KM กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
วิจารณ์ พานิช
9 มิ.ย.48
วันนี้ (1 มิ.ย.48) ผมไปร่วมเสวนาเรื่อง “มองไปข้างหน้า การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย” ในงานรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย ครั้งที่ 7/2548 จัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดให้แก่ สมศ. {สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (มหาชน)} ผู้ร่วมเสวนามี 3 ท่านคือ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน, ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา และผม มี รศ. ดร. พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผมได้เสนอความเห็น 5 ประเด็น ในเวลา 17 นาที แต่จะเล่าเฉพาะประเด็นที่ 5 คือ การใช้เทคนิคการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพการศึกษา
โดยเริ่มจากสมมติฐานที่แตกต่างไปจากที่ยึดถือกันทั่วไป ว่าการศึกษาไทยด้อยคุณภาพ หมดหวัง มาเป็นเชื่อว่าแม้ในภาพรวมการศึกษาไทยจะอ่อนแอ คุณภาพต่ำ แต่ก็ยังมีโรงเรียนที่คุณภาพสูง มีครูที่มีความสามารถ มีผลงานดีน่าภาคภูมิใจ การจัดการความรู้จะเริ่มที่ความสำเร็จ หรือ best practice เหล่านั้น ต้องไปหาให้พบและเชื้อเชิญคนที่ร่วมกันสร้างความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการดำเนินการไปสู่ความสำเร็จเหล่านั้น โดยที่ความสำเร็จดังกล่าวอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่ยิ่งใหญ่)
KM เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษามีหัวใจอยู่ที่ KS – Knowledge Sharing หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นหาคนหรือกลุ่มคนที่มีความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
สิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคือ เรื่องราวของความสำเร็จ ใช้เทคนิคที่เรียกว่า storytelling ในการเล่าเรื่อง มีการสร้างบรรยากาศเชิงบวก เชิงชื่นชมยินดี ไม่เน้นถูก – ผิด แต่เน้นเรื่องราวของความสำเร็จ เพราะในเรื่องราวของความสำเร็จ มีความรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอยู่ในนั้น
ดังนั้น ควบคู่ไปกับการเล่าเรื่อง จึงต้องมีการบันทึกประเด็นความรู้ (ที่เป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ) ไว้ ต้องมี “มือบันทึก” ที่หัวไว มือไว ลายมือดี บันทึกขึ้น flip chart ให้สมาชิกกลุ่มได้เห็นและช่วยกันเพิ่มเติม บันทึกที่ได้เรียกว่า “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) เมื่อเอามาสังเคราะห์จัดหมวดหมู่ก็จะได้ “แก่นความรู้” (Core Competence) เพื่อการบรรลุคุณภาพการศึกษา
กระบวนการทั้งหมดนี้ควรใช้เวลา 2 – 3 วัน สคส. เรียกว่า “ตลาดนัดความรู้”
ผู้จัดตลาดนัดความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา อาจเป็นกระทรวงศึกษาธิการ, สมศ., เขตการศึกษา, สกศ., หรือโรงเรียน 5 – 10 โรง รวมตัวกันจัด สคส. ยินดีให้คำปรึกษา และช่วยเหลือเชิงกระบวนการ แต่ไม่ใช่ไปจัดให้ เพราะการจัดตลาดนัดความรู้ต้องมีการเตรียมตัวมาก และต้องมีความรู้เกี่ยวกับเบื้องหน้าเบื้องหลังของกลุ่มที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน
ที่สำคัญ ต้องไม่ใช่จัดตลาดนัดครั้งเดียวจบ ตลาดนัดเป็นเพียงจุดเล็กนิดเดียวของระบบจัดการความรู้ทั้งหมด ซึ่งต้องคิดวางยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ไว้อย่างน้อย 5 ปี
นอกจากใช้ “ตลาดนัดความรู้” เป็นเครื่องมือแล้ว ควรใช้ IT เป็นเครื่องมือของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย โดยเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดคือ blog ผมมีแนวคิดในการใช้ blog ส่งเสริม KM อย่างเป็นระบบ แต่จะไม่เล่า ณ ที่นี้
ท่านที่สนใจเรื่องตลาดนัดความรู้ อาจไปค้นหาได้จากที่ผมบันทึกไว้ใน http://blog-for-thai-km.blogspot.com
และขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ว่าโรงเรียนที่ดำเนินการจัดการความรู้เกิดผลอย่างน่าชื่นชมที่ผมรู้จัก 2 โรงคือ โรงเรียนรุ่งอรุณ กับ โรงเรียนเพลินพัฒนา อ่านเรื่องของโรงเรียนทั้งสองได้จากนิตยสาร “สานปฏิรูป” ฉบับเดือน เมษายน, พฤษภาคม, มิถุนายน, และ กรกฎาคม ๔๘
วิจารณ์ พานิช
1 มิ.ย.48