ลงพื้นที่กับสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ


ขอเพียงแต่ให้ทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริงและมองเป้าหมายร่วมกันได้อย่างจริงใจ เราก็น่าจะสามารถนำประสบการณ์ที่แตกต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างเป็นพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้

หลายคนสงสัยว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือใคร ทำหน้าที่อะไร  เราเองก็เพิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อได้มีโอกาสนำสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯลงเยี่ยมพื้นที่ภาคใต้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านสมาชิก

สภาที่ปรึกษาฯเป็นองค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2540  ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาล สิ่งสำคัญที่สุดที่แตกต่าง คือ ความคาดหวังว่า  สภาที่ปรึกษาฯจะให้คำปรึกษาแก่รัฐโดยได้ข้อมูลจากภาคประชาชนมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาพัฒน์ฯ 

สภาที่ปรึกษาฯจึงมีทีมวิชาการ  คำถามอยู่ที่ว่า  ทีมวิชาการทำงานอย่างไรจึงจะประมวลข้อมูลจากภาคประชาชนได้ตามเจตนารมย์  เท่าที่เห็น  ทีมวิชาการยังทำงานผ่านนักวิชาการทั้งจากสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาอยู่มาก

การนำทีมสภาที่ปรึกษาฯลงพบชาวบ้านโดยตรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาจึงน่าจะทำให้เกิดความแตกต่างจากวิธีการเดิมๆ

เราให้ข้อมูลแก่ท่านว่า  อยากให้ท่านได้รับทราบวิธีคิดของชาวบ้านมากกว่าเห็นแค่รูปแบบเหมือนการศึกษาดูงานทั่วไป ที่มักจะแค่ดูว่าชาวบ้านทำอะไร  แต่ไม่ค่อยรู้ว่าชาวบ้านคิดอะไร

สมาชิกสภาที่ปรึกษาสองท่านที่ร่วมทีมกับเรา มีความตั้งใจที่ดียิ่งต่อการแก้ปัญหาชาวบ้าน 

ท่านอาจารย์สมพร เทพสิทธา มีประสบการณ์จากภาครัฐเพราะท่านเป็นอธิบดีหลายกรมและดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ก่อนท่านเกษียณอายุ   ปัจจุบัน ด้วยวัย 81 ปี สุขภาพท่านไม่ดีนัก  แต่ท่านมีจิตใจและตั้งใจทำงานเพื่อชาวบ้านอย่างแน่วแน่   ท่านรับฟัง จดบันทึกสิ่งที่คุยกับชาวบ้านด้วยความสนใจยิ่ง   ในหลายๆประเด็นท่านบอกว่า จะนำไปผลักดันต่อ  เช่นเรื่องคนพิการ (ประสบการณ์จากคีรีวง)  เรื่องป่าสาคู (ประสบการณ์จากลุ่มน้ำปะเหลียน)  ท่านสนใจเป็นพิเศษ ต่อกรณีที่จะให้เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านตลอดชีพ  หรือ กรณีสภาชุมชน  การลงพื้นที่ครั้งนี้ ท่านได้พบทั้งชาวบ้าน ตัวแทนองค์กรชุมชน และท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  จึงทำให้ท่านเห็นแนวทางบางอย่างและดูท่านจะพอใจกับสิ่งที่ท่านได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น

คุณวรพงษ์  สมาชิกสภาที่ปรึกษาอีกท่านหนึ่ง  ท่านจบรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานภาคเอกชน   ท่านสามารถเห็นประเด็นต่างๆและคิดต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว   ด้วยประสบการณ์จริงจากการทำงานในภาคธุรกิจ ท่านจึงให้ข้อเสนอแนะแก่ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้อย่างน่าสนใจ   และด้วยประสบการณ์ภาคการเมืองที่เต็มไปด้วย "เกม"  ทำให้ท่านให้ข้อเสนอแนะเรื่องการประสานการทำงานของ อบต. ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำกลุ่ม  อย่างน่าสนใจอีกเช่นกัน  ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากนักวิชาการผู้อ่อนด้อยประสบการณ์จริง

เราได้คิดว่า  ขอเพียงแต่ให้ทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริงและมองเป้าหมายร่วมกันได้อย่างจริงใจ    เราก็น่าจะสามารถนำประสบการณ์ที่แตกต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างเป็นพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้

ได้แต่หวังว่า สิ่งที่ท่านสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯได้พบเห็นในหลายๆพื้นที่ทั่วประเทศจะถูกนำไปประมวล  และแปลงไปสู่ข้อเสนอที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

  

 

คำสำคัญ (Tags): #สภาที่ปรึกษา
หมายเลขบันทึก: 94553เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2007 17:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยครับว่า ต้องมีการลงพื้นที่ และต้องเป็นการลงพื้นที่ไปสัมผัสกับวิถีความเป็นอยู่และแนวความคิดของชาวบ้านในถ้องถิ่นนั้นจริงๆ เพื่อให้เข้าถึงปัญหาได้อย่างตรงประเด็น  

เพราะบางที่สิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาสู่ในการประชุมนั้นอาจจะเป็นปัญหา แต่อาจไม่ใช่ปัญหาจริงๆ ก็เป็นได้ครับ

  • ขอภาวนาด้วยครับท่านอาจารย์ครับ
  • แต่นั่นแหละครับ คำแนะนำ ไม่ใช่ประกาศิตเลยครับ เหมือนกับสภาคณาจารย์ ได้แต่แนะนำ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิ์ในการจัดการ :-) เพียงแนะนำก็ยังดี ดีกว่าไม่มีอะไรไว้สะกิดเลย :-)

คุณ join to know และอาจารย์เอก

ขอบคุณสำหรับความเห็นสนับสนุนนะคะ  แต่ปัญหาคงเป็นอย่างอาจารย์เอกว่า   คือ ข้อเสนอก็อย่างหนึ่ง แต่ผู้ทำจะทำหรือไม่

ทำให้ได้คิดว่า  ข้อเสนอย่อมต้องการการติดตามและการหนุนเสริมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

สภาคณาจารย์แนะนำไป แต่พวกอาจารย์เรื่อยๆเฉื่อยๆแล้วแต่ผู้บริหาร ..ก็เสร็จ

สภาที่ปรึกษาแนะนำไป  แต่ภาคประชาชนไม่กระตือรือล้นที่จะติดตามการทำงานของรัฐ  ก็เสร็จอีกเหมือนกัน

สรุปว่าต้องครบกระบวนค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท