บันทึกของนักกิจกรรม (Memoirs of a Activist) (2)


ผู้นำที่โชคดีที่สุดคือผู้นำที่มีทีมงานที่สามัคคีรักใคร่กัน และพร้อมจะเสียสละให้กันเสมอ

หลังจากที่เป็นหัวหน้าห้องอยู่ 2 ปี พอขึ้นชั้นม.6 ก็เป็นพี่ใหญ่ของโรงเรียน ซึ่งก็เข้าสู่วาระการเลือกประธานนักเรียนคนใหม่ แทนรุ่นพี่ที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้ว

โรงเรียนของเราก็เหมือนกับโรงเรียนอื่นทั่วไปที่จะแบ่งนักเรียนออกเป็นคณะสีต่างๆ ซึ่งคณะสีต่างๆจะใช้ชื่อ และสีของดอกบัวเป็นตัวแทนของคณะสี แบ่งเป็น 5 สีดังนี้สีเหลือง (โกมุท), สีเขียว (สัตตบุษย์), สีชมพู (สัตบงกช), สีฟ้า (บุษกร) และสีม่วง (นิลุบล) โดยมีบัวจงกลนีเป็นดอกไม้ประจำโรงเรียน อ่านถึงตรงนี้ผู้ที่เคยอยู่โรงเรียนเดียวกับเราคงรู้แล้วว่า เราจบมาจากโรงเรียนอะไร (แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีโรงเรียนอื่นใช้ชื่อแบบนี้หรือไม่)

โรงเรียนของเราแตกต่างจากโรงเรียนอื่นคือจะมีประธานนักเรียน 5 คนซึ่งแน่นอนจะต้องดำรงทั้งตำแหน่งประธานนักเรียน และประธานคณะสี และต้องเป็นตัวแทนของนักเรียนเวลามีกิจกรรมใดๆของโรงเรียนตลอดปีการศึกษานั้น แน่นอนว่าโชคดีก็มาถึงเราอีกครั้งเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษา (คนละคนกับที่ให้เราเป็นหัวหน้าห้อง) มาถามว่าใครอยากลงสมัครเป็นประธานสีบ้าง (ต้องให้นักเรียนทั้งโรงเรียนเลือกตั้ง ซึ่งเราคิดว่าคงเป็นการเลือกตั้งครั้งเดียวในชีวิตที่เราเคยเห็นว่าไม่มีการซื้อเสียงเกิดขึ้น) ก็ยังไม่มีใครเสนอตัว แต่มันต้องมีตัวแทน เพราะว่าคณะสีของเรามี ม.6 อยู่ห้องเดียว ในที่สุดอาจารย์ก็ถามเราในฐานะหัวหน้าห้อง แต่ถ้าจะลงสมัครก็ต้องออกจากการเป็นหัวหน้าห้องก่อน เพราะทำงาน 2 ตำแหน่งพร้อมกันไม่ได้ เราใช้เวลาตั้งสินใจอยู่ประมาณ 5 นาทีก็บอกว่าสนใจ เพราะสำหรับเราแล้วมันน่าจะเป็นโอกาสที่ดี แต่การแข่งขันนั้นมันย่อมต้องมีคู่แข่งขัน ซึ่งอาจารย์ก็ถามเพื่อนอีกคนในกลุ่มที่เรียนศิลปะที่เคยช่วยทำฉากละครให้เรา แน่นนอนถ้าเพื่อนคนนั้นลงก็คงได้เพราะแฟนคลับเยอะมาก แต่ในที่สุดก็กลายเป็นเพื่อนอีกคนที่ลงสมัคร (เพื่อนในกลุ่มเรา)

การหาเสียงมีบ้างประปรายตามประสาของเด็กๆ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง โรงเรียนจะให้ผู้ลงสมัครออกมาหาเสียงหน้าเสาธงตอนเช้าที่นักเรียนเข้าแถว วันละสี แม้ว่าจะเป็นหัวหน้าห้องมาแล้ว 2 ปี ทำกิจกรรมมาบ้าง แต่การออกไปยืนพูดหน้าชุมชนขนาดนั้นก็เป็นครั้งแรกในชีวิตของเราที่เดียว แน่นอนว่าตื่นเต้นไม่รู้จะพูดอะไรดี ทุกคนเป็นเหมือนกันหมด แต่เมื่อถึงเวลาเรากลับพบอะไรบางอย่างในตัวเองว่าเราสามารถพูดหน้าชุมชนได้ ถึงแม้จะกลัวแต่ในใจก็คิดว่าเรามีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้นต้องทำให้ได้ และต้องทำให้ดีด้วย สิ่งที่คิด และพูดออกไปในวันนั้นก็กลับนำมาซึ่งคะแนนเสียงที่มากมาย และส่งผลให้เราได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาในอีกระดับหนึ่งในชีวิตของนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งเราภาคภูมิใจมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่จะมาเป็นประธานสีนั้น จะเป็นคนที่เรียนเก่งขึ้นรับใบประกาศนียบัตรทุกปีจนน้องๆจำหน้าได้ หรือไม่ก็เป็นพวกที่มีแฟนคลับเยอะนั้นเอง

เมื่อเราเป็นประธานฯ ก็ทำให้เรามีโอกาสทำอะไรมากมายกว่านักเรียนอื่นๆ จากที่เราเคยทำงานกับคนในห้อง เราก็ต้องทำงานกับคนจำนวนมากขึ้น (น้องๆที่อยู่ในคณะสีเดียวกันทั้งโรงเรียน) งานหลักๆก็คือการไปเป็นตัวแทนของคณะสีในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานวันเฉลิมฯ งานวันพ่อ ฯลฯ และการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ที่อยู่ในคณะสีช่วยเหลือ กิจกรรมที่พวกเราทำก็คือไปปลูกป่าที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกิจกรรมสืบเนื่องของคณะสีนี้ ใช่แล้วเราอยู่คณะสีเขียว งานชิ้นสำคัญของประธานสีคือการจัดกีฬาสี ปกติเราจะเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมที่รุ่นพี่จัด ปีนี้เราต้องขึ้นมาควบคุมน้องๆทุกชั้นปี เป็นงานที่ให้ประสบการณ์กับเรามากมาย ต้องมีทีมงาน ต้องมีการวางแผน ต้องมีการประชุมตลอดทั้งกับทีมงาน และน้องๆในคณะสี ต้องวางแผนเชียร์ ซ้อมน้องๆร้องเพลงเชียร์ หาเชียร์ลีดเดอร์ หางบประมาณ เตรียมงานเยอะมาก ถ้าใครเคยทำงานแบบนี้จะรู้ มันจะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

การที่โรงเรียนนี้ได้ทำการตั้งนักเรียนทั้ง 5 คนเป็นทั้งประธานนักเรียน และประธานคณะสีนั้น เราว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่าเด็กจะได้ทำงานของทั้ง 2 ส่วน ในส่วนของการเป็นประธานนักเรียนเราได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของนักเรียนในการทำกิจกรรม และในส่วนของการเป็นประธานคณะสีทำให้เราเริ่มเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักการวางแผนการทำงาน การดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ความสำคัญของทีมงาน

โชคดีที่เรามีเพื่อนที่ดี ทุกคนให้ความร่วมมือและเป็นกำลังใจให้กันตลอด มันทำให้เรารู้ว่าผู้นำที่โชคดีที่สุดคือผู้นำที่มีทีมงานที่สามัคคีรักใคร่กัน และพร้อมจะเสียสละให้กันเสมอ เพราะจนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของการเป็นนักเรียน กลุ่มเรายังเป็นนักเรียนกลุ่มเดียวที่มาช่วยอาจารย์วาดและลงสีฉากหลังเวทีสำหรับงานเลี้ยงอำลา ในขณะที่คนอื่นๆไปอ่านหนังสือเตรียมสอบเอนทรานส์ อ้อ...ห้องเรามีนักเรียนที่เลือกเรียนวิชาเลือกอยู่ 2 กลุ่ม คือดนตรีไทย และศิลปะ(กลุ่มที่ช่วยทำฉาก) กลุ่มที่มาช่วยคือกลุ่มศิลปะ แต่พวกเรา(ที่เรียนดนตรไทย) ก็มาเพราะแม้ว่าทำไม่ได้ เราก็ช่วยกันผสมสี ลงสีบ้าง สุดท้ายงานก็เสร็จก่อนกำหนดเพราะทีมหนุนเยอะมาก เมื่อถึงวันงานเราภูมิใจกันมากที่งานฝีมือพวกเราขึ้นไปอยู่บนเวทีใหญ่เป็นฉากหลังให้กับนักเรียน ม.6 ทุกคน

เพื่อนย่อมไม่ทิ้งเพื่อนนั้นคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากเพื่อนที่เรียนร่วมห้องกันมา 3 ปี แม้ถึงวันนี้เราจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่เราก็รู้สึกอยากจะบอกทุกๆคนว่า ขอบใจสำหรับความช่วยเหลือ และสิ่งที่เราทำร่วมกัน

และนี่ก็คือประสบการณ์ และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมในช่วงชีวิตของการเป็นนักเรียน แม้เราจะไม่เคยเดินขึ้นไปบนเวทีเพื่อรับประกาศนียบัตรที่แสดงว่าเป็นนักเรียนที่เรียนได้คะแนนสูงสุดในแต่ละวิชา หรือทำชื่อเสียงให้โรงเรียนในด้านต่างๆ  แต่ในวันสุดท้ายเราก็ได้เดินขึ้นไปบนเวทีเพื่อรับประกาศนียบัตรที่แสดงว่าเราเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่เสียสละให้กับการทำกิจกรรมของโรงเรียน โดยการดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนของคณะสีสัตตบุษย์

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรม#ผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 94745เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
น้องสุดที่รักอีกแว้ววว
แอบเสียดายที่ตอนม.ปลายไม่ได้ทำกิจกรรมอย่างเจ๊
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่หายไปช่วงม.ปลาย ผมก็ได้ใช้เวลา 4 ปีในการหาสิ่งเหล่านั้นในช่วงมหาลัย (แลกกลับเกรดเละ ๆ แฮ่ ๆ T_T)  เจ๊เป็นเจ๊ขาใหญ่จริง ๆ (หมายความว่ายิ่งใหญ่ ไม่ใช่ ขา ใหญ่  นะ)
จะบอกว่าผมก็คนหนึ่งครับที่ทำอะไรหลายอย่างสมัยเรียนมหาลัย (เคยเป็นนักร้องคอรัสเสียง base ด้วยนะ) แต่เชื่อไหมครับ ผมไม่เคยคิดว่านั้นคือการเสียสละอันยิ่งใหญ่เลย ก็แค่อยากทำอะไรที่เราคิดว่าสนุก แล้วไม่เดือดร้อนใคร
เป็นไปได้ครับว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในอีกมุมมองกวนๆ ของผม ออกมาว่า ถึงเราไม่ทำก็มีคนอื่นทำ เราก็แค่มนุษยชาติคนหนึ่งบนโลกนี้ เชื่อไหมครับว่า มี CEO ผู้ยิ่งใหญ่ในหลายบริษัทยักษ์ใหญ่คิดว่าตนกำลังทำงานเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท บริษัทไม่อาจขาดเค้าได้ stop! จุดนี้เองครับที่เปรียบเสมือนก้อนหินก้อนนั้นที่เค้าคนนั้นถือไว้
อยากให้คุณ nattha ลองมองดูว่า เราทำอะไรแล้วสนุก ได้เพื่อน ก็ทำไปเถอะ อย่ายึดติดครับพี่น้อง 555

ตอบคุณ TheInk คะ

ในส่วนตัวแล้วไม่ได้คิดว่าตัวเองเสียสละอะไรเท่าที่ในกระดาษแผ่นนั้นบอกหรอกคะ เพราะว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้นนะ ทำเพราะอยากทำ และเลือกที่จะทำ แต่ในที่สุดเมื่อทำงานเสร็จแล้วมีคนเอากระดาษแผ่นหนึ่งมาให้ แล้วบอกว่าขอขอบใจนะที่คุณเสียสละทำในสิ่งเหล่านั้นก็ดีใจ เพราะตอนที่ทำก็ไม่ได้คิดว่าเราจะทำเพื่อได้สิ่งเหล่านี้กลับมา ทำเพราะอยากทำ ทำเพราะสนุก  ทำเพราะคิดว่าโอกาสเหล่านี้คงไม่ผ่านเข้ามาหาเราบ่อยๆ

และเนื่องจากผ่านการทำกิจกรรมมาเยอะ (ถ้ามีเวลาเชิญอ่านภาค 3 ต่อนะคะ) จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และอีกเหมือนกันที่ทุกภาระงานที่ผ่านเข้ามาทำให้ได้ดำรงตำแหน่งในลักษณะของการเป็นคนนำกลายๆ สิ่งนี้มันก็กลายเป็นดาบสองคมให้กับตัวเอง คมที่มีประโยชน์คือเราได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้นำ ทำให้รู้ว่าศิลปะการเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เมื่อมีคมที่มีประโยชน์ก็ย่อมทีโทษเช่นกัน ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน และขาดสติ การเป็นผู้นำมันหลอมให้เราเป็นศูนย์กลางของรับรู้ข้อมูลตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ชินกับการเป็นศูนย์กลางนั้น จนถึงวันหนึ่งความเคยชินนี้มันก็ย้อนกลับมาหาอย่างแรงจนตั้งรับไม่ทัน เพราะรู้ไม่เท่าทัน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนก็เกือบถึงจุดแตกหัก ถ้าไม่มีคนให้สติ ว่าทำมั้ยถึงต้องคิดว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เท่านั้นเองที่ทำให้เราได้คิดว่าจริงด้วยว่าเราก็ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นหรอก เห็นมั้ยไม่มีเราคนอื่นก็ทำได้ และนี่ก็คือประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้การทำกิจกรรมในวัยเรียน

ก้อนหินแต่ละก้อน มันก็มีความต่างกัน ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่เราจะต้องเลือกวางบางก้อน ในขณะที่บางก้อนเราก็จำเป็นต้องแบกไว้ เพื่อถ่วงดุลชีวิตตัวเอง บางครั้งจุดยืนของคนเราก็อาจจะกลายเป็นภาพลวงตาให้เห็นเป็นก้อนหิน เพราะรู้สึกว่ามันหนักเหมือนกัน ซึ่งเมื่อเราตัดสินใจวางก้อนหินนั้นลง กับเป็นว่าเราได้ทิ้งจุดยืนของตัวเองไปแล้ว เมื่อนั้นชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป??? คนที่สามารถวางก้อนหินทุกก้อนได้เป็นคนที่โชคดี แต่ถ้าเค้าวางแล้วกระทบคนอื่นแต่เค้าเลือกที่จะไม่สนใจเพียงให้ชีวิตตัวเองเบาสบายขึ้นนั้นหละ เป็นสิ่งที่เราควรทำหรือมั้ย??? ขอคำตอบเพื่อความมั่นใจ เพราะเราก็อยากจะวางมันเต็มทนแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท