงย่อมที่จะเกิดผลในทางพัฒนา อาจจะถึงขั้นทำได้ในระดับหนึ่ง (ระดับพื้นฐาน) แต่การที่จะบุกเบิกไปให้ถึง คำว่า เป็นผู้อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริงนั้น จะต้องแสดงผลผลิตให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างยั่งยืน วิธีการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านในปัจจุบัน จึงแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ

           แนวทางที่ 1 อนุรักษ์แบบรักษาของเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ถอดแบบมาจากของเดิม

           แนวทางที่ 2 เป็นการอนุรักษ์แบบประยุกต์จากของเดิมให้เข้ากับสมัยใหม่

         

         ไม่ว่าผู้ที่จะรักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้านจะเดินทางไปในแนวใด ผมคงมิอาจที่จะแสดงความเห็น หรือวิจารณ์ได้ เพราะแต่ละท่านย่อมที่จะมีเหตุผลอยู่ในตัวเอง แต่ในส่วนตัว  ผมคลุกคลีอยู่กับเพลงพื้นบ้าน หรือ เพลงพื้นเมืองมานาน แนวทางที่ผมเดิน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่เป็นหรือจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ฝังอยู่ในดินมานานหรืออย่างไรก็ตาม ผมขอนำเอาการปฏิบัติจริงมาล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันนะครับ  เพราะว่า เวลาผ่านมานานกว่า 25 ปี ที่ผมยืนอยู่บนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้าน

          ปี พ.ศ. 2525 ท่านนายอำเภอดอนเจดีย์ในขณะนั้นคือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ (อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน) ท่านมาตามผมที่บ้านพักครูและบอกเหตุผลว่า พี่ขอตัวคุณไปประกวดเพลง  อีแซว เพลงฉ่อย ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันที่ 6-8 เมษายน 2525 ผมและคณะนักแสดงซึ่งเป็นชาวบ้าน 7 คน เข้าร่วมประกวดในกิจกรรมครั้งนี้กับนักแสดงอีก 10 อำเภอ แบบด้นกลอนสด ผลการประกวด ปรากฏว่า คณะเพลงของอำเภอดอนเจดีย์ที่มีผมเป็นพ่อเพลง ไดรับรางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่ และเงินรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2525  นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมมิอาจลืม

          ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2526-2534 ผมเข้าร่วมอบรมในระดับจังหวัด ระดับเขตการศึกษาในฐานะผู้สาธิตการแสดงพื้นบ้าน และวิทยากรแนะนำการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ  เพลงเรือ เพลงฉ่อย  ลำตัด  เพลงพวงมาลัย  เพลงเกี่ยวข้าว เพลงอีแซว  เพลงแหล่  เสภา เพลงขอทาน เพลงกล่อมเด็ก  ผมร้องกลอนสดได้โดยอาศัยเพียงทำนองเดิมเท่านั้น (เคยฝึกหัดเพลงพื้นบ้านมาหลายชนิดกับครูเพลง) มีทั้งส่วนราชการและองค์กรเอกชนที่เชิญผมไป

          ในปี พ.ศ. 2535 เป็นปีที่ผมมีโอกาสฝึกหัดนักเรียนชั้น ม.1-2 จำนวน 15 คน เป็นตัวแทนของจังหวัดสุพรรณบุรี ไปแสดงเพลงฉ่อยในกิจกรรมเข้าค่ายยุวกาชาดเอเชียแปซิฟิก ที่ค่ายวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ผมฝึกหัดเพลงฉ่อยให้นักเรียนอยู่ประมาณ 5 วัน เด็กเขาจำแก่ง ฝึกหัดได้รวดเร็ว และไปทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ได้รับคำชมเชยว่า แสดงได้ประทับใจ  และเมื่อเด็ก ๆ กลุ่มนั้นกลับมา ผมเอ่ยปากชวนนักเรียนทั้ง 15 คน มาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกันต่อ ปรากฏว่าได้รับคำตอบตกลงจากนักเรียน 5 คน  ตรงนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้น ในการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านสุพรรณ ประเภทเพลงอีแซวในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี (ผมจะค้นหาภาพเก่า ๆ เพื่อที่จะนำมาประกอบคำบรรยายนะครับ) ความยุ่งยาก ความวุ่นวายสับสน ปัญหาอุปสรรคข้างหน้าหนักยิ่งกว่าฝนตั้งเค้าและท้องฟ้ามืดมิดหลายสิบเท่า 

              

(ติดตามตอนที่ 2/ชำเลือง มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ปี 2547)

 

หมายเลขบันทึก: 96182เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากๆนะค่ะที่ให้ข้อมูลในการเรียนหนูเรียนเรื่องนี้อยู่พอดีวิชาภาษาไทยค่ะ

ขอบคุณมากๆๆๆๆค่ะ

สวัสดีเจ้าค่ะ

น้องจิแวะมาเยี่ยมและเป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ สบายดีหรือเปล่าค่ะ รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ...หนูจิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท