รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม
ได้กล่าวไว้ในหนังสือกรุงศรีอยุธยาตอนหนึ่งความว่า
"ความรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชนั้น
สะท้อนให้เห็นจากการสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่
ที่ปัจจุบันนี้ยังถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
องค์นั้นคือพระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย
ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบอู่ทองและสุโขทัยผสมกัน"
พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวิจารณ์ไว้ว่า
"พระพุทธรูปมงคลบพิตรนี้ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย" และนายตรี
อมาตยกุล วิจารณ์ไว้ว่า
"เท่าที่ตรวจพิจารณาโดยละเอียด พระพุทธรูปสมัยอู่ทองเจือสุโขทัย
อย่างพระมงคลบพิตรนี้
นิยมสร้างกันอยู่ยุคหนึ่งในระหว่างแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
จนถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
พระมงคลบพิตรก็น่าจะได้สร้างขึ้นระหว่างนี้
แต่ไม่ปรากฏในพงศาวดารสักแห่งเดียวว่าสร้างแต่เมื่อใด
มาปรากฏเอาในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นครั้งแรกว่า
พระมงคลบพิตรนี้ เดิมอยู่ทางฝ่ายตะวันออกนอกพระราชวัง
พระเจ้าทรงธรรม โปรดฯให้ชะลอ (เคลื่อนย้าย) มาไว้ทางฝั่งตะวันตก
ตรงที่ประดิษฐานอยู่ ณ บัดนี้ เมื่อจุลศักราช 965 (พ.ศ. 2146)
เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมขึ้นไป"
การบูรณะปฏิสังขรณ์
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 21
แห่งกรุงศรีอยุธยามีข้อความตอนหนึ่งว่า
"เมื่อจุลศักราช 965 ปีเถาะ เบญจศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ให้ชักพระมงคลบพิตรอยู่ฝ่ายตะวันออกมาไว้ฝ่ายตะวันตกแล้วให้ก่อมณฑปใส่"
พระราชพงศาวดารกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า
"เมื่อจุลศักราช 1103 (พ.ศ.2285) สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
โปรดฯให้รื้อมณฑปก่อใหม่ แปลง
เป็นมหาวิหาร 2 ปีจึงแล้วเสร็จ"