รัฐธรรมนูญแบบไทยไทย


เรื่องราวในวาทกรรม ที่กำลังถูกอรรถาธิบาย ด้วยมายาภาพ และความเชื่อบางประการของสังคมไทย

รัฐธรรมนูญแบบ ไทย ไทย 

สามชาย ศรีสันต์

ผู้เขียน 

อรรถาธิบายและตีความ

รื่องราวในแต่ละวาทกรรม

ของรัฐธรรมนูญแบบไทยไทย                  

      

ภาพถ่าย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝีมือและผลงานการถ่ายภาพ-ลิขสิทธิ์ของ คุณ kokoyadi

http://www.oknation.net/blog/kokoyadi

รัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า พานรัฐธรรมนูญนี้สูง 3 เมตร ตั้งบนยอดฐานรูปทรงกลมด้านบนของฐานโค้งมน  พื้นที่รอบฐานเป็นลานยกสูงมีบันไดโดยรอบ แต่ละมุมโอบล้อมด้วยปีก 4 ทิศ  แต่ละปีกสูง 24 เมตร มีภาพแกะสลักแสดงประวัติของคณะราษฎร์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปูนปั้นแบบนูนสูงประกอบติดที่ฐานล่างของปีกทั้ง 4 ด้าน    รอบปีกทั้งสี่ด้านโอบล้อมด้วยปืนใหญ่โบราณฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมาเป็นเสาคล้องโซ่เชื่อมต่อกัน     จำนวน 75 กระบอก ถัดจากนั้นเป็นดอกไม้หลากสีล้อมรอบปืนใหญ่อีกชั้นหนึ่ง 

สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินมีชื่อเรียกว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกให้กับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ช่วยสิ่งย้ำเตือนอนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงและรับเอาภาระหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาเทิดทูนรัฐธรรมนูญไว้เป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยตลอดไป  ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญถูกทำให้เป็นความหมายเดียวกันผ่านสัญลักษณ์ที่วาง (ประดิษฐาน) อยู่บนยอดสูงสุดรองรับด้วยพานแว่นฟ้าและแวดล้อมด้วยสิ่งประดิษฐ์เป็นช่วงชั้นแน่นหนาทั้งปืนใหญ่และดอกไม้ รวมทั้งรถยนต์มากมายที่วิ่งวนรอบ ๆ คล้ายรัศมีที่แผ่กระจายความยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ให้กับ รัฐธรรมนูญ

การเรียกร้องประชาธิปไตยก็คือการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ดูได้จากรัฐธรรมนูญว่ายังคงมีอยู่หรือไม่และเขียนไว้อย่างไร เหตุการณ์ความรุนแรงหลายต่อหลายครั้งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเลือดเนื้อและฆ่ากันเอง ก็ด้วยการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อใดที่คนไทยเรียกร้องรัฐธรรมนูญสังคมไทยก็เข้าใจเอาว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย   ไม่เพียงสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่  ณ จุดกึ่งกลางของพื้นที่สาธารณะ ที่ทำให้คนไทย (กรุงเทพ) สัมผัสและมีส่วนร่วมใช้พื้นที่ทั้งในชีวิตประจำวันและการเรียกร้องทางการเมือง จนซึมซับความหมายในความยิ่งใหญ่ของรัฐธรรมนูญ เสมือนว่ารัฐธรรมนูญ เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่ง และดลบันดาลได้ทุกสิ่งที่คนไทยปวารถนา   

รัฐธรรมนูญจึงเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นหลักยึดเหนี่ยว ที่ทำให้มั่นใจได้ว่า หากยังคงมีอยู่ก็แสดงถึงว่า เรายังคงมีประชาธิปไตย  สิ่งที่ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้าจึงเป็นเสมือนเครื่องรางของขลัง ที่เป็นตัวแทนของประชาธิปไตย เมื่อใดที่ถูกนำไปไว้บน เสื้อ  บัตรเลือกตั้ง  เข็มกลัด ปกเทปเพลงการเมือง  หนังสือการเมือง  เครื่องหมายองค์กรหน่วยงาน  ผู้ครอบครองสิ่งของเหล่านั้นก็ถูกมองว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตย  ซึ่งหมายถึงรักรัฐธรรมนูญ   

ความหมายของรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เพียงความหมายในเชิงนามธรรมอันสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง  หากแต่มีวัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปของการผลิตซ้ำตอกย้ำความหมาย   อันไม่ใช่ความหมายเพียงภาพปรากฏหากแต่เป็นสัญลักษณ์ที่มีชีวิตสามารถแบ่งภาคอวตาร (Incarnation) ตนเองออกเพื่อทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าเพศภัยชั่วร้าย  ธำรงรักษาระบบการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย  แต่ละภาคที่แบ่งออกนั้นก็ล้วนเป็นองค์กรอันศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจดลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ประชาชนได้นับแต่เกิดจนกระทั่งตาย องค์กรทางการเมืองที่มีหน้าที่กำกับ ควบคุมสังคมไทย ล้วนมาจากจุดกำเนิดเดียวกันคือ รัฐธรรมนูญ ที่ให้การรับรองอำนาจหน้าที่ไว้  ดังเช่น รัฐสภา  อันประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  คณะรัฐมนตรีที่รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี  ศาล  และองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลยอำนาจ   ตัวรัฐธรรมนูญจึงเป็นดุจดังองค์เทพผู้ให้กำเนิด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยควบคุม และสนับสนุนรับรองการกระทำต่าง ๆ ขององค์กรที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ  

ดังนั้น หากองค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ๆ กระทำการผิดพลาดไม่เป็นที่พอใจแก่สังคม ประชาชนคนไทย  ความผิดพลาดนั้นก็ถูกมองย้อนกลับไปที่องค์อันเป็นต้นกำเนิดนั่นคือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ  ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติทางการเมืองการขจัดปัดเป่าที่ถอนรากถอนโคน ทำลายล้างให้สิ้นซากในความรู้สึกก็คือ การล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญผู้ให้กำเนิดความเลวร้ายเหล่านั้น เมื่อทำลายต้นกำเนิดแล้วก็เข้าใจเอาว่า เป็นการขจัดรากเหง้าของต้นตอ และเมล็ดพันธ์แห่งความชั่วร้ายที่จะหมดสิ้นไป พร้อมไปกับการบำเพ็ญเพียร ภาวนา สวดวิงวอนแสดงถึงความต้องการให้เทพอวตารลงมาใหม่อีกครั้งเพื่อขจัดทุกข์เข็ญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เรียกชื่อปางต่าง ๆ กันไป ทั้งฉบับประชาชน ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ  ฉบับ คมช.    

ด้วยเหตุที่เราเข้าใจเอาว่า รัฐธรรมนูญนั้นคือสุดยอดของทุกสิ่งทุกอย่าง (ขนาดมีการเสนอให้ รัฐธรรมนูญกินได้)  เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดำเนินการผิดพลาด ไม่เป็นที่พึงใจ ก็ทำลายเปลี่ยนแปลงเสีย แล้วอัญเชิญปวงเทพแบ่งภาคลงโปรดใหม่   

ด้วยวิธีคิดนี้คนไทยจึงหวงแหนรัฐธรรมนูญในมิติของเวลา กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาที่ประทับในความรู้สึกที่ยังคงมั่นใจได้ว่ายังคงมีรัฐธรรมนูญอยู่กับประเทศไทยตลอดไป ซึ่งหมายถึงว่าประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ตราบใดที่มีรัฐธรรมนูญ  มิติของเวลาในที่นี้คือ มิติของการยกร่างเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังมีองค์เทพ (รัฐธรรมนูญ) เป็นสัตตะ ระดับที่เป็นปรมัตถ์สถิตอยู่เบื้องบน  ซึ่งเชื่อเอาว่าเมื่อเกิดยุคเข็ญก็จะอวตารลงมาอยู่บนพานแว่นฟ้าที่มีสัญลักษณ์ปรากฏอยู่ทั่วไป (เฉกเช่นรับรู้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เพราะมีวัด มีพระสงฆ์  และมีพระพุทธรูป อันมีคนไทยกราบไหว้บูชาปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วทั้งดินแดน)  ปรมัตถ์ในที่นี้เป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ อยู่เหนือความสามารถในการรับรู้ของมนุษย์ เพียงเชื่อว่ามีอยู่ และเป็นจริง

แม้องค์มหาเทพก็ยังอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งปรมัตถ์ ผู้อ้างหลักเกณฑ์และเข้าใจปรมัตถ์ จึงมีอิทธิฤทธิ์ครอบโลกไว้ได้   ดังนั้นในมิติของพื้นที่ว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญอยู่หรือไม่ จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญนักหากยังคงรับรู้ว่ามีอยู่เบื้องบนและรอวันประกาศใช้  

เราจึงยอมรับได้กับการฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ ด้วยหวังว่าเทพเบื้องบนนั้นจะอวตารลงมาบำบัดทุกข์ และสร้างสังคมสันติสุขประชาธิปไตยให้ได้ในไม่ช้า  แต่เมื่อใดก็ตามที่รับรู้ว่า จะมีการทำลายหรือไม่เคารพนับถือเทพที่อยู่เบื้องบน ซึ่งหมายถึงว่าจะไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการอวตารลงมากำจัดยุคเข็ญอีก ประชาชนก็จะลุกขึ้นต่อสู้และยอมตายเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญควบคู่กับประเทศไทยตลอดไป  

ในทางตรงข้ามการรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ผลรวมของทุกสิ่งทุกอย่าง (ultimate totalization) ที่บูรณาการขึ้นเป็น ชาติ เมื่อองค์กรใด ๆ อันเกิดแต่รัฐธรรมนูญล่วงละเมิดต่อความเป็นชาติ จึงกลายเป็นความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญที่ให้กำเนิดองค์กรนั้น การเกลียดชังรัฐบาลทักษิณเพราะขายสมบัติชาติ สร้างค่านิยมที่ผิดทำลายคนในชาติด้วยการมอมเมาด้วยผลประโยชน์เชิงนโยบาย  ขณะที่มีเสียงในสภาที่แข็งแกร่ง มีอำนาจมั่นคงยากที่จะล้มล้างเปลี่ยนแปลงได้ เหล่านี้ก็ล้วนเข้าใจเอาว่า รัฐธรรมนูญรับรองอำนาจไว้ และไม่สร้างเครื่องมือตรวจสอบป้องกันที่รัดกุมเพียงพอ จึงไม่เป็นการลังเลสงสัยหากรัฐธรรมนูญนั้น ๆ จะถูกทำลายไป 

ข้ออ้างของการทำลาย ฉีก รัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เลยสักครั้งที่เป็นความบกพร่องผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นความบกพร่องผิดพลาดของสิ่งอันเกิดมาแต่รัฐธรรมนูญ   เมื่อเราไม่ชอบตัวบุคคลที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  เราก็เรียกร้องขอให้แก้รัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่หากเราชื่นชอบตัวบุคคลที่เป็น คนนอก  คนกลาง ผู้นั้น เราก็จะเฉยเสีย และอาจเกินเลยไปถึงเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อต่อการทำงานของนายกรัฐมนตรีคนนอก   

แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี  องค์กรอิสระ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นมิติเดียวกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เมื่อองค์กร ตัวบุคคล เกิดความผิดพลาด รัฐธรรมนูญย่อมผิดพลาด เมื่อรัฐธรรมนูญผิดพลาด ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย วิธีคิดแบบนี้เราจึงไม่ยี่หระต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่อวตารลงมาแล้วถึง 16 ปาง ตราบใดที่ยังคงเชื่อมั่นว่า ไม่นานเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่า และดีกว่าขึ้นเรื่อย ๆ  คนที่เข้าใจและฉวยประโยชน์จากความเชื่อแบบนี้ได้ ก็คือผู้ที่เข้าใจกฎเกณฑ์แห่งปรมัตถ์  มีอำนาจอยู่เหนือสามโลก เป็นผู้สร้างโลกทั้งสาม  เป็นผู้ให้กำเนิดเทพ เป็นราชาแห่งเทพทั้งปวง เสมือนการที่พระวิษณุแบ่งร่างกาย  ออกเป็นมหาเทพ  3 พระองค์  โดยแขนซ้ายเป็นพระพรหม แขนขวาเป็นพระศิวะ และส่วนอกเป็น พระวิษณุ   (นิติบัญญัติ-สนช.,  ตุลาการ-คตส.,  บริหาร-คมช.)  ไม่เพียงแต่จะให้ชีวิตต่อผู้สร้างโลก แต่ยังมีสิทธิอำนาจในการทำลาย ล้มล้าง ขจัดปัดเป่าความชั่วร้าย และรักษาไว้ซึ่งสิ่งดีงาม    

ด้วยความเชื่อแบบนี้เนื้อแท้แล้วก็คือ ความลวงของการถ่วงดุลยอำนาจ  เพราะอำนาจเกิดจากการแบ่งภาคของมหาเทพองค์เดียว    และแม้ว่าเทพองค์ใดจะอวตารลงมา เป็นรูปเคารพบนพานแว่นฟ้า มหาเทพก็มีสิทธิอำนาจเด็ดขาดเพียงผู้เดียวที่จะทำลายล้างให้เป็นจุลได้ในพริบตา การแก้ไข ยกร่าง รัฐธรรมนูญ จึงไม่ต่างจากการแบ่งภาค แล้วอวตารลงมา เพื่อขจัดทุกข์เข็ญ แล้วทำให้หลงเข้าใจเอาว่า มีเพียงรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่มีอยู่จริง จับต้องได้ และกินได้ เราจึงหวงแหนรัฐธรรมนูญไว้ยิ่งชีพในมิติของเวลา โดยไม่สนใจมิติของพื้นที่ (space)  

ตราบใดที่เชื่อว่ามหาเทพยังคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องบน หรือตราบใดที่ผู้ปกครองให้คำมั่นว่าจะดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ตรงใจกับประชาชนมากที่สุดซึ่งหลายฉบับใช้เวลาเป็น 10 ปี              การยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคราวนั้น เต็มไปด้วยพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมที่บางครั้งต้องบวงสรวงด้วยเลือด เนื้อ ชีวิต เป็นชีพพลีบริเวณใกล้ ๆ กับรูปเคารพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นเอง แต่บางคราวก็เป็นการบวงสรวงด้วยดอกไม้ เครื่องหอมแก่บริวารขององค์เทพ มีการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมาธิการ หลายชุดหลายคณะ ทั้งทำหน้าที่ศึกษาว่าจะแก้อย่างไร แก้ตรงไหน  ทั้งทำหน้าที่สรรหาผู้จะมายกร่าง ประดุจดังสรรหาของวิเศษจากทั่วทุกสารทิศ ที่มีฤทธา  ปาฏิหาริย์  เพื่อมาปลุกเสกร่ายเวทย์ให้มีพลานุภาพขจัดปัดเป่ายุคเข็ญความชั่วร้ายนานา เป็นของวิเศษประเภทหากใครได้ไปบูชาจะได้ในทุกสิ่งที่ปรารถนา ทั้งแคล้วคลาดปลอดภัย  คงกระพันชาตรี (ตราบใดที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองก็ไม่สามารถเอาผิดได้)   มั่งมีศรีสุข (ตราบใดที่ไม่กระทำผิดรัฐธรรมนูญก็สร้างความร่ำรวยด้วยวิธีการอันแยบยลต่าง ๆ ได้)  เมตตามหานิยม (ยิ่งเคารพศรัทธารัฐธรรมนูญเท่าใดมหาชนก็ยิ่งรักยิ่งนิยม)   

ในการประกอบพิธียกร่างแต่ละครั้งนั้นก็ล้วนสร้างให้เกิดศรัทธาอันแรงกล้าเป็นพลังมวลรวมของชนชาวไทยที่กอปรกันขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทุกคน ผ่านขั้นตอนพิธีกรรมหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนล้วนยากลำบาก แสดงให้เห็นถึงความพิเคราะห์รอบคอบเป็นที่สุดที่จะมิให้สิ่งอันไม่บริสุทธิ์มาแปดเปื้อนเจือปนพิธีกรรมนี้  องค์กรหน่วยงาน กลุ่มประชาชนถูกปลุกเร้าให้เข้ามีส่วนในพิธีกรรมยกร่าง เพื่อให้คงความข้นขลังศักดิ์สิทธิ์แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ทุกสิ่งที่เห็นว่าดีงามล้วนต้องการให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นจุดผิดพลาดก็สรรหาครุ่นคิดว่าจะเขียนไว้อย่างไรจึงจะขจัดข้อผิดพลาด สิ่งอันเป็นความคับข้องใจที่เคยมีมาในอดีตของกลุ่มบุคคลใด องค์กรใด ก็ถูกเสนอให้ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ               

เมื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อวตารลงมา สังคมประกาศร้องบอกถึงคุณอันวิเศษและสิ่งที่ปวงชนจะได้อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญ  สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่ขยายขอบเขตให้กว้างขวางครอบคลุมขึ้นและปฏิบัติได้จริงดังที่รัฐธรรมนูญฯ ได้รับรองไว้  ความโปร่งใสตรวจสอบได้ขององค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจซึ่งมักได้รับการรับรองว่าต่อนี้ไปจะมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด และมีประสิทธิภาพ การได้คนดี คนเก่งเข้ามาทำงาน  เรื่อยไปจนถึงการช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงขอให้ยอมรับเทิดทูลและนำขึ้นสักการบูชาอยู่เหนือพาน  จากนั้นก็จะมีองค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายสิบฉบับ             

แต่เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องการรับรอง คุ้มครอง ให้สถาบันที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนำทรัพยากรของชาติมาใช้ได้อย่างมีเกียรติ์และศักดิ์ศรี (สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ หน่วยราชการกระทรวงทบวงกรมอันเกิดจากการตรากฎหมายด้วยขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบอกไว้) สถาบันเหล่านี้มีสิทธิอำนาจชอบธรรมในอันจะได้มา และจัดการและแจกจ่ายผลิตผลที่เป็นของชาติให้กับหน่วยงานที่สถาบันเหล่านี้สร้างขึ้นอีกต่อหนึ่ง ในฐานะผู้ทำหน้าที่แทนประชาชน  (Representation)    และตอบแทนประชาชนด้วยการรับรองสิทธิและเสรีภาพ (ที่มีมาพร้อมกับหน้าที่) แต่การได้รับการคุ้มครองรับรองในทางปฏิบัตินั้นจำต้องร้องขึ้นเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของตนเองเป็นการร้องขึ้นในเชิงปัจเจกบุคคล มิได้เกิดขึ้นเองในแบบสถาบัน และหน่วยงานซึ่งถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ ที่เกิดและใช้อำนาจได้ในทันทีที่ได้รับการเขียนไว้    เพราะมีข้ออ้างว่าต้องกระทำ โดยล่วงละเมิดไม่ได้ ตรงข้ามกับสิ่งที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองที่ต้องเรียกร้อง ทักท้วง ดิ้นรน และอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่ประชาชนเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองไม่เคยปรากฏผลว่าถอดถอนได้จริง ระบบการศึกษา บริการสาธารณสุข การได้รับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรมที่อ้างว่าให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมก็ไม่เคยที่จะเท่าเทียม    สิทธิของชุมชนท้องถิ่นไม่เคยได้มาโดยเพียงการเขียนไว้ หากแต่ต้องร้องขอ อ้อนวอน และต่อสู้             

ความคิด ความเชื่อ อันสืบเนื่องตกทอดลดหลั่นกันลงเป็นเส้นตรง จากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถบันดาลได้ทุกสิ่ง  ติดยึดฝังรากลึกด้วยความเชื่อถือศรัทธาต่อความมีอยู่ของสัตตะ (being)อันเป็นปรมัตถ์คอยกำกับควบคุมทุกสิ่งอยู่เหนือกาละ (time) เทศะ (context) และพื้นที่ (space)    เป็นความคิดที่เข้าใจเอาว่ามีศูนย์กลางของจักรวาล  ที่อุดมด้วยโภคทรัพย์ความสมบูรณ์ เป็นที่ชุมนุมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การยึดกุมเข้าใจกลไกของศูนย์กลางจักรวาลได้คือ การยึดครองโลกทั้งสามและทวีปทั้งสี่ ประชาชนผู้อาศัยอยู่บนโลกที่หลีกไม่พ้นต้องผันแปรไปตามวัฏฏะที่ได้กำหนดไว้เป็นช่วงชั้นลดหลั่นลงไปในเส้นทางอำนาจสายเดียวดังกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ        

 

ภาพถ่าย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝีมือและผลงานการถ่ายภาพ-ลิขสิทธิ์ของ คุณ kokoyadi

http://www.oknation.net/blog/kokoyadi

         

สิ่งที่องค์มหาเทพทำก็คือต้องสร้างความเชื่อให้มนุษย์ทั้ง 4 โลก รับรู้ว่า เข้าใจหลักแห่งปรมัตถ์อย่างที่มิอาจหาผู้ใดมาเสมอเหมือนได้  แต่องค์มหาเทพจะไม่เคยเผยตัวว่าเทพอันเกิดแต่การแบ่งภาคขึ้นทำหน้าที่สร้างความสงบสุขแก่มวลมนุษย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับ เมื่อแบ่งภาคไปแล้วได้ให้สิทธิ์ขาดฤทธาแก่เทพแต่ละภาค แม้ปางต่าง ๆ ที่อวตารลงไปก็เป็นตัวตนเฉพาะที่ไม่ได้ยึดโยงต่อเทพองค์ใด ความผิดพลาดหลงทาง จึงกลายเป็นความผิดที่ตัดขาดออกจากต้นกำเนิดและเทพองค์ผู้ผิดพลาดก็สามารถถูกทำลายได้ในทันทีเพื่อไม่ให้เพาะเชื้อความชั่วร้ายได้ต่อไป  การตัดความเกี่ยวข้องออกนี้จึงทำให้ความเคารพศรัทธายังคงดำเนินต่อไป และรัฐธรรมนูญที่อวตารในแต่ละฉบับยังคงวางเหนือพานบูชาตราบใดที่ไม่ขัดหลักแห่งปรมัตถ์ที่องค์มหาเทพจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด  ประชาชนจึงทำได้เพียงสวดอ้อนวอน และดำรงตนในฐานะพลเมืองที่เชื่องซื่อ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ (ธรรมนูญ หรือประกาศของคณะบุคคล ซึ่งถือเอาว่าเป็นสิ่งสูงสุดในเวลานั้น) และสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญชี้บอกให้กระทำและห้ามไม่ให้กระทำ เมื่อใดที่ทนรองรับต่อไปไม่ไหว ก็สวดอ้อนวอน พลีร่าง ถวายดอกไม้ บวงสรวงเพื่อให้องค์มหาเทพมอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาให้ เป็นฉบับที่ดีขึ้นให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น กว้างขวางขึ้น เป็นเช่นนี้ในทุกคราไป  ... โอมสะวาหะ สะวาหา สะวาหายะ...   เสียงสวดอ้อนวอนยังคงดังเซ่งแซ่ไปทั้วทั้งสังคมไทย                  

 

หมายเลขบันทึก: 90190เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท