ข้อตกลงพ่วง (Tying arrangement): พฤติกรรมต้องห้ามและน่ารังเกียจ ? (2)


ถึงแม้การทำธุรกรรมโดยพ่วงสินค้าเข้าด้วยกันจะเป็นพฤติกรรมที่ทำลายความเสรีทางการค้า ก่อให้เกิดการผูกขาด และทำลายเศรษฐกิจ แต่การพ่วงสินค้าเทคโนโลยีเข้าด้วยกันนั้นอาจมีผลก่อให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี และเป็นการให้รางวัลตอบแทนผู้คิดค้นอย่างเต็มที่เพื่อสร้างเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะรวมถึงเวชภัณฑ์บางอย่าง) และเศรษฐกิจการทำธุรกรรมพ่วงอาจเป็นผลดีมากกว่าผลเสียได้เช่นกัน
หลายสิบปีที่ผ่านมา การทำข้อตกลงขายพ่วงเป็นการกระทำทางการค้าที่ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำหลักความรับผิดเด็ดขาด (Per se Rule) มาใช้ หากโจทก์ในคดีสามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยเข้าตามองค์ประกอบตามกฎหมายแล้วย่อมจะถือว่าจำเลยมีความผิดทันทีโดยมิอาจยกข้ออ้างอื่นใดมาแก้ต่างได้ เช่น คดี International Salt[i] เป็นต้น แต่ในช่วงระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา หลักที่ใช้ในการตัดสินคดีข้อตกลงพ่วงในศาลของสหรัฐฯมากว่าสิบปีเริ่มมีการสั่นตลอน ศาลในสหรัฐเริ่มหันมามองผลดีทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดีการปรับมุมมองดังกล่าวยังคงจำกัดอยู่เพียงคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา (ทั้งนี้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สำคัญมากและสร้างรายได้ให้แก่กิจการในสหรัฐอย่างมหาศาลเรื่อยมา)
โดยธรรมชาติของสินค้าเทคโนโลยีนั้นต้องอาศัยการค้นคว้าและพัฒนาซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและหลังจากประดิษฐ์คิดค้นแล้วจะมีอาจมีการจดสิทธิบัตรหรือได้รับความคุ้มครองอย่างลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะให้สิทธิในการผูกขาดสินค้านั้นๆอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Rightful Monopoly) เพื่อเป็นการตอบแทน (Reward) แก่ผู้คิดค้น กฎหมายให้สิทธิในการเลือกคู่สัญญาและกำหนดเงื่อนไขต่างๆในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิได้ แต่ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อการแข่งขันทางการค้า (Anti-Competitive Effect) มากจนเกินสมควร จึงเกิดการขัดแย้งระหว่างการผูกขาดโดยชอบธรรม กับการต่อต้านการผูกขาดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ในช่วงปี 1990 มีการร้องต่อศาลถึงพฤติกรรมของโกดัก[ii] ในเรื่องการพ่วงสินค้าคือ เครื่องสำเนาภาพถ่ายและเอกสาร กับการให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษา โดยวิธีการไม่จำหน่ายอะไหล่ให้แก่บุคคลภายนอกเว้นแต่ลูกค้าที่ต้องการซ่อมเครื่องด้วยตนเอง (อะไหล่ยี่ห้ออื่นใช้กับโกดัก ไม่ได้เนื่องจากโกดักมีเทคโนโลยีเฉพาะ) โดยอ้างว่าการซ่อมของผู้ให้บริการอิสระไม่ได้มาตรฐานและจะทำให้โกดักเสียชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ให้บริการซ่อมแซมอิสระได้รับความเสียหายอย่างมาก บางรายถึงกับต้องปิดกิจการลง และสัดส่วนของโกดักในตลาดซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของโกดักเป็นธุรกรรมพ่วงจริง ซึ่งตามหลักความรับผิดเด็ดขาด Per se Rule โกดักต้องผิดทันที แต่ศาลกลับนำข้อต่อสู้ของโกดักมาพิจารณา แต่ในที่สุดก็พบว่าการให้บริการของผู้ให้บริการอิสระมิได้มีมาตรฐานด้อยกว่าโกดักเลย จึงตัดสินว่าโกดักกระทำความผิดตามกฎหมาย Antitrust Law (ต่อต้านการผูกขาด) จึงเห็นได้ว่าศาลในยุคหลังเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี และปัญหาความคาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายอันจะเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่สหรัฐฯ
ต่อมาในช่วงปี 2000 แนวความคิดดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นในคดีของ Microsoft Corp.[iii] ทั้งยังเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของกฎหมายที่บังคับใช้เกี่ยวกับธุรกรรมพ่วง กล่าวคือ บริษัทไมโครซอฟท์ ได้ทำการผนวก (Integrate) บราวเซอร์ (Browser) ชื่ออินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer หรือ IE) เข้ากับระบบปฏิบัติการ (Operating System) วินโดวส์ (Windows) โดยทำการแชร์ (Share) ไลแบรรีไฟล์ (Library files) ทำให้ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ได้หากขาด IE เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไมโครซอฟท์กระทำธุรกรรมพ่วงจริง  แต่ศาลก็ยังมิได้ลงโทษไมโครซอฟท์แต่กลับพิจารณาถึงข้อต่อสู้ของไมโครซอฟท์ก่อน ไมโครซอฟท์ต่อสู้ว่าการกระทำของไมโครซอฟท์เป็นการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  เพราะระบบปฏิบัติการและบราวเซอร์จะใช้พื้นที่หน่วยความจำในคอมพิวเตอร์น้อยลง และสามารถเข้าสู่เว็บไซต์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ศาลจึงทำการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีดังกล่าวกับผลร้ายต่อการแข่งขันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นว่าข้อดีที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่าต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ในที่สุดศาลได้ยกทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า Network Effect (ผู้เขียนเรียกว่าทฤษฎีผลกระทบแบบเครือข่าย) ทฤษฎีดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่า หากระบบปฏิบัติการใดมีผู้ใช้อย่างแพร่หลายมากกว่าย่อมจะมีอำนาจมากกว่าและมากขึ้นเรื่อยๆในตลาด เพราะการสื่อสารและการทำงานที่ต้ช่อเนื่องกันจำเป็นต้องใช้ระบบที่เหมือนกัน เช่น เอกสารที่ทำใน MS Words จะไม่อาจเปิดใช้ใน Mcintosh ได้เมื่อการค้าขายและการสื่อสารกระจายไปทั้งโลกผู้คนจึงจับกลุ่มใช้ระบบเดียวกันมากขึ้น เช่น บจก.อเมริกา ใช้ระบบ MS Windows บจก.ไทยที่ต้องค้าขายด้วยก็จำต้องใช้ Windows ตามเพื่อใช้โปรแกรม Words และลูกจ้างที่นำงานกลับมาทำที่บ้านก็ต้องใช้ Words ของ MS Windows ตามไปด้วย บริษัทที่รับสินค้าจากบจก.ไทย ก็จะใช้ตาม รวมทั้งลูกจ้าง หากลูกจ้าง 2 บริษัทรู้จักกันเพื่อนๆของทั้ง 2 ก็ต้องใช้ MS Windows ตามไปด้วยอีกเรื่อยๆ ดังนี้ ไมโครซอฟท์จึงมีอำนาจในตลาดมาก เมื่อติดตั้ง MS Windows แล้วต้องมี IE บราวเซอร์ยี่ห้ออื่นเช่น Netscape Navigator จึงไม่อาจเข้าสู่ตลาดของ MS Windows ได้และตลาดอื่นก็เล็กและอาจเล็กลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้ผลิตบราวเซอร์อื่นถูกบีบอย่างไม่เป็นธรรมจนอาจต้องเลิกกิจการ เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่เกิดจากการผนวก Integrate MS Windows กับ IE จึงมีไม่คุ้มค่ากับผลเสียและความเสียหายทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น บริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ป จึงมีการทำธุรกรรมพ่วงที่ผิดกฎหมายจริง
กล่าวโดยสรุปได้ว่าถึงแม้การทำธุรกรรมโดยพ่วงสินค้าเข้าด้วยกันจะเป็นพฤติกรรมที่ทำลายความเสรีทางการค้า ก่อให้เกิดการผูกขาด และทำลายเศรษฐกิจ แต่การพ่วงสินค้าเทคโนโลยีเข้าด้วยกันนั้นอาจมีผลก่อให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี และเป็นการให้รางวัลตอบแทนผู้คิดค้นอย่างเต็มที่เพื่อสร้างเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะรวมถึงเวชภัณฑ์บางอย่าง) และเศรษฐกิจการทำธุรกรรมพ่วงอาจเป็นผลดีมากกว่าผลเสียได้เช่นกัน
อีกทั้งผู้เขียนยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาควรมุ่งหน้าไปในทางเดียวกัน คือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และสังคม การหาจุดสมดุลระหว่างทั้งสองกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด และเราควรส่งเสริมการพัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นจนสามารถบังคับใช้ได้จริง


[i] International Salt Co. v. U.S., 332 U.S. 392 (1947).

[ii] Eastman Kodak Co. v. Image Technical Services Inc., 504 U.S. 451 (1992).

[iii] U.S. v. Microsoft Corp., 98 DC Cir. 1232-1233, (2001).

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9036เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2005 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แวะมาเยี่ยมค่ะ ไม่ค่อยสันทัดเรื่องกฎหมายซักเท่าไหร่ จะพยายามค่ะ (^๐^)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท