การบริหารการเปลี่ยนแปลง (2)


Change is always with us.

ความสำเร็จของการบริหารการเปลี่ยนแปลง  คือ  การหาคำตอบว่า “อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ?”  ถ้าตั้งโจทย์ผิด  คำตอบก็ผิด  คำตอบผิด  การบริหารก็ผิดด้วย  ผมมีตัวอย่าง  เมื่อวานนี้  ผมสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกบริหารการศึกษา  นิสิตได้ระบุสาเหตุประการหนึ่งของการที่การบริหารแบบสมดุล (Balanced Scorecard) โรงเรียนในฝัน  ไม่บรรลุวัตถุประสงค์  คือ “การย้ายผู้บริหาร”  ทำให้การบริหารไม่ต่อเนื่อง  ผมถามย้ำว่านั่นเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือ ?  ถ้าเป็นสาเหตุจริง  ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือ  กระทรวงศึกษาธิการต้องไม่ย้ายผู้บริหารโรงเรียนในฝัน  ใช่หรือไม่ ?  นิสิตชักลังเล  เมื่อผมซักต่อจึงได้คำตอบว่า  ผู้บริหารที่ไม่มีความรู้  และ/หรือไม่ได้เข้ารับการอบรมการบริหารแบบสมดุลต่างหาก  ที่ทำให้การบริหารไม่บรรลุเป้าหมาย  เนื่องจากเมื่อไม่มีความรู้  ก็ไม่สามารถปฏิบัติได้  ดังนั้นในการบริหารโดยเฉพาะการบริหารการเปลี่ยนแปลงต้องไม่ตั้งโจทย์ผิด

อะไรคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลง
      ในกระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization)  และสภาวะธุรกิจไร้พรมแดน  เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นพร้อมกัน 3 ด้าน  คือ
      1.  ด้านเทคโนโลยี (Technology)
      2.  ด้านเศรษฐกิจ (Economics)
      3.  ด้านการเมือง (Polities)
      ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านข้างต้น ส่งผลต่อ
      -  สภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร  ได้แก่  สังคม  ตลาดแรงงาน  การแข่งขัน  ฯลฯ
      -  สภาพแวดล้อมภายในองค์กร  ได้แก่  ทรัพยากรการบริหาร (คน  เงิน  วัสดุ  และการจัดการ)  ปรัชญา  โครงสร้างองค์กร  ฯลฯ

ดังนั้นทุกคน  ทุกองค์กร  จึงจำเป็นต้องปรับตัวเนื่องจาก  Change is always with us.  การปรับตัวดังกล่าวคือ  การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management)

ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง  จำเป็นต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีความสามารถ  นอกจากจะต้องมีสมรรถนะ (Competency)  ที่สะท้อนถึงความรู้ (Knowledge)  ทักษะ (Skills)  ทัศนคติ (Attitude)  ความเชื่อ (Belief)  และอุปนิสัย(Trait) ของผู้นำแล้ว  สมรรถนะดังกล่าวต้องสามารถสนองตอบต่องานขององค์กรได้  คือ มี Competency ดังต่อไปนี้
      1.  Core Competency  หมายถึง  สมรรถนะที่จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ได้
      2.  Job Competency  หมายถึง  สมรรถนะที่จะสามารถสร้างผลงานในการปฏิบัติงานได้สูงกว่ามาตรฐาน
      3.  Personal Competency  หมายถึง  สมรรถนะที่สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้โดดเด่นกว่าคนทั่วไป

ก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์  เห็นว่า  อย่างน้อยผู้นำต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
      1.  มีความรับผิดชอบ  ไม่ใช่รับแต่ชอบ  ไม่รับผิด  กล้าคิด  กล้าทำ  กล้าริเริ่มในสิ่งที่ถูกต้อง
      2.  มีความเสียสละ  ผู้นำที่สุขสบายไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง
      3.  มีความรักลูกน้อง  มีความจริงใจ  ไม่หลอกใช้คน  พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขในทุกสถานการณ์
      4.  มีคุณธรรมเป็นเข็มทิศชี้นำ  ผู้นำที่ดีต้องสามารถประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับองค์กร  และองค์กรกับสังคมให้สมดุล

นอกจากมีสมรรถนะและมีคุณสมบัติผู้นำแล้ว  ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง  ผู้นำต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญเพิ่มเติม  คือ
      1.  มีความยืดหยุ่น  ต้องรู้จักผ่อนผันตามสถานการณ์  สามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว  และมีประสิทธิภาพ
      2.  มีทักษะการฟัง  ต้องเข้าใจถึงความต้องการหรือแรงกระตุ้นต่างๆ ของสมาชิก  เพื่อที่จะได้หาวิธีเจรจาต่อรองหรือแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
      3.  มีทักษะในการเจรจาต่อรอง  ต้องต่อรองให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อองค์กร  ทั้งนี้ผู้ต่อต้านต้องได้สิ่งที่ต้องการในระดับที่เขาพอใจด้วย
      4.  มีทักษะในการประเมินความเสี่ยง  ต้องคำนวณก่อนการตัดสินใจดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ  โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ  เช่น  โอกาสสำเร็จ  โอกาสล้มเหลว  ผลตอบแทน  เป็นต้น
      5.  มีวิสัยทัศน์  ต้องมีเป้าหมายแน่ชัดว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ?  นำไปสู่อะไร ?  หรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในอนาคต  ไม่ใช่ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีจุดหมาย
      6.  มีทัศนวิสัย  ต้องมองข้างๆ ทาง  สังเกตดูรอบๆ ด้าน  ว่ามีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงอื่นใดที่จะส่งผลกระทบ  หรือขวางกั้นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ

การบริหารไม่ยาก  แต่เครียดมากๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 92148เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 10:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลังจากอ่านบทความดูแล้ว พบว่า ที่สภาพัฒน์ มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงน้อยเหลือเกิน ที่พอจะฝากความหวังไว้ได้บ้าง คือ ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ

การบริหารความเสี่ยง อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบทีทำให้การบริหารจัดการไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องทราบถึงจุดเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือผลการดำเนินงานด้วย.....ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท