การรู้แจ้ง


"พละ ๕ อินทรีย์ ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน มันเกิดที่ละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอก"

การรู้ธรรมเห็นธรรมของคนเรานั้นจะเกิดปุบปับรวดเร็วช่วงเวลาสั้นๆเปรียบได้กับ "ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น" (ลองไปสังเกตงูที่สถานเสาวภาดูนะครับ ว่ามันแลบลิ้นเร็วเพียงใด) ปัญญาที่เกิดจะสามารถจะช่วยดับทุกข์ได้ระดับหนึ่ง

หลวงพ่อโพธิ์เป็นพระบ้านนอก อยู่ที่วัดโพธิ์ บ้านโนนทัน จังหวัดขอนแก่นโน่น เป็นพระที่มีความเมตตาสูง มักจะใช้วันเวลาและจังหวะที่เหมาะสมในการกระตุ้นคนให้เกิดปัญญา

ครั้งหนึ่งมีโยมผู้หนึ่งมาต่อว่าท่าน "หลวงพ่อครับ ผมมาหาหลวงพ่อเกือบทุกวัน ทำไมผมไม่รู้ธรรมเห็นธรรม ช่วยให้ดับทุกข์ได้เลย"   ท่านตอบว่า "พละ ๕ อินทรีย์ ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน มันเกิดที่ละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอก"  แล้วท่านก็นิ่งไม่พูดอะไรอีก

หลายวันต่อมา โยมผู้นั้นก็มาหาท่านอีก พอถึงเวลากลับในตอนเย็น ท่านเดินมาส่งที่รถทั้งๆที่แต่ก่อนมาไม่เคยทำ ก่อนที่จะขึ้นรถท่านถามว่า "โยม  พระพุทธเจ้าออกจากพระครรภ์มารดา แล้วเดิน ๗ ก้าว โยมว่าจริงไหม"  "คงไม่จริงมั๊งหลวงพ่อ คงอุปมาอุปไมยเอา" โยมตอบ  หลวงพ่อกล่าวต่ออีกว่า "ถ้าโยมไม่เชื่อ โยมผิด  ถ้าโยมเชื่อ โยมก็ผิด"

โยมได้ฟังก็เกิดการรู้แจ้งในใจขึ้นมาทันที่เลยว่า "อ้อ  สิ่งนี้เองที่ทำให้เขามีความทุกข์มาจนตลอดชีวิต"

รู้ไหมครับว่า"สิ่งที่โยมผู้นั้นรู้แจ้ง คืออะไร"  เฉลยไม่ได้หรอกครับ  มันต้องเกิดขึ้นกับใจของท่านเอง มันจึงจะเป็นปัญญา(ทางธรรม)ของท่านนะครับ

พละ ๕ อินทรีย์ ๕ คืออะไร? ทำไมจึงต้องเกิดพร้อมกันจึงจะรู้ธรรม?

ก่อนอื่นจะขออธิบาย "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" ก่อนนะครับ

โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้ หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม หรือพระอรหันต์ทั้งหลายได้บรรลุธรรม ได้ใช้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการประกอบกัน

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการประกอบด้วย

      สติปัฏฐาน ๔

      สัมมัปปธาน ๔

      อิทธิบาท ๔

      อินทรีย์ ๕

      พละ ๕

      โพชฌงค์ ๗

      มรรค ๘

เห็นหรือยังครับว่า อินทรีย์ ๕ และ พละ ๕ เป็นองค์ประกอบ ๑๐ ใน ๓๗ ประการของธรรมที่เป็นองค์ตรัสรู้เชียวนะครับ

อินทรีย์ และ พละ นี้เป็นพลังทางจิตซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคน พร้อมที่จะปลุกให้ตื่นหรือเพาะให้งอกงาม และนำมาใช้ประโยชน์ในการทำลายกิเลส

อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ หรือการกระทำของผู้เป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึง หน้าที่ของผู้ปกป้องคุ้มครอง ส่วน พละ หมายถึงพลังที่ใช้ในการทำหน้าที่ของผู้ปกป้องคุ้มครอง ทั้งอินทรีย์ และ พละ มีอย่างละ ๕ คือ

๑ ศรัทธา หมายถึงความเชื่อความเลื่อมใส ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีพลังของความเชื่อที่เข้มแข็งในการเชื่อและเลื่อมใสในพระธรรม

๒ วิริยะ หมายถึงความเพียร ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีพลังความเพียรที่เข้มแข็งในการทำความเพียร

๓ สติ หมายถึงความระลึกรู้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีพลังของความระลึกรู้ที่เข้มแข็งในการทำความระลึกรู้

๔ สมาธิ หมายถึงความตั้งใจมั่น ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีพลังของความตั้งใจมั่นที่เข้มแข็งในการทำความตั้งใจมั่น

๕ ปัญญา หมายถึงความรอบรู้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีพลังของความรอบรู้ที่เข้มแข็งในการใช้ความรอบรู้

ในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้รู้ธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องปรับ"อินทรีย์ ๔ อย่าง" คือ "ศรัทธา กับ ปัญญา" และ "วิริยะ กับ สมาธิ" ให้สม่ำเสมอสมดุลกัน ส่วน "สติ" นั้น มีมากเท่าไรยิ่งดี ท่านเปรียบผู้ปฏิบัติธรรมเสมือน"รถเทียมม้า ๔ ตัว(๒ คู่)" ศรัทธากับปัญญาเป็นม้า ๑ คู่ วิริยะกับสมาธิเป็นม้าอีก ๑ คู่ สำหรับสติเป็นสารถีทำหน้าที่ควบคุมม้า คอยกระตุกเชือกไม่ให้ม้าตัวหนึ่งตัวใดวิ่งล้ำหน้าม้าตัวอื่น และคอยหย่อนเชือกและลงแส้ม้าตัวที่มีฝีเท้าช้ากว่าตัวอื่นให้วิ่งทันม้าตัวอื่น ม้าทุกตัวก็จะวิ่งขนานกันไป สารถีก็จะสามารถนำรถนั้นให้บรรลุถึงเป้าหมายได้

"ศรัทธา กับ ปํญญา ต้องไปพร้อมกัน" เพราะถ้ามีแต่ปัญญาแต่ไม่มีศรัทธาก็อาจใช้ปัญญาในทางที่ผิด หรือถ้ามีแต่ศรัทธาแต่ไม่มีปัญญาธรรมก็จะกลายเป็นไสยาศาสตร์ไป

"วิริยะ กับ สมาธิ ก็ต้องมีเท่ากัน" เพราะถ้ามีแต่ความเพียรก็อาจจะนำความเพียรไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่สมาธิ หรือถ้ามีแต่สมาธิแต่ไม่มีความเพียรก็จะกลายเป็นสมาธิที่กระท่อนกระแท่นขาดความต่อเนื่อง

ตัวอย่างการปรับอินทรีย์ ๕ และ พละ ๕ ไม่สมดุลกันในสมัยพุทธกาล ก็คือ กรณีของพระอานนท์ที่ถูกคณะสงฆ์กำหนดให้เข้าร่วมประชุมสังคายนาโดยที่ยังไม่สำเร็จอรหันต์ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่างหนักเพราะในวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันประชุมอยู่แล้ว ท่านก็ยังไม่สามารถสำเร็จอรหันต์ เนื่องจากมีวิริยินทรีย์(หน้าที่ของความเพียร)มากเกินไป ต่อเมื่อท่านหยุดพักผ่อนบนเตียงนอน พอเอนกายยกเท้าขึ้นเหนือพื้น แต่ศีรษะยังไม่จรดถึงหมอน ท่านก็สำเร็จอรหันต์ และได้เข้าประชุมสงฆ์ทันเวลาในวันรุ่งขึ้นพอดี

คงจะทำให้เข้าใจ "พละ ๕ อินทรีย์ ๕ มันต้องเกิดพร้อมกัน มันเกิดที่ละอย่าง มันรู้ไม่ได้หรอก" ของหลวงพ่อโพธิ์อย่างแจ่มแจ้งแล้วนะครับ

หมายเลขบันทึก: 95153เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2007 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะอ.ศิริศักดิ์  

มีหลายส่วนที่ชอบในบันทึกค่ะอาจารย์ แต่ที่ชอบที่สุดคือที่อาจารย์บอกว่า "เปรียบผู้ปฏิบัติธรรมเสมือน"รถเทียมม้า ๔ ตัว(๒ คู่)" ศรัทธากับปัญญาเป็นม้า ๑ คู่ วิริยะกับสมาธิเป็นม้าอีก ๑ คู่ สำหรับสติเป็นสารถีทำหน้าที่ควบคุมม้า คอยกระตุกเชือกไม่ให้ม้าตัวหนึ่งตัวใดวิ่งล้ำหน้าม้าตัวอื่น" รู้สึกว่าชัดเจนดีค่ะ

อาจารย์เขียนเรื่องนี้เหมือนมาเตือนสติพอดี (อีกแล้ว) กำลังมึนๆ กับปัญหาบางอย่างอยู่ในงานประจำ แต่ตอนนี้ปัญญาเกิดแล้วค่ะ แต่อาจไม่ไวเท่างูแลบลิ้นนะคะ 555

ขอบคุณค่ะอาจารย์ แล้วจะแวะมาเยี่ยมใหม่ค่ะ..

กราบสวัสดีครับ อ.ศิริศักดิ์

  • กระจ่างแจ้งเลยครับ
  • ปัญหาที่เกิดกับผู้ปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่อ้างตัวว่าสำเร็จอย่างโน้นอย่างนี้  แต่มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ทรงเจ้าเข้าผี  ใบ้หวยเบอร์  ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอวดอ้างว่าตัวเองเป็นผู้รู้  แล้วตั้งลัทธิต่างๆ ขึ้นมา ก็คงจะเกิดจากการไม่เข้าใจเรื่องที่อาจารย์กล่าวนี้กระมังครับ
  • ซึ่งน่าจะเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน  ไม่ได้คิดแบบองค์รวม
  • กราบขอบคุณที่มาเตือนสติ และให้ปัญญาครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีครับ....

P
P
P

อย่างที่ว่าแหละครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ปฏิบัติธรรมและไม่ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คือความไม่ทำให้เกิดความสมดุลในองค์ประกอบที่จำเป็นสู่ความสำเร็จต่างๆ 

 ยิ่งการปฏิบัติเพื่อต้องการให้หลุดพ้น ยิ่งยากใหญ่ คนส่วนมากจะเร่งความเพียรมากกว่าอย่างอื่น เพราะทำได้ง่าย มีประสบการณ์ว่า"ขยันทำมากก็จะได้ผลมาก" ก็เลยหลงทางไปบ้าง

แต่สุดท้ายธรรมชาติก็จะเป็นตัว"เบรก"ให้เอง คือ ทำความเพียรมากก็จะเหนื่อยกายมาก ยิ่งตระหนักว่าตัวเองยังไม่สามารถบรรลุธรรม ก็จะเหนื่อยใจด้วย ทำให้การเร่งทำความเพียรถูกชลอลงไปเองโดยอัตโนมัติ เมื่อถึงจุด"สมดุล"   ก็จะเห็นความก้าวหน้าของการปฏิบัติ และบรรลุธรรมในที่สุด     เช่นเดียวกับพระอานนท์

เพื่อนๆนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าย่อท้อนะครับ ให้ดูจิตตัวเองอยู่เรื่อยๆ ทำใจให้เป็นกลาง จะเห็นเองแหละครับว่า"อะไรขาด อะไรเกิน"

สวัสดีค่ะ P อ.ศิริศักดิ์

ชอบที่อาจารย์นำเสนอเรื่องความสมดุลค่ะ เพราะบางทีคนเราจะหลงไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากได้ง่าย มัก"จับ" หรือโฟกัสอยู่กับเรื่องบางเรื่องเท่านั้น จนลืมเรื่องสำคัญอื่นๆ ไป ทำให้ทำอะไรไม่สำเร็จ หรือมักคิดว่าทำแล้วไม่เห็นได้ดังคาด เป็นทุกข์เป็นร้อนกันต่อไปอีก

ขอบคุณอาจารย์ที่เตือนสติค่ะ ; )

ครูบาอาจารย์ผม (หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ) ท่านก็สอนว่า ไม่ทำก็เป็นการประมาท เร่งรัดเอาผลก็ไม่ได้ แต่ขอให้ทำไปเรื่อยๆ ห้ามลามือ (ห้ามหยุด) อุปมากับการกินข้าว กินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหวังให้อิ่ม ถึงเวลามันก็อิ่มเอง

สวัสดีครับคุณ

P

หลวงปู่ดู่เป็นอริยสงฆ์ คำสอนของท่านจะเรียบง่าย ฟังแล้วไม่ต้องตีความ จะโดนใจเลย

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

ความสมดุลที่ว่าไม่จำเป็นว่าแต่ละองค์ประกอบจะต้องเท่ากันหรอกนะครับ "สมดุลของแต่ละคนแต่ละกาลเวลา"จะต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่มีความรู้เลย ต้องใช้องค์ประกอบความเพียรมากกว่าองค์ประกอบปัญญาก่อนในตอนแรก หลังจากมีปัญญาในตัวมากขึ้นแล้ว ความสมดุลจะมีสัดส่วนความเพียรต่อปัญญาก็จะลดลง 

ขอบคุณนะครับที่ชอบอ่าน

คัดมาแต่ใจผัก เพราะเราใส่ใจคุณ '(^---^)' จริงๆเลยระครับ

P

 

 

 

สวัสดีครับคุณ
P
 ขอบคุณครับที่คัดมาแต่ใจผัก ดีแต่ว่าพอจะรู้ภาษาจีนอยู่บ้าง "ใจผัก"ฟังดูแปลกๆ ถ้าบอกว่า"ไช่ซิม" ขาประจำข้าวต้มกุ๊ยอย่างผมชอบมากเลยแหละ.....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท