เยาวชนจิตอาสา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น


         ในการเข้าร่วมงาน ตลาดนัดความรู้ "พลังแห่งปัญญา...สู่ชุมชนเป็นสุข" ที่จัดโดย สรส. ระหว่างวันที่ 21 -23 เม.ย.50   ผมสังเกตว่ามีหลาย อบต. พยายามดึงเยาวชนเข้าร่วมขบวนการเรียนรู้ในชุมชนด้วย
    - อ.เสียว กิ่ง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ  จัดเยาวชน 40 คน  ค้นหาความดี คนดี ในพื้นที่
    - ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์  จัดเยาวชน 30 คน  ค้นหาความดี  คนดี  ในพื้นที่ เช่นเดียวกัน


         2 โครงการนี้ หนุนโดย วจส. & ศูนย์คุณธรรม

    - อบต.หัวไผ่  อ.เมือง จ.สิงห์บุรี  นำโดย นายก อบต. ทวีป จูมั่น  จัดงบประมาณ 1 แสนบาท สนับสนุนกิจกรรม "เยาวชนหัวไผ่ใส่ใจภูมิปัญญา"
    - หมู่บ้านปางจำปี ม.7 ต.ห้วยแก้ว กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่  ซึ่งมี 87 ครัวเรือน  ประชากร 279 คน  จัดระบบพัฒนาชุมชนเป็น "ประเทศปางจำปี"  มี "กระทรวงเยาวชน"
    - อบต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี  นายก อบต. ประทิว รัศมี  จัดระบบการพัฒนา "ประเทศวัดดาว"  โดยมี "รัฐมนตรี" หลากหลาย "กระทรวง"    รวมทั้ง "กระทรวงเด็ก เยาวชน และครอบครัว"
    - เป็นต้น

 


         ทำให้ผมกลับคิดว่า กิจกรรมเยาชนที่ทำ ๆ กันอยู่มักเป็นกิจกรรมที่คิดขึ้นเพื่อให้เยาวชนมีกิจกรรมในกลุ่มเยาวชนด้วยกันเอง   หลาย ๆ โครงการมีลักษณะแปลกแยกจากชีวิตจริงของชุมชน   ดำเนินการตามคำชักชวนของคนนอกชุมชนหรือดำเนินตาม "โครงการ" ที่มาลง

         เป็นไปได้ไหม  ที่จะมีการส่งเสริมให้เยาวชนรวมตัวกันทำงานอาสาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง   เข้าไปอาสาทำงานตามปกติของชุมชน เช่น
- ช่วยงานของสถานีอนามัย  โรงพยาบาล
- ช่วยงานของโรงเรียน
- ช่วยงานด้านการดูแลความสวยงาม  เป็นระเบียบเรียบร้อยของภูมิประเทศในพื้นที่ของชุมชน   เช่น การปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นสวยงาม  การตกแต่ง  บำรุงต้นไม้  การตัดหญ้าและวัชพืช
- ช่วยงานด้านการจัดงานเทศกาล
- ช่วยงานของวัด
- เป็นต้น

         โดยจัดกิจกรรมบันทึกประสบการณ์หรือบันทึกความรู้   นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   อบต.สนับสนุน "คุณอำนวย"  และให้รางวัลแก่กลุ่มเยาวชนที่เอาจริงเอาจัง   โดยให้ตำแหน่ง "ผู้นำเยาวชน" ไปดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่อื่นหรือจังหวัดอื่น

         เยาวชนจิตอาสา  ทำงานอาสาสมัคร  เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองทั้งด้านทักษะ (ความรู้) เชิงเทคนิค   และทักษะด้านจิตใจ  พัฒนาจิตใจที่มุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวม  เกิด "สำนึกรักบ้านเกิด"

         ผมเดาว่า ถ้ามีกิจกรรมพัฒนาเยาวชนจิตอาสาแบบนี้ขึ้นในพื้นที่ใด   ชุมชนนั้นจะเกิดความสงบสุขในไม่ช้า   ความสุขของพ่อแม่ในเบื้องต้นคือ  มั่นใจว่าลูกในวัยรุ่นของตนจะไม่เสียคน

         และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จะตามไปยกย่องให้รางวัลแก่กลุ่มเยาวชนจิตอาสาเหล่านี้ด้วย

วิจารณ์  พานิช
 22 เม.ย.50

หมายเลขบันทึก: 92146เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าชื่นชมกับกิจกรรมที่ดึงพลังเยาวชนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมครับ นับเป็นการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ของเยาวชนได้เป็นอย่างดี

ด้วยความเคารพรัก

สวัสดีค่ะ อาจารย์

              ดิฉันเคยประสานงานให้น้องนักศึกษาจาก มอ. และบัณฑิตอาสา มอ.เข้าไปจัดค่ายอบรมจริยธรรมที่ชุมชนแห่งหนึ่งค่ะ ส่วนใหญ่เด็กอยู่ในวัยระหว่าง 7-13 ปี เมื่อค่ายเสร็จก็เข้าไปสอบถามผลการเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มผู้ปกครอง ซึ่งมีท่านหนึ่งให้คำแนะนำว่า เราต้องสอดแทรกในเรื่องยาเสพติด และโทษให้มากขึ้น โดยเขาให้เหตุผลว่าตอนนี้สิ่งเหล่านี้กำลังใกล้ตัวเขามาทุกที่ เนื่องจากลูกอยู่ในวัยรุ่นแล้ว หากเด็กเล็ก(ไม่เกิน 12 ปี) ผู้ปกครองยังคุมไหว แต่เมื่อเริ่มวัยรุ่นแล้ว การฝึกจริยธรรมมีความสำคัญและจำเป็น  พ่อแม่ เริ่มเอาไม่อยู่ สิ่งกระตุ้น ยั่วยุ กระแสสังคม มากมายเต็มที่ ลูกเชื่อเพื่อนหรือคนภายนอกมากขึ้น หากเด็กว่างก็พึ่งร้านอินเตอร์เน็ต  ซิ่งมอเตอร์ไซด์ มั่วสุมยาเสพติด หากมีกิจกรรมดีๆ ทางออกในทางสร้างสรรค์ซึ่งทำได้ในชุมชนตัวเองเกิดประโยช์ต่อคนในพื้นที่ก็จะเยี่ยมไปเลย แถมการทำกิจกรรมยังอยู่ในสายตาผู้ปกครองว่าไปทำอะไรที่ไหน จริงหรือไม่ ...

         อีกอย่างหนึ่งอยากเรียนถามอาจารย์ว่า กลุ่มปฏิบัติของนักกิจกรรมหรือเยาวชนทั้งหลาย ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทางการเมืองซึ่งต้องการผลงานเป็นคะแนนนิยมต่อมหาชน.........

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท