SUCCESs นี่แหละที่ทำให้คนจำในสิ่งที่เราพูด


ผมว่าผมคงจะยังไม่ได้เขียนเรื่อง The End of Poverty ในอีกเร็ววันนี้ ถ้ายังไงเอาเรื่องที่อ่านจบไว้นานมากแล้ว มาเล่าให้ฟังดีกว่า หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Made to stick เขียนโดยพี่น้องตระกูล Heath ครับ

หนังสือเล่มนี้นั้นเป็นหนังสือที่พยายามบอกว่าทำยังไงให้ข้อความที่เราพูด หรือสื่อสารนั้น เป็นที่จดจำของคนฟัง คนอ่าน หรือคนที่รับสาร หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการถามว่าทำไมคนบางคนนั้นจดจำเรื่องบางอย่างได้ แล้วเรื่องที่คนจำได้นั้นมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

เช่นเรื่องคนขโมยไต หรืออวัยวะภายใน โดยการหลองลวงให้ไปโรงแรมแล้วก็ดมยา เพื่อให้สลบ ก่อนที่จะมีการผ่าขโมยเอาอวัยวะภายในไป (ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆคนคงอาจจะเคยได้รับอีเมล์หรือฟังเรื่องนี้มาแล้ว) หรือข้อความที่ว่า เราสามารถมองเห็นกำแพงเมืองจีนได้จากนอกโลก ซึ่งถ้าเป็นจริง เราก็คงเห็นถนนไฮเวย์หลายๆเส้นแล้ว

แต่แล้วทำไม เราถึงจำเรื่องพวกนี้ได้ Dr. Heath's (มีสองคนครับ) นั้นบอกว่าข้อความที่คนจำได้นั้น มีหลักที่เรียกว่า SUCCESs

Simple

ข้อความ หรือเรื่องที่เราจะเล่านั้น ต้องมี core หรือว่าหัวใจของข้อความนั้นง่าย สามารถเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร อย่างเช่น เรื่องกำแพงเมืองจีนที่เห็นได้จากนอกโลก นี่เป็นหัวใจของเรื่องที่เราสามารถสื่อสารได้เข้าใจตรงกันใช่ไหมครับ

เคยคิดไหมครับว่า นี่ก็เป็นความแตกต่างระหว่างการเขียนเรียงความแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

การเขียนภาษาอังกฤษนั้น แต่ละย่อหน้าจะเริ่มจาก main idea หรือ topic sentence ซึ่งก็คือประโยคแรกของแต่ละย่อหน้าจะสำคัญที่สุด แล้วก็ค่อยๆขยายไปเรื่อยๆ

แต่บางทีการเขียนภาษาไทยนั้น เราอาจจะเริ่มจากอารัมภบทก่อน ก่อนที่จะโยงถึงประโยคที่สำคัญที่สุด

เช่นเวลาเราเล่าเรื่องไปเที่ยว ถ้าเป็นเรียงความแบบภาษาอังกฤษนั้น ก็จะเริ่มด้วยบอกว่า "สงกรานต์นี้สนุกมากได้ไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง"  แต่ถ้าเป็นภาษาไทยก็อาจจะเริ่มจากว่า "เทศกาลสงกรานต์หยุดหลายวัน ออกจากวันนี้ ทางไหน ไปกับใคร ก่อนจะเข้ามาถึงว่าไปที่ไหนมาบ้าง รู้สึกยังไง"

Unexpected

ข้อความนั้นต้องหักมุมครับ หรือพูดง่ายๆ ทำยังไง ให้ข้อความเรา หลอกชาวบ้านได้ อย่างเช่นเรื่องกำแพงเมืองจีนที่มองเห็นนอกโลกครับ เมื่อมันมีการหักมุม เราก็สนใจ และเราก็จำติดสมองใช่ไหมครับ หรือยกตัวอย่างเรื่อง six sense (ไม่รู้ว่าจะเคยดูกันหรือเปล่า) ที่เราไม่คิดว่า พระเอกจะเป็นผี จนกระทั่งตอนจบ เห็นไหมครับ ถ้าดูแล้ว เรารู้ตั้งแต่ต้น มันก็ไม่สนุก มันก็ไม่เกิดการจำติดตาติดใจ ใช่ไหมครับ

หรืออย่างเช่น เรื่องนาซ่านั้นต้องการสร้างปากกาขึ้นไปเขียนบนอวกาศ แต่เนื่องจากบนอวกาศไม่มีแรงโน้มถ่วง ปากกานั้นก็เขียนไม่ได้ แล้วก็มีคนสมองใสบอกวิธีแก้ว่าใช้ดินสอแทนปากกาสิ พอหักมุมแบบนี้คนก็จำได้ง่ายกว่า เราว่า นี่นาซ่าใช้ดินสอเขียนแทนปากกาบนอวกาศ  

Concrete

คำว่า concrete ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง คอนกรีตสร้างบ้านนะครับ แต่หมายถึงว่าเรื่องนั้นเล่ากี่ครั้งๆ ก็ไม่สามารถบิดเบือนหัวใจของเรื่องที่เราเล่าได้ อ่านแล้วอาจจะงง ใช่ไหมครับ แต่ถ้าพูดถึงนิทานอีสป ที่เล่ากันตั้งหลายชาติ หลายภาษา แต่ว่า คำสอนหรือคติ เตือนใจของนิทาน ก็เหมือนกันทุกชาติ ทุกภาษาที่เล่า

หรืออย่างเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับ นาซ่าใช้ดินสอเขียนบนอวกาศแทนปากกา คนสมองใส ที่แนะนำนั้น มีหลายเวอร์ชั่นมากครับ บางคนก็บอกว่า เป็นคนในนาซ่าเอง บางคนก็บอกว่าพวกรัสเซียนั้นไม่คิดถึงเรื่องนี้เลย ใช้ดินสอ ตั้งแต่ต้น

แต่อรรถรสของเรื่องก็เหมือนเดิม จะเล่ายังไง เรื่องก็จบลงที่เดิม ตรงนี้แหละครับที่เรียกว่า concrete

Credit

เครดิตหรือความเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับข้อความครับ ข้อความเดียวกัน แต่คนเล่าต่างกัน คนฟังก็จะมีความเชื่อถือในบทความแตกต่างกัน และก็ย่อมจะจดจำข้อความได้มากน้อยต่างกัน

เหมือนกับคนที่ออกมาออกข่าวนะครับ ต่อให้ข่าวเป็นข่าวคอขาดบาดตายสำคัญมาก แต่คนที่ออกมาให้ข่าว เป็นใครก็ไม่รู้ ความสำคัญของเรื่อง ก็น้อย คนก็ย่อมไม่สนใจมาก แต่ถ้าเป็นท่าน รมว ท่านนายก ความสำคัญก็มาก คนก็ย่อม talk of the town กันเยอะใช่ไหมครับ

การทำให้คนนั้นเชื่อในข้อความนั้น สถิติก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ข้อความของเรานั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะว่าเรามองเห็นตัวเลขได้ชัดมากกว่าข้อความนะครับ เช่นคนจำนวนหนึ่ง จำนวนหนึ่งนี่เท่าไร? แต่ถ้าบอกว่าคนห้าร้อยคน เราก็จะเห็นภาพมากกว่า จำได้มากกว่าใช่ไหมครับ

Emotional

อารมณ์ของข้อความนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในข้อความและการเล่าเรื่องครับ อารมณ์นั้นจะทำให้เรารู้สึกสนใจข้อความ หรือเรื่องเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องคนขโมยไต เราสนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ถูกขโมยไต ใช่ไหมครับ

แต่จะเขียนยังไงให้มัน มีอารมณ์นี่ก็คงจะยาก เหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะบทความทางวิชาการ

Story

เรื่องสุดท้ายก็คือ คนเราจำเป็นเรื่อง เป็นราวได้ดีกว่า ข้อความที่ไม่เป็นเรื่อง เป็นราว

เอาละครับ เพราะฉะนั้นบทความทุกบทความ หรือข้อความทุกข้อความที่เราจะสื่อสารนั้น ก่อนจะสื่อสารให้กับคนอื่นนั้น ลองถามดูก่อนนะครับว่า ข้อความของเรานั้นมี SUCCESs ซ่อนอยู่หรือเปล่านะครับ :D

หนังสือเล่มนี้สนุกมากครับ เพราะเล่าเรื่องง่ายๆ และอธิบายถึงการใช้หลัก SUCCESs ในการใช้กับบทความที่เราจะเล่าเรื่อง ถ้ามีเวลาว่าง ยังไงก็ลองหาอ่านดูนะครับ  

สวัสดีวันสงกรานต์ครับ

ที่มา Heath, C. and Heath, D. Made to stick: Why some ideas survive and others die, Random house, NY. 2007, ISBN 978-1400064281  

หมายเลขบันทึก: 90195เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เป็นข้อแนะนำที่ดีคะ....

  •  Simple
  • Unexpected
  • concrete
  • Credit
  • Emotional
  • Story
  • แล้วต้องเพิ่ม สร้างสรรค์ ไปอีกมั้ย....แต่ถ้าพื้นฐาน อันนี้ก็ครอบคลุมหมดแล้วเนาะ
  • สุขสันต์ วันสงกรานต์คะ....จาก พี่หน่อย จ้า

ไปอ่านหนังสือ......

อ่านๆ ไปก็ยังไม่คล้ายประเด็นของหลวงพี่นะ....

เพื่อนสนิทรูปหนึ่ง (สนิทกันมา ๒๐ ปี) เคยวิจารณ์ว่า หลวงพี่มีอะไรพิเศษอย่างหนึ่ง คือ พอคุยๆ กัน สามารถยกเฉพาะเรื่องนั้นหรือประเด็นนั้นขึ้นมาได้ทันที...(วิจารณ์มาราว ๒-๓ปี)

หลวงพี่ก็มาพิจารณาตัวเอง คนอื่นๆ และหลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านๆ มา...ตอนหลังก็รู้สึกว่า หลวงพี่จะเป็นอย่างนี้จริงๆ ซึ่งคนอื่นๆ มักจะไม่ค่อยมี (อาจเข้าข้างตัวเองอยู่บ้าง ก็อย่าว่ากัน)....

แต่หลวงพี่ก็จำอะไรได้น้อยเหมือนกัน จำน้อยกว่าคนที่วิจารณ์หรือคนอื่นๆ อีกหลายๆ คน... ความเฉลียวฉลาด หรือความสามารถอื่นๆ ส่วนตัวก็ธรรมดา...

ทำนองที่เล่ามา... มีการอ้างถึงบ้างหรือไม่...

เจริญพร

 

สวัสดีครับพี่หน่อย

ความคิดสร้างสรรค์รวมอยู่ในหัวข้อ Unexpected กับStory เรียบร้อยแล้วครับ จะแต่งเรื่องซักเรื่องให้หักมุมก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เล่นเลยนะครับ :D  

ขอบคุณมากต้น ดีจริงๆ มีคนอ่านมาสรุปให้ : ) หนังสือที่ต้นอ่านหรือกล่าวถึงเป็นหนังสือที่พี่หยิบมาพลิกๆดูทั้งนั้นเลยแต่ก็ไม่ได้ซื้อเพาะที่มีอยู่ก็กองพะเนินแล้ว

ขอบคุณมากจ้า

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ผมไม่แน่ใจว่าที่พระคุณเจ้าพูดว่า

หลวงพี่มีอะไรพิเศษอย่างหนึ่ง คือ พอคุยๆ กัน สามารถยกเฉพาะเรื่องนั้นหรือประเด็นนั้นขึ้นมาได้ทันที

นั้นหมายความว่าพระคุณเจ้าสามารถจับประเด็นได้ และสามารถยกตัวอย่างเรื่องเล่าให้สอดคล้องกับประเด็นที่จับได้ในทันที หรือไม่นะครับ

แต่ถ้าเป็นแบบที่ผมเข้าใจ ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนครับ

หนังสือเล่มนี้นั้นเขียนแต่ว่า ทำอย่างไรให้สารที่เราส่งไปนั้น ไปถึงผู้รับสารได้โดยที่ผู้รับสารนั้นสามารถจำสารที่เราส่งไปครับ

จริงๆแล้วที่เขียนบล็อกอันนี้ ผมไม่ได้พูดถึงการประยุกต์ใช้หลายๆอย่าง จริงๆแล้วมันก็ดูง่ายเหมือนเป็นเรื่องขีวิตประจำวัน แต่หลักการนี้นั้นสามารถนำไปประยุกต์ได้นอกจากเรื่องการสื่อสารแล้วก็ยังมีเรื่องการตลาด การสอนหนังสือ การสั่งงาน การพูดจูงใจหรือแม้แต่กระทั่งการเทศน์นะครับ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

สวัสดีครับพี่มัท

ดีใจจังครับที่พี่ชอบ จริงๆแล้วยังมีหนังสืออีกหลายเล่มมากที่มีอยู่แต่ยังไม่ได้ และไม่มีแต่ก็อยากได้มากนะครับ ต้นเป็นคนเข้าร้านหนังสือ กับ amazon ไม่ค่อยได้ครับ เข้าไปทีไร ห้ามใจไม่ค่อยอยู่นะครับ :D

ต้น

 

สวัสดีค่ะคุณต้น (คุณ P ไปอ่านหนังสือ )

ขออนุญาตเรียกชื่อเล่น ตามคนอื่นเขาแล้วนะคะ ; )

แวะมาอ่านค่ะ ที่สรุปนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์เพราะในการทำงาน เรื่องการเขียนและการสื่อสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพของดิฉันอยู่แล้ว

ไว้จะไปประยุกต์เพิ่มตอนสอนหนังสือ และทำสื่อการสอนค่ะ เดิมก็คิดอยู่บ้างว่าต้องทำเรื่องให้สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย และ concrete หนักแน่นได้สาระ และเห็นด้วยว่า emotional นั้นใส่ได้ยากในเรื่องวิชาการ แต่พอทำได้ค่ะ ตัวเองเคยใช้วิธียกตัวอย่างให้เห็นผลกระทบของทฤษฎี ให้ relate กับสิ่งชีวิตของผู้ฟังให้มากที่สุดค่ะ ประมาณว่าเสริม story ลงไปในวิชาการนั่นเองเพื่อให้ได้ emotion คนฟังจะได้เข้าใจและให้ความสำคัญมากขึ้น

ขอบคุณที่สรุปให้ฟังนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ดร. กมลวัลย์ ลือประเสริฐ

เชิญอาจารย์เรียกชื่อเล่นตามสบายเลยครับ :D

ในหนังสือยกตัวอย่างเรื่องการสอนของคุณครูสอนวิทยาศาสตร์คนหนึ่งครับ เผื่ออาจารย์อยากจะลองหาวิธีการใหม่ๆนะครับ

เรื่องของเรื่องก็คือคุณครูสอนวิทยาศาสตร์มาสอนเกี่ยวกับเรื่องวงแหวนของดาวเสาร์

คราวนี้แทนที่คุณครูคนนั้นจะบอกว่า วงแหวนดาวเสาร์นั้นน่าจะเกิดจากอะไร

คุณครูคนนั้นตั้งคำถามถามนักเรียนก่อนครับว่า นักเรียนว่า วงแหวนนี่มันเกิดมาจากอะไร

แต่คุณครูก็บอกต่อไปว่า แต่เชื่อไหมว่านักวิทยาศาสตร์ระดับโลก บอกว่าวงแหวนดาวเสาร์นั้น มาได้ สามวิธี พร้อมกับพูดต่อไปว่า น่าแปลกไหม วัตถุเดียวกันแต่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมองว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้ ถึงสามวิธี

ก่อนที่จะอธิบายต่อไปครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับที่ได้กรุณาเข้ามาอ่าน

ต้น

P

เพียงแค่สงสัยตัวเอง เมื่ออ่านบันทึกนี้เท่านั้น....

ความสามารถ หรือสิ่งพิเศษๆ ของเพื่อนสนิท หรือผู้ที่เราคุ้นเคยมากๆ เรามักจะสัมผัสได้... แต่บางเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเราเอง ยังไงๆ เราก็รู้สึกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจตัวเองอยู่ดี....

น้องต้นเคยคิดทำนองนี้บ้างมั้ย ?

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ด้วยความเคารพครับ ยังไม่เคยรู้สึกหรือสัมผัสได้ในความสามารถพิเศษของเพื่อนครับ

เรื่องความพิเศษของตัวเอง เพราะว่าเราอยู่กับตัวเองหรือเปล่าครับ และในเมื่อเราอยู่กับตัวเราทุกวัน เราเลยไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งพิเศษ แต่ในขณะที่คนที่อยู่กับเรา เป็นเพื่อนเรา ไม่ได้อยู่กับเราทุกวัน แต่อยู่ถี่พอที่จะจับ หรือสังเกตุได้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เพื่อนเรานั้นสามารถจะสัมผัสได้มากกว่าครับ

อันนี้ผมตั้งข้อสังเกตุเองนะครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าด้วยความเคารพครับ

ต้น

i think this will work well with my sister's statement of purpose she's writing...maybe she can make it more stand out with these SUCCESs technique...gosh, i should have known this before!

this topic is quite useful for many :D 

thank you for reading and digesting things so that ppl who dont have much time (like me) can expose to something new..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท