บันทึก การประชุมภาคีการจัดการความรู้ภาคราชการ ครั้งที่ 1 (ตอนที่ 1 เรือนจำพิษณุโลก)


      ตามที่ อ. วิจารณ์  พานิช  เคยเขียน AAR (Link อ่าน) การประชุมภาคีราชการจัดการความรู้ภาคราชการ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 48  เวลา 9.00 - 13.00 น. ที่ สคส.  ไปบ้างแล้ว   มีหน่วยงานราชการมาเข้าร่วมหลายหน่วยงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำ KM ของแต่ละหน่วยงาน     วันนี้ขอนำเนื้อหาที่ได้บันทึกไว้ในการประชุมมาให้อ่านกันค่ะ (แบ่งเป็นตอนๆ)

วาระที่ 1. เรื่องเพื่อทราบ
วาระ 1.1  รูปแบบและจุดประสงค์การจัดการประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ 

        ศ. นพ. วิจารณ์    พานิช   ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) นำเสนอเป้าประสงค์ของการทำ KM ในภาคราชการ ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ผลในระยะสั้น  ได้แก่  การทำ KM เพื่อตอบสนองการประเมินผลจาก ก.พ.ร.  และทำ KM ตามบทบาทหน้าที่      2. ผลในระยะยาว  คือ  การทำ KM เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมของราชการ สู่วัฒนธรรมแบบ I AM READY (พร้อมเสมอ)  เป็นการทำงานอย่างมีคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้, มีการใช้ความรู้เป็นฐานในการทำงาน, มีการสร้างความรู้   และบุคคล (บุคลากร) เป็นคนเรียนรู้  พัฒนา และมีความสุข
                ส่วนการจัดประชุมภาคีจัดการความรู้ภาคราชการที่จัดขึ้นนี้ รูปแบบการประชุมจะเป็นแบบไม่เป็นทางการ ไม่บังคับ  ถ้าหน่วยงานใดสนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมได้โดยแต่ละหน่วยจะออกค่าใช้จ่ายในการมาประชุมกันเอง  และอาจจะมีการเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัด     โดยเป้าหมายของการประชุมฯ  คือ  1. ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีทำ KM ในหน่วยราชการ (เทคนิคการทำ KM)  ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกเบื้องต้น    2. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรเรียนรู้ในภาคราชการ  และ   3. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมเรียนรู้  เป็นเป้าหมายสูงสุด

วาระที่ 2   เรื่องเพื่อพิจารณา
วาระ 2.1  การจัดการความรู้ เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก

                คุณธวัช    พันมา  นักทัณฑวิทยา 5  ตัวแทนจากเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก  ทำงานศูนย์ข้อมูลเรือนจำ  นำเสนอการเริ่มทำ KM ของเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานเล็กในส่วนภูมิภาคที่การบริหารขึ้นอยู่กับจังหวัด   โดยเริ่มจากการได้เข้าร่วมอบรม KM ที่จังหวัดและ ก.พ.ร. จัดให้    หลังจากเข้าร่วมอบรมและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีจึงติดต่อเชิญวิทยากร  อ.จิรัชฌา   วิเชียรปัญญา  มาจัด Workshop ให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน  ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวทำการบ้าน เตรียมข้อมูล (แผนยุทธศาสตร์หน่ยงาน, ข้อมูลหน่วยงาน, ฯลฯ) อย่างดี   และได้เชิญตัวแทนเข้าร่วมเพิ่มจาก 16 เรือนจำในเขต 6,  สำนักควบคุมความประพฤติ และ สำนักบังคับคดีของจังหวัดพิษณุโลก        การเข้าร่วม Workshop ครั้งนี้บรรยากาศดีมาก และทำให้เกิดความประทับใจ  มีพันธสัญญาต่อกันที่จะกลับไปทำ KM ในหน่วยงาน   เมื่อกลับมาที่หน่วยงานเรือนจำจึงได้พยายามผลักดันโดย

                1. จัดตั้งทีมงานบริหารความรู้เรือนจำ    มีการออกคำสั่งตั้งทีมถึง 2 ครั้ง   คือ  ครั้งแรก คุณธวัช    พันมา  ได้เสนอชื่อคนกลุ่มเล็กๆ โดยไม่ได้ดูจากตำแหน่ง หรือ ลำดับซี    เมื่อได้ทีมชุดแรกมาแล้วได้ลองมาปรึกษากันดู ก็เห็นว่าทีมยังไม่ครอบคลุม  จึงเสนอชื่อใหม่ตั้งทีมใหม่ที่มากขึ้นครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

                2. จัดทำแผน KM ของเรือนจำ  โดยดูจากแผนใหญ่ของกรมซึ่งมีอยู่แล้ว  และนำมาปรับเปลี่ยนนิดหน่อยให้ล้อคล้ายๆ กันกับแผนกรม ซึ่งก็ทำไม่ยาก

                3. เริ่มดำเนินการทำ KM    ทีมก็มีความสับสนกันมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร   บางเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของเรือนจำก็หาข้อยุติไม่ได้ เพราะไม่แม่นเรื่องความรู้เบื้องต้น/ ทฤษฎีพื้นฐาน/ ระเบียบ    จึงคิดว่าเราน่าจะมีข้อมูลเอกสารเป็นเบื้องต้นเสียก่อน  ดังนั้น คุณธวัช    พันมา  ในฐานะเลขากลุ่มทำงานจึงตั้งใจรวบรวมข้อมูลทฤษฎีก่อน จากเอกสาร แล้วนำมาขึ้นเว็บไซต์   ประชาสัมพันธ์ต่อในกระดานข่าวของกรมราชทัณฑ์บอกว่าเราทำเว็บซึ่งรวบรวมระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของกรม  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีว่าค้นง่าย, สะดวก  จึงเป็นกำลังใจกลับมาให้คนทำ  (http://www.correct.go.th/popphit/kmi.htm)  และตั้งเป้าเว็บไซต์ของเรือนจำต่อว่า จะให้เป็นศูนย์กลาง KM  ของกรมราชทัณฑ์ (ทำ Link ต่างๆ  เช่น สคส., KM ศิริราช, HKM)   ซึ่งเข้ามาในเว็บแล้วจะได้ความรู้ทั้ง KM และเรื่องระเบียบสั่งการหนังสือต่างๆ กลับไปด้วย 
            อีกส่วนหนึ่ง  คือ  การจัดทำเอกสารข่าวเรือนจำ     เนื่องจากการทำงานพัฒนาองค์กร  บุคลากรต้องมองเห็นภาพองค์กรเป็นภาพเดียวกัน   บุคลากรเรือนจำมีหลายฝ่าย เช่น  งานควบคุม , งานฝึกวิชาชีพ, งานการสื่อสาร, งานทัณฑปฏิบัติ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี และมักไม่ค่อยนำมาเชื่อมโยงกันในแต่ละฝ่ายเพื่อให้การทำงานเป็นไปในภาพใหญ่เดียวกัน  เช่น งานทันฑปฏิบัติไม่รู้ว่าฝ่ายฝึกอาชีพอบรมอะไรไปบ้าง หรือ ฝ่ายต่างๆ ไม่รู้ว่าฝ่ายบริหารได้งบอะไรมาบ้าง  และนโยบายตัวชี้วัดไม่ได้กระจายไปให้เจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับรู้    ดังนั้นการจัดทำเอกสารข่าวเรือนจำ จึงคิดว่าเป็นประโยชน์ในส่วนนี้  และในเอกสารข่ายทุกฉบับก็จะแทรกเรื่อง KM / ความเคลื่อนไหวด้าน KM ลงไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่รู้สึกคุ้นเคย  เมื่อถึงเวลาที่จะดำเนิน KM ต่อเรื่อยๆ ก็จะสะดวกขึ้น   ตอนนี้จัดทำจดหมายข่าวไปได้ 7 ฉบับแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน

ความเห็นที่ประชุม

          อ. จิรัชฌา   วิเชียรปัญญา  ให้ความเห็นในฐานะที่ปรึกษา KM ของเรือนจำพิษณุโลกว่า  เรือนจำพิษณุโลกนั้นเริ่มต้นทำ KM โดยเริ่มจัดการที่ Explicit Knowledge  ก่อนและเริ่มจากเรื่องที่เป็นปัญหาในการทำงานจริง  หรือส่วนที่ทำอาจเรียกว่าเป็น Information management (IM) ซึ่งเข้ากับมิติที่ 4 ของ ก.พ.ร. ได้พอดี  แต่ ก.พ.ร. อาจจะเน้นหนักที่ IT       และถ้าคิดต่อ KM เรือนจำพิษณุโลกนั้นมี 2 ส่วนให้จัดการ คือ KM ที่ทำของเจ้าหน้าที่หน่วยงานในเรือนจำ   และ  KM  ของกลุ่มนักโทษ (ซึ่งแต่ละคนมีความรู้ และมีความหลากหลาย) ซึ่งในส่วนหลังนี้จะทำให้นักโทษเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น  เป็นอีกทางไปเสริมพลังยุทธศาสตร์ คืนคนดี   สู่สังคม ได้ดียิ่งขึ้น ลดอัตรส่วนวงจรการกลับเข้าเรือนจำซ้ำของนักโทษให้น้อยลงได้

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9185เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2005 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I AM READY เป็นตัวย่อทั้งหมดครับ เช่น I ย่อมาจาก Integrity แต่ผมจำตัวอื่นไม่ได้   เข้าไปค้นในเว็บไซต์ของ กพร. ก็จะพบครับ   เป็นเรื่องของ อกพร. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ฯ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท