beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

สะกัดข้อคิดจาก"แดจังกึม" สู่การปรับใช้เพื่อบริหารจัดการกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง


การทำน้ำผึ้งที่ดีต้องทำด้วยใจ ปล่อยให้ผึ้งบ่มน้ำผึ้งให้สุกเต็มที่ แล้วค่อยเอาน้ำผึ้งออกจากรวง น้ำผึ้งที่ได้จะมีความเข้มข้น กลิ่นหอมหวานตามธรรมชาติ รสฃาติอร่อยถูกลิ้น

    ผมชอบพูดกับใครก็ตามที่ผมพบอยู่เสมอว่า "การทำน้ำผึ้ง ต้องทำน้ำผึ้งคุณภาพชนิดที่จะเอาไปถวายพระ"  จริงๆ แล้ว คำว่าน้ำผึ้งของผมก็หมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ผึ้งทั้งหมด ต้องทำให้ได้คุณภาพอย่างชนิดที่จะเอาไปถวายพระ คือโดยปกติการทำบุญให้ทานกับพระ เราต้องทำด้วยใจ เราต้องตั้งใจทำของดีที่สุดเพื่อถวายพระ (โดยไม่ต้องสนใจว่าพระรูปนั้นจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือเปล่า หากสงสัยก็จะไม่ได้ทำบุญ แต่หลังจากเราถวายพระไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของพระต่อไป หากพระนั้นเกียจคร้านการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอเขาละสังขารไปแล้วก็ต้องไปใช้กรรม เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ต้องใช้แรงงาน มารับใช้มนุษย์ต่อไป เพราะว่าการฉันอาหาร หรือรับของญาติโยมไปแล้ว ไม่ประพฤติกิจที่ควรปฏิบัติของสงฆ์นั่นเอง) พอผมได้มีโอกาสเขียนวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย ผมจึงเขียนปณิธานของกลู่มผู้เลี้ยงผึ้งว่า "Good Quality, Good Governance, Good Life" หมายความว่า ถ้าเราตั้งใจทำของที่มีคุณภาพ และมีการบริหารจัดการกลุ่มที่ดีและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายแล้ว เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

   ภาพยนตร์/หนัง/ละคร เรื่องแดจังกึม จะมีข้อคิดดีๆ หรือคติที่แฝงอยู่ในเรื่องเสมอ เพียงแต่เราต้อง"ดูหนังดูละคร แล้วย้อนมาดูตัว" วันนี้ผมจึงสะกัดข้อคิดจาก"แดจังกึม" มาข้อหนึ่ง ถึงตรงนี้โปรดอ่าน ช่วยกันสะกัดข้อคิดจาก "แดจังกึม" ของท่านอาจารย์วิบูลย์ และอ่านข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์มาลินีด้วย

   ในเรื่อง มีอยู่ตอนหนึ่ง เป็นตอนที่เอ่ยถึงเคล็ดลับความอร่อยของการหุงข้าว หรือสูตรลับของการหุงข้าวให้อร่อย ถ้าติดตามดูก็จะรู้ว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ นี่เอง (นักวิจัยหรือนักบริหาร อย่ามองข้ามเรื่องง่ายๆนะครับ เรื่องหญ้าปากคอกนี่อย่ามองข้ามทีเดียว)  ผมลองเดาจากเรื่องนะครับเพราะเรื่องตอนนี้ยังไม่จบ  สูตรลับหรือเคล็ดลับก็มี 1. เรื่องพันธุ์ข้าว (ถ้าเป็นของไทยต้องเป็นข้าวหอมมะลิ...นาปี) 2. ต้องตากข้าวให้แห้ง 4 แดด (อันนี้ก็เป็นฤดูกาลปลุกข้าว ของไทยก็เป็นปลูกผ่านหน้าฝนมาเกี่ยวหน้าหนาว แล้วตากข้าวให้แห้งพอดี) 3. การหุงด้วยไฟอ่อน ๆ (ของไทยก็หุงด้วยฟืนหรือเตาถ่าน ไม่ใช้เตาแก๊ส) 4. ทุกขั้นตอนต้องทำด้วยใจ ใจเย็นๆ ไม่ใจร้อน (รวมทั้งไม่เอาความโลภเข้าไปจับด้วย...อยากได้ของมากๆ +ใจร้อน)

    คราวนี้ผมก็จะพยายามเอาความรู้นี้มาปรับใช้กับเรื่องทำน้ำผึ้ง หรือผลิตน้ำผึ้ง ผู้เลี้ยงผึ้งมักจะใจร้อนอยากได้น้ำผึ้งมากๆ เวลาพาผึ้งไปเก็บน้ำผึ้ง ยกตัวอย่างในกรณีเก็บน้ำผึ้งจากดอกลำใย บางพวก 3 วันเอาน้ำผึ้งออก บางพวก 5, 6, 7 วันเอาน้ำผึ้งออก น้ำผึ้งที่ได้ยังไม่ค่อยสุกดี ผึ้งยังไม่ปิดฝารวง เราก็รีบเอาออก ไม่ปล่อยให้ผึ้งบ่มจนสุกก่อน (ใจร้อน อยากได้มากๆ)  แล้วเราก็เอาน้ำผึ้งที่ได้ไป"อบ" หรือ "ไล่ความชื้น" แล้วก็เอามาขายให้ผู้บริโภค (ในราคาถูกๆ หรือหลอกขายราคาแพง แต่นี่ยังดีกว่า พวกทำน้ำผึ้งปลอมมาหลอกขายครับ)  สิ่งที่ทำแบบนี้ไม่ได้ทำด้วยใจ แต่ทำด้วยความโลภอยากได้น้ำผึ้งมากๆ เพื่อที่ว่าขายมากจะได้กำไรมาก (อยากได้เงินมากๆ)

    การทำน้ำผึ้งที่ดีต้องทำด้วยใจ ปล่อยให้ผึ้งบ่มน้ำผึ้งให้สุกเต็มที่ แล้วค่อยเอาน้ำผึ้งออกจากรวง น้ำผึ้งที่ได้จะมีความเข้มข้น กลิ่นหอมหวานตามธรรมชาติ รสฃาติอร่อยถูกลิ้น (ระหว่างกระบวนการผลิต เน้นความสะอาดทุกขั้นตอน) เท่านี้เราก็ได้น้ำผึ้งที่ดีมาใส่ขวดแล้ว (แต่ตอนเอาใส่ขวดนี่นึกว่าง่ายๆ  แค่เอาน้ำผึ้งใส่ฃวดมันจะยากอะไร แต่มันยังมีเคล็ดลับอยู่อีกว่า เอาน้ำผึ้งใส่ขวดอย่างไรถึงจะไม่มีฟอง...ครับ)

    สิ่งเหล่านี้ ผมจะต้องนำไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งของผม เพื่อปรับแนวความคิดในการทำน้ำผึ้ง แล้วขออาสาสมัคร ผู้เลี้ยงผึ้งที่ผลิตน้ำผึ้งคุณภาพดีส่งให้กับกลุ่มฯ ต่อไป ตามคติของผมที่ว่า "ของดี ต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ" ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 9057เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2005 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

you thing very good. Deejungkum is feature file the best of 2005-2006 year for people.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท