การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๒)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๒)

ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๒ มาลงต่อนะครับ รายงานนี้ สคส. ได้รับเมื่อเดือน ธค. ๔๗ ตอนที่ ๒ นี้ ถ้าพูดตามภาษาของ สคส. ก็คือการกำหนด “หัวปลา” ของการจัดการความรู้ ตามโมเดล “ปลาทู” ของ ดร. ประพนธ์

ตอนที่ 2 เรียนรู้ความคาดหวัง ร่วมกันกำหนดเป้าหมายเพื่อปักธง

เมื่อเราๆท่านๆได้เรียนรู้ถึงทุกข์จากนักเรียนชาวนากันไปแล้ว หากได้ทำความเข้าใจกับสภาพปัญหา จึงจะทำให้เห็นภาพได้ว่าทุกข์เกิดจากระบบการผลิตในการทำนาที่เปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบจึงเกิดขึ้นต่อวิถีชาวนาได้อย่างไร และในคราวนี้ นักเรียนชาวนาอยากจะแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านั้นกันอย่างไรบ้าง? อะไรคือความคาดหวังที่อยู่ในจิตใจ? การบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังให้ได้ขบคิดพิจารณา แล้วก็นำเอาความคาดหวังที่ได้ไปสู่การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน

ความคาดหวังของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโพธิ์ (และตำบลดอนโพธิ์ทอง) อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มีดังนี้

(1) อยากลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เพื่อให้แผ่นดินและที่นาไร้สารพิษ อยากเป็นชาวนาแนวหน้าในการทำเกษตรอินทรีย์ และอยากให้ชาวนาทั้งประเทศทำเกษตรปลอดสารพิษ

(2) อยากรู้วิธีคุมหญ้าวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมี มีการรวมกลุ่มจัดหาสมุนไพรร่วมกัน อยากทำฮอร์โมนฉีดผลไม้ให้หวานและเพิ่มการเจริญเติบโตของข้าว อยากรู้เรื่องสมุนไพรไล่แมลงและใช้กับคน อยากทำปุ๋ยและยาสมุนไพรใช้เอง

(3) อยากรู้เรื่องโรคและแมลงที่ทำลายข้าว

(4) อยากได้ผลผลิตข้าวมากๆ อยากรู้วิธีที่ทำให้ได้ผลผลิตมากๆ อยากผสมพันธุ์ข้าวใช้เอง

(5) อยากกำหนดราคาข้าวได้เอง

(6) อยากอยู่ดีกินดี อยากให้สุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี

(7) อยากพัฒนาเครื่องมือในการทำเกษตรทำนา และการปรับพื้นที่ให้ดีและถูกต้อง

(8) อยากพ้นภาระหนี้สิน

(9) อยากมีความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาอาชีพได้

(10) อยากรู้เรื่องเกษตรกรแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดอย่างแท้จริง

(11) อยากให้มีการรวมกลุ่มกันอย่างมั่นคง

ความคาดหวังของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆ ตำบลวัดดาว อำเภอ บางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีดังนี้

(1) อยากทำการเกษตรที่มีการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ สามารถแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมี และหาวิทยาการทดแทนสารเคมี มีการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

(2) อยากให้มีปุ๋ยชีวภาพราคาถูก และมีเพียงพอแก่ความต้องการของชาวนา

(3) อยากจะคัดพันธุ์ข้าวเอง ไม่แดง ไม่ปน อยากให้ทางกลุ่มมีข้าวพันธุ์ดี

(4) อยากมีประสบการณ์แปลกใหม่ในเรื่องการทำการเกษตรกรรม อยากจะไปศึกษา ดูงานตามแหล่งต่างๆ และมีเพื่อนใหม่ เพื่อจะได้รับความรู้ดีๆแล้วนำไปใช้ในชีวิตและครอบครัว สามารถเป็นแบบอย่างในเรื่องเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีได้ และสามารถเผยแพร่ความรู้แก่เพื่อนบ้านได้ อยากให้ชาวนามาร่วมเรียนรู้ด้วย

(5) อยากให้คนภายในชุมชนมีความอยู่ดีกินดี สุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตดี และครอบครัวปลอดภัยจากสารเคมี

(6) อยากให้ข้าวราคาดี อยากให้ข้าวไร้สารเคมีราคาสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป อยากจะลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง และลดภาวะหนี้สินภายในครอบครัวด้วย

(7) อยากให้มีโรงสีขนาดเล็กของกลุ่มเพื่อรับซื้อข้าวภายในกลุ่ม

(8) อยากให้แก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้วิธีของการรวมกลุ่ม ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม และอยากให้กลุ่มขยายวงกว้าง

(9) อยากได้งบประมาณสนับสนุนจากแหล่งต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล รัฐบาล

(10) อยากจะฟื้นฟูประเพณีการละเล่นของท้องถิ่น

ส่วนความคาดหวังของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านดอน ตำบลบ้านดอน อำเภอ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีดังนี้

(1) อยากได้ความรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพ เรื่องสมุนไพรทดแทนสารเคมี อยากให้เลิกสารเคมี หันมาสนับสนุนปุ๋ยหมัก อยากให้มีการควบคุมหญ้าโดยไม่ใช้สารเคมี

(2) อยากรู้จักศัตรูข้าว

(3) อยากได้วิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว และอยากให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้น

(4) อยากรู้เรื่องประโยชน์และการใช้จุลินทรีย์

(5) อยากรู้เรื่องคุณภาพของดิน

(6) อยากรู้วิธีการทำนาแบบคลุมฟาง ไม่ไถ ล้มตอซัง จะทำอย่างไร และอยากเรียนรู้เรื่องการกระจายฟาง

(7) อยากให้มีรายได้เสริมจากรายได้ประจำ และอยากเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปลาด้วยฟางข้าว

(8) อยากให้เกิดความสามัคคีในกลุ่มเพิ่มขึ้น

(9) อยากให้เกิดการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

และความคาดหวังของนักเรียนชาวนาในโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง ตำบลไร่รถ อำเภอ ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีดังนี้

(1) อยากมีความรู้ใหม่ๆ ความรู้ในการทำการเกษตร ความรู้เรื่องการทำสมุนไพรใช้เอง ความรู้ในการทำมาหากินตลอดชั่วลูกชั่วหลาน เพื่อลูกหลานจะได้มีอยู่มีกิน

(2) อยากได้ประโยชน์และทำการเกษตรอย่างมีคุณค่า

(3) อยากได้พันธุ์ข้าวพันธุ์ดีมาทำนา

(4) อยากมีช่องทางในการประกอบอาชีพใหม่ และอยากจะได้มีผู้นำในการทำมาหากิน

(5) อยากจะได้สิ่งที่ดีจากโครงการ

เสียงความคาดหวังจากนักเรียนชาวนาแต่ละเสียงแต่ละข้อ คือ สิ่งที่นักเรียนชาวนาต้องการและสนใจ ในขณะเดียวกันเสียงความคาดหวังก็คือสิ่งที่โรงเรียนชาวนาสนใจจะเข้าไปช่วยเหลือให้เช่นกัน จากทั้งโรงเรียนชาวนาทั้ง 4 แห่ง สามารถสรุปรวมได้ดังนี้

(1) นักเรียนชาวนาต้องการแก้วิธีการผลิตข้าว ลดต้นทุน หันมาใช้สมุนไพรแทน

(2) นักเรียนชาวนาต้องการลดหนี้สิน

(3) นักเรียนชาวนาสนใจที่จะพัฒนาเทคนิคเกษตร เรื่องดิน เรื่องพันธุ์ข้าว

(4) นักเรียนชาวนาสนใจที่จะกลับมารื้อฟื้นประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น (โดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำนา เรื่องข้าว)

(5) นักเรียนชาวนาต้องการจะมีสุขภาพดีทั่วหน้า ต้องการให้ครอบครัวอยู่กันอย่างอบอุ่น

ความคาดหวังโดยสรุปรวม ทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่นักเรียนชาวนาต้องการร่วมกัน เป็นพื้นฐานของการกำหนดเป้าหมายเพื่อปักธง เรียกกันอย่างง่ายๆสั้นๆว่า “ปักธง” หมายความว่า แปลงนาข้าวของนักเรียนชาวนาที่ผลิตข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี จะได้รับ การปักป้ายสีเขียวคาดขาว มีข้อความว่า “โครงการสาธิตการทำนาต้นทุนต่ำ” ด้านล่างข้อความจะระบุชื่อของนักเรียนชาวนาแปลงนั้นๆ เป็นแปลงนาข้าวที่ใครๆสามารถเข้าไปตรวจสอบดูได้ทุกเมื่อ

นักเรียนชาวนาได้ร่วมกันปักธง เพื่อจะสื่อสารให้รู้ว่า จะร่วมกันเรียนรู้จากความรู้ที่มีอยู่ทั้งในชุมชนและจากภายนอก เพื่อจะร่วมกันแก้ไขโจทย์ที่ตั้งขึ้นจากปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

(1) นักเรียนชาวนาจะเรียนหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีกับโรงเรียนชาวนา 18 ครั้ง โดยเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆละ 3 ชั่วโมง

(2) นักเรียนชาวนาจะทำการลดต้นทุนการทำนา จะหยุดใช้สารเคมี ยกเว้นปุ๋ย แต่หากหยุดการใช้ปุ๋ยได้จะยิ่งดี

(3) นักเรียนชาวนาจะมีข้าวปลอดสารเคมีไว้กินตลอดชีวิต

(4) นักเรียนชาวนาจะมีสุขภาพที่ดี ทั้งกายและจิตใจ

(5) นักเรียนชาวนาจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งดิน น้ำ และอากาศ

เสียงของนักเรียนชาวนาที่เราๆท่านๆได้รับรู้ ได้กลายเป็นสิ่งสะท้อนที่ควรจะต้องทำ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจ รู้และเข้าใจบนพื้นฐานของท้องถิ่นและความเป็นชาวนา บางมุมอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่อย่าได้ลืมว่าเรื่องเล็กมาจากปัญหาใหญ่ และรวมปัญหาเล็กๆ จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ดังนั้น การจะคิดแก้ไขปัญหา จะมาคิดมาออกเสียงร่วมกัน และรวมถึงมาช่วยกันดูว่า สิ่งที่คาดหวังสิ่งที่ต้องการจะเป็นอย่างไร ? แล้วจึงมอบสิ่งที่นักเรียนชาวนาต้องการปรารถนาจะได้ ผู้รับจึงจะมีความสุขในการร่วมเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน หลังจากที่ได้มี การกำหนดเป้าหมายร่วมกันแล้ว ก็มีการสร้างเงื่อนไขร่วมกันอีกด้วย โดยถือเป็นการจัดระเบียบภายในโรงเรียนชาวนา ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยได้ร่วมกันกำหนดกฎระเบียบของกลุ่มให้มีผลต่อทุกคนในระหว่างการเรียนรู้ ทุกคนต้องร่วมกันกำหนดกฎใดๆ ร่วมกันคิด และหาข้อสรุป ถ้าหากมีการทำความดีก็จึงให้รางวัล แต่ถ้าหากกระทำการอันใดไม่เหมาะสมสอดคล้องขึ้นมาก็ควรแก่ การกำหนดโทษสำหรับใครที่ไม่ให้ความสำคัญในการเรียนรู้ อย่างเช่น

§ นักเรียนชาวนาต้องมีแปลงนาในการทดลอง อย่างน้อยที่สุดจำนวน 2 ไร่ ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการทดลองตลอดหลักสูตร

§ โรงเรียนชาวนาเปิดเรียนสัปดาห์ละ 1 วันๆ ละ 3 ชั่วโมง คือ 09.00 – 12.00 น. กำหนดให้เป็นวันใดวันหนึ่งตลอดทั้งหลักสูตร เช่น ทุกวันอังคาร

§ นักเรียนชาวนาห้ามขาดเรียนติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง หากแต่หาให้คนอื่นที่สามารถตัดสินใจใดๆแทนได้ ก็ถือว่าไม่ขาดเรียน

§ นักเรียนชาวนาห้ามขาดเรียนเกิน 5 ครั้ง หากขาดเกิน 5 ครั้งจะไม่ได้รับวุฒิบัตร

§ นักเรียนชาวนาที่มาลงทะเบียนเรียนต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 ครั้ง จึงจะได้รับ เสื้อรุ่นเป็นรางวัล

ทว่าโรงเรียนทั้ง 4 แห่ง จะมีรายละเอียดในข้อกำหนดแตกต่างกันไปบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักเรียนชาวนาแต่ละบ้านแต่ละแห่งว่าจะตกลงกันอย่างไร เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยหนุนให้การจัดกิจกรรมต่างๆดำเนินไปได้อย่างมีปัญหาน้อยที่สุด เมื่อกิจกรรมสามารถขับเคลื่อนลื่นไหลไปได้ด้วยดี

ถึงตอนนี้ นักเรียนโรงเรียนชาวนา มี “หัวปลา” ร่วมกันแล้ว เป็น “หัวปลา” ที่ทุกคนร่วมกันกำหนด ทุกคนเป็นเจ้าของ “หัวปลา” สภาพเช่นนี้แหละครับที่นำไปสู่การจัดการความรู้ที่ทรงพลัง ศักยภาพของชาวนาจะถูกปลดปล่อยออกมา จนตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าตนเองจะมีความสามารถถึงขนาดนั้น

วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 96เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2005 04:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท