ประชาธิปไตย : เผด็จการทางความคิดในโลกปัจจุบัน บทที่ ๒


ประชาธิปไตย คือ ความดี ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้เพราะระบบอื่นมันต่างเลวสิ้นดี
ยาวาฮาร์ลาล  เนห์รู 
 II. ประชาธิปไตยคือที่สุดของสังคมการเมืองแล้วหรือ?

                หากผมตั้งคำถามแบบนี้ ในทางหนึ่งแล้วอาจมองได้ว่าในความคิดของผมมีคำถามซ้อนอยู่อีกอย่างน้อง ๒ คำถามคือ ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ(อย่างในโลกของแบบ)หรือไม่?”  กับ หรือความเป็นที่สุดของสังคมการเมืองไม่ใช่สังคมการเมืองแบบประชาธิปไตย?” ซึ่งแน่นอนก็สามารถมองได้ว่า ในคำถามแรกผมกำลังถามหา arete ของประชาธิปไตย และ ในคำถามที่ ๒ ผมกำลังถามหา telos ของสังคมการเมือง ซึ่งต่างเป็นปัญหาที่ต้องการคำตอบทั้งคู่ แต่กระนั้นคำตอบที่ถามหานั้นก็รับรู้กันว่าเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับมนุษย์คนหนึ่งในการแสวงหามัน

 II.i. άρετή ของประชาธิปไตย                ดังกล่าวว่าผมจะหาคำตอบของ arete ของประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ผมเชื่อว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น (แต่หากคิดตามพลาโต้ความสำเร็จจะอยู่ที่ไหน ผมเองก็ไม่รู้) แต่แน่นอนที่สุดว่าเมื่อผมถามแล้วผมต้องตอบ และผมจะเริ่มหาคำตอบจาก arete ของประชาธิปไตยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในทางประวัติศาสตร์แล้วยอมรับกันว่านครรัฐ Athens คือสังคมการเมืองแรกที่มีการปกครองที่เรียกว่า สภา(หรือสมาคม-assembly) ของประชาชนพลเมืองเอเธนส์ ในภาษากรีกเรียกว่า Εκκλησιασ  Δημοκρατικός (democratic ecclesia) ซึ่งเกิดหลังการปฏิวัติสังคมของ Solon ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล[1] ซึ่งมีการริเริ่มตรากฎหมายเพื่อขจัดปัญหาที่วุ่นวายของสังคมเอเธนส์ในช่วงนั้นด้วยความคิดการปกครองนครรัฐที่เรียกว่า Δημοκρατια โดยเริ่มจากกฏหมายฉบับแรกเรียกว่า Σεισαχέια (seisacheia – settlement)[2] ส่วนในด้านรากศัพท์ แล้วนั้น Δημοκρατια มาจากการสนธิระหว่าง Δημος(demos - people) และ Ќρατος(kratos - rule) ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยคือ ประชาชนปกครอง[3] และนี่ก็คือรากฐานของความคิดประชาธิปไตยของโลกตะวันตก

                สำหรับความคิดประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนั้น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลทางความคิดให้มีการปกครองด้วยประชาธิปไตยนั้น ถือเอาว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 เป็นหลักหมายสำคัญ โดยเป็นผลิตผลของการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุโรปทั้งในเรื่องทางศาสนา(เช่นการเกิดขึ้นของนิกาย Protestant)  และการปกครอง(เช่นการต่อต้านระบบอาญาสิทธิ์ของพวกกษัตริย์) ซึ่งทั้ง ๒ เหตุการณ์ต่างสัมพันธ์กัน[4] แต่ประเด็นสำคัญคือการถกเถียงทางภูมิปัญญาในเรื่อง สิทธิความเท่าเทียม(equal right)”, อธิปไตยของประชาชน(popular sovereignty)” และเรื่อง สิทธิของปัจเจกชน(individual right)” จะเห็นว่าความสำคัญของความคิดในเรื่องนี้ คือความเกี่ยวพันกับสถานะของประชาชน คือการคิดว่าจะทำอย่างไรประชาชนจึงจะปกครองกันเองได้ ถึงที่สุดหรือก็คือเรื่องของมนุษย์ในสังคมนั่นเอง

                คำถามที่สำหรับผมแล้วน่าสนใจคือทำไมมนุษย์ในสังคมจึงสำคัญ หากกลับสู่สังคมกรีก และหากตอบอย่าง Aristotle ก็คงเพราะมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง[5] แต่นั่นก็คงเป็นการตอบแบบสั้นจนเกินไป หากตอบแบบยาวหน่อยก็คงต้องกลับไปดูคำปราศรัยต่อพลเมืองผู้เสียสละจากสงครามคาบสมุทธเพโลโพนีเชียของเอเธนส์โดย Pericles ที่ว่า :

...การปกครองของเราชาวเอเธนส์เรียกว่าประชาธิปไตยเพราะอำนาจมาจากปวงชนไม่ใช่โดยคนส่วนน้อย...เพราะเราทุกคนเท่าเทียมกันโดยกฎหมาย...ไม่มีใครต่ำกว่าใครด้วยจากความยากจน...เรานั้นต่างเคารพกฎหมายโดยตัวของพวกเราเอง...แต่กระนั้นผลประโยชน์ของแต่ละคนก็เป็นผลประโยชน์ของรัฐ...โดยเราต่างสร้างมิตรโดยทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เอาความดีมาสู่ตน...[6]

                จะเห็นว่าสิ่งที่ เพริคลีส กล่าวนั้นสามารถเห็นตำแหน่งแห่งที่ของความสำคัญของประชาชนกล่าวคือ ปัจเจกชนที่เท่าเทียมกันไม่ใช่โดยชาติกำเนิดหรือฐานะ แต่ที่เท่ากันเพราะกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างเท่าเทียมกัน[7] ดังนั้นกฎหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนหมู่มากเท่าเทียมกัน และเมื่อกฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกสร้างจึงหมายความว่า มนุษย์ถูกสร้างให้เท่าเทียมกัน  ความเป็นประชาธิปไตยนั้นจึงผูกด้วยการตรากฎหมาย และสิ่งนี้เองก่อปัญหาขึ้นเพราะแม้สังคมเอเธนส์เองเนื่องด้วยใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงกฎหมาย การให้การศึกษา(ให้ความรู้)ในกฎหมายจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อกลับมาสู่ยุโรปใน ศ.ต. ที่ ๑๗ ๑๘ จะพบว่าการศึกษาเพื่อสร้างคนเข้าสู่สังคมการเมืองก็มีปรากฏโดยนักคิดแบบสัญญาประชาคมเช่นกัน อาทิ Emile : on Education ของ Rousseau ที่เขียนขึ้นโดยมีเจตนาเพื่อสร้างคนเข้าสู่สังคมแบบทีเขาร่างภาพไว้ใน The Social Contact และหากดูปริมาณของเนื้อหาแล้วจะพบว่า เอมิล นั้นมีความหนากว่า สัญญาประชาคมเกือบ ๑๐ เท่า หรือนั่นคือรุสโซกำลังบอกว่าหากแม้นการสร้างสังคมแบบสัญญาประชาคมยากเย็นเพียงไรนั้น การสร้างคนเพื่อดำรงอยู่ในสังคมสัญญาประชาคมนั้นยากกเย็นกว่าเป็น ๑๐ เท่าก็อาจเป็นไปได้ ดังนั้นหากจะตอบคำถามที่ว่า arete ของประชาธิปไตยคืออะไรนั้น จากข้อมูลที่มีผมจึงขอสรุปว่า คือ ประชาชน และต้องเสริมไปอีกว่าเป็นประชาชนที่มีการศึกษาที่มากเพียงพอ โดยความเพียงพอนั้นก็ต้องเพียงพอที่จะมีความรู้ที่จะสำนึกได้ว่าจะปกครองกันและถูกปกครองกันอย่างไรนั่นเอง

 II.ii. τέλος ของสังคมการเมือง

                ในงานเขียนอาทิ The End of Ideology: On the Exhaustion of Political Idea in the Fifties ของ Daniel Bell เสนอว่า ในสหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตกอุดมการณ์แบบเก่าได้ก้าวมาถึงจุดอวสานแล้ว แต่สำหรับเอเชียและอาฟริกา อุดมการณ์แบบใหม่กำลังฟักตัวขึ้น ใน The Opium of the Intellectuals ของ Raymond Aron ก็กล่าวว่า เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดวิวาทะหรืออภิปรายถกเถียงทางอุดมการณ์ไม่มีอีกแล้วในประเทศที่กำลังก้าวหน้า เช่นเดียวกัน Seymour Martin Lipset ที่กล่าวว่า โลกตะวันตกกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ขนาดใหญ่กลายเป็นเรื่องของอดีต และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Francis Fukuyama กับ The End of History and The Last Man[8] ก็ย้ำว่า ประชาธิปไตยแบบทุนนิยมแสดงให้เห็นระดับอันสูงสุดของการพัฒนาของการเมืองและเศรษฐกิจของมนุษย์ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับความเข้าใจในเรื่องนี้ทั้งหมด และบางทีอาจไม่มีทางเข้าใจได้ แต่ทว่ามันคือสิ่งที่เป็นจุดสูงสุดที่ประเทศกำลังพัฒนาและสังคมสมัยใหม่ควรจะคาดหมาย[9] ซึ่งงานเขียนต่างๆเหล่านี้เป็นผลผลิตของศตวรรษที่ ๒๐ ที่ถูกมองว่าเป็นศตวรรษแห่งประชาชน มีการต่อสู้ระบอบเผด็จการ และปรับเปลี่ยนประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นการต่อสู้ทางอารยธรรมที่เคยถูกกดขี่มีมากขึ้น โดยมีการเรียกร้องอิสรภาพจากประเทศลูกอาณานิคมทั้งใน ละตินอเมริกา อาฟริกา รวมถึงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดในช่วงที่เรียกว่าสงครามเย็นของ ๒ ขั้วมหาอำนาจ(ทางอุดมการณ์ และการเมือง) คือ โลกเสรีประชาธิปไตย และโลกสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์  ภายใต้การโหมโฆษณาเสรีภาพ, ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ส่วนในสหภาพโซเวียตเองการดำเนินนโยบาย Glasnost และ Perestroika ที่เป็นเหมือนก้าวที่พลาดของสหภาพโซเวียต และปัจจัยหลายอย่างภายใต้บริบทการเมืองโลกในช่วงนั้น  สหภาพโซเวียต หนึ่งในขั้วอำนาจก็สลายตัวลง โลกจึงถูกมองว่าได้กลายสภาพทางอุดมการณ์การเมืองการปกครองเป็นขั้วเดียว[10]

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของยุคสงครามเย็นคือทุกประเทศพยายามบอกประชาคมโลกว่าเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยกันทั้งสิ้น โดยสภาวะแบบนี้ประชาธิปไตยจึงดำรงสถานะของความชอบธรรมของรัฐในสังคมการเมืองสมัยใหม่ สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐที่กล่าวเช่นนี้โดยมากแล้วมีความคิดทางการเมืองต่างกัน และมีมุมมองทั้ง ซ้าย”, กลาง หรือ ขวา[11] ดังนั้นจากสิ่งที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ ประชาธิปไตยถูกมองว่าคือความดีอันสูงสุดของโลกปัจจุบัน แต่กระนั้นผมคิดว่า ความดีสูงสุด กับ ความดีที่สุดที่เป็นไปได้นั้น มันต่างกัน เพราะหากมองจากทฤษฎีแบบของพลาโต้แล้ว ไม่มีทางเลยที่มนุษย์จะบอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าประชาธิปไตยคือ telos หากมนุษย์ยังดำรงอยู่ในสถานะที่เป็นสภาวะโลกแห่งวัตถุ

หรือเอาเข้าจริงประชาธิปไตยที่เป็นอยู่นี้นั้นในที่สุดแล้ว ก็ได้รับการพิสูจน์ว่ายังอาจไม่ใช่ระบบการเมืองการปกครองที่ทำให้เกิดชีวิตที่ดีที่สุดได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหากแม้นสมบูรณ์แบบแล้วนั้นผมคิดว่าต้องไม่มีคำถามในเรื่องสังคมการเมืองที่ดีอีกต่อไป ดังนั้นข้อพิสูจน์ของความที่สังคมการเมืองแบบนี้ไม่ใช่ telos คือการที่ยังมีการตั้งคำถามซึ่งแม้แต่ ฟูกูยามา เองนั้นก็ยังเขียนเอาไว้ใน The End of History and The Last Man ฉบับที่พิมพ์ใหม่ว่า การสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นยังมีรอยด่างพร้อยอยู่อย่างน้อยในเรื่องเสรีภาพ และความเสมอภาค[12] สิ่งนี้หมายความว่าเอาเข้าจริงแล้วไม่ว่าประชาธิปไตย(ที่แท้)จะเป็น telos หรือไม่นั้น แต่ในปัจจุบันรัฐโดยมากไม่ได้เข้าถึงประชาธิปไตย(ที่อาจจะยังไม่แท้ด้วยซ้ำไป) และฟูกูยามาเองก็ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ประชาธิปไตยปัจจุบันนั้นถูกมอง(ตั้งคำถาม?)ว่าเป็นเพียง การครอบครองทางความคิดของพวกอเมริกัน[13]

                สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงสามารถชี้ให้เห็นได้ ๒ ทางกล่าวคือ ๑. ประชาธิปไตยนั้นยังไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ เพราะยังมีข้อเสียที่มนุษย์หลายกลุ่มยังไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ และรวมทั้งไม่เห็นถึงชีวิตที่ดีที่ประชาธิปไตยให้กับสังคมการเมืองของตนได้ พวกเขาจึงตังคำถาม และ ๒. หรือว่าคือ doxa ของมนุษย์หลายกลุ่มดังกล่าวที่ไม่สามารถทำให้เข้าใจและเข้าถึงได้ และรวมทั้งเห็นถึงชีวิตที่ดีที่ประชาธิปไตยให้กับสังคมการเมืองของตนได้ พวกเขาจึงตั้งคำถามเช่นกัน  ผมมองว่าทั้ง ๒ เรื่องมีความต่างทางมุมมองที่ข้อแรก ประชาธิปไตยไม่ใช่ telos ส่วนข้อสองมนุษย์ติดกับดักสัมพัทธนิยม แต่สิ่งที่ผมมองว่าทั้งสองข้อมีส่วนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ เป็นปัญหาที่ว่า การศึกษา และ ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตย หรือปัญหาการให้การศึกษาต่อสังคมการเมืองที่ดีที่เป็นไปได้ทั้งหมดนั้น ผมคิดว่าการให้การศึกษาทั้ง ๒ ข้อนี้ยังไม่ดีเพียงพอ

  (มีต่อ)
http://gotoknow.org/blog/iammean/90194
คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการเมือง
หมายเลขบันทึก: 90193เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 mean....

ไม่รู้ผู้นำจีนคนไหนบอกว่า

แมวดำแมวขาว จับหนูได้ ก็ถือว่าเป็นแมวดี ... ประมาณนี้..

เป็นไปได้หรือไม่ที่ ระบอบการปกครอบทั้งหมด อาจขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในสังคมนั้นๆ...

ถ้าเชื่อถือทำนองนี้ก็เป็น สัมพัทธนิยม

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท