ประชาธิปไตย : เผด็จการในโลกทางความคิดของปัจจุบัน บทที่ ๑


 สำหรับพลาโต้นั้นการศึกษาที่แท้จริงคือกระบวนวิธีในการหมุนดวงตาแห่งจิตจากความมืดบอดที่เป็นและมีมาแต่กำเนิดสู่ความสว่างดังแสงอาทิตย์ของความรักในปัญญา
ริชาร์ด  ลิวอิส  เนทเทิลชิพ 
I. พลาโต้, ความดี และการศึกษา

                ทฤษฏีแบบของพลาโต้(Ειδος – eidos) อาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลจากทฤษฎี มโนภาพ (concept) ของ Socrates[1] แบบของพลาโต้จะเป็น อะไร ที่อยู่นอกความคิด เป็นสิ่งสากล พลาโต้ถือว่าการสนทนาเป็นวิธีทางสู่การเข้าถึง อะไร นั้น เพราะ อะไร นั้นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แบบของ พลาโต้จะมีโลกส่วนตัวที่สัมพันธ์เป็นลำดับชั้น โดยมีแบบอันเป็นที่สูงสุด ครอบคลุม จากในรีพับบลิค :

...พูดได้ว่าสิ่งที่แบ่งความจริงสู่สรรพสิ่งให้รู้ และให้พลังกับมนุษย์ให้รับรู้สิ่งใดๆคือแบบของความดี และมันคือสาเหตุของความรู้และความจริง...ท่านจะเข้าใจสิ่งนี้ด้วยการเชื่อว่ามีสิ่งที่แตกต่างและถูกต้องมากยิ่งกว่า...[2]

                โดยสรุปแล้ว อะไร หรือ แบบ คือ วัตถุแห่งความรู้(the object of knowledge) เป็นความจริงที่สูงสุด(the ultimate real) ดำรงสถานะเป็นพื้นฐานของสิ่งอื่นใดในโลกวัตถุอันไม่สมบูรณ์(the standard or the pattern of an im-perfect) และคือปัจจัยของคุณธรรมที่ซึ่งมนุษย์ใช้จัดกลุ่มสิ่งในโลกวัตถุอันไม่สมบูรณ์(the common factor of virtue[άρετή])[3]  ดังนั้นผมจึงขอกล่าว แบบ ที่พลาโต้กล่าวถึงเป็น สิ่งที่มีอยู่จริงแต่มนุษย์เข้าไม่ถึง หากไม่มีเครื่องมือที่จำเป็นบางอย่าง และเครื่องมือนั้นก็คือการศึกษา อีกทั้งพลาโต้ยังเสนอว่า แบบ หรือ อะไร ที่สูงสุดนั้นก็คือ ความดี - Αγαθόν - agathon (form or idea of the Good) ที่เป็นแบบที่ก่อกำเนิดทุกสิ่งอีกทั้งเป็นภาวะอันเป็น แก่นแท้ที่สุดยอด เป็น แก่นแท้ของแก่นแท้ ของทุกๆแบบ ในสภาวะนี้แบบของความดีของพลาโต้มีลักษณะเป็น being[4] ดังนั้นจึงไม่สามารถหาจุดกำเนิด หรือสุดสิ้นสุด ความดีเป็นตัวควบคุมแบบอื่นทั้งหลายที่อยู่ภายในอาณาเขตของแบบแห่งความดี โดยควบคุมความขัดแย้งต่างๆเอาไว้ด้วยกันด้วย วจนะ”(Λόγός - logos)[5] และในสภาวะเช่นนี้ แบบจึงเป็นความสมบูรณ์ ที่ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์ยิ่งกว่า และด้วยความหมายเช่นนี้แบบจึงเป็นจุดจบสัมบูรณ์ของสรรพสิ่ง[6](τέλος – telos) ด้วยในสภาวะเดียวกัน(และด้วยเหตุนี้เมื่อผมพูดถึงความดี ความดีจึงไม่ใช่คำทางศีลธรรมเท่านั้น ผมจะหมายความถึงสภาวะที่เป็นจุดจบดังกล่าวนี้ด้วยโดยนัยไปด้วยในเวลาเดียวกัน)

                และก่อนที่ผมจะกล่าวถึงการศึกษาซึ่งเป็นประเด็นที่ผมสนใจในส่วนแรกนี้ ผมจะกลับไปหาสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผมอีกสิ่งนั่นคือ άρετή - arete หรือที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า virtue และถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า คุณธรรม หรือ (คุณธรรม)ความสามารถ ซึ่ง ณ จุดนี้ผมจะพิจารณาว่า arete คือ อย่างไร กันแน่ โดยเริ่มจากในภาษากรีก arete คือสภาวะของจิตภายในมนุษย์ คือ สภาวะแห่งชีวิตที่ดี และสำหรับ พลาโต้คือปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจในสิ่งต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของความสมบูรณ์หรือแบบ และหาก eidos คือความดี(good/end)แล้วนั้น arete คือปัจจัย (όργανα organa) ที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจในความดี(the good–ness/the end-ness)[7] เช่นนี้แล้ว arete จึงเป็นสิ่งที่พลาโต้เห็นว่าคือ แก่น ของสรรพสิ่ง ซึ่งแก่นนี้คือปัจจัยให้มนุษย์เข้าใจ(แต่อาจจะเข้าไม่ถึง)ต่อสรรพสิ่งในโลก แก่นคือรูปแบบมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ที่มีอยู่จริง และมีหนึ่งเดียว ดังตัวอย่างที่พลาโต้ยกมาพรรณนา :

...ดังนั้น คุณธรรม(virtue)สมควรจะเป็นทั้งสุขภาพที่แน่นอน, ความงดงามที่แน่นอน และเป็นไปทั้งที่เป็นสภาวะที่ดีของวิญญาณ และกรทั้ง ความป่วยใข้, ความน่าเกลียด และความอ่อนแออันชั่วร้าย...[8]

                เช่นนี้แล้ว arete จึงเป็นสิ่งที่การศึกษาต้องให้ความสำคัญ เพราะในขณะที่การศึกษาคือสิ่งสำคัญยิ่งยวดในการสร้างจิตสำนึกของเยาวชนที่จะกลายมาเป็นพลเมืองที่ถูกควบคุมและให้ความสำคัญโดยรัฐ[9]  แต่อีกทางหนึ่งในสภาวะสูงสุดของการศึกษานั้นคือส่วนสำคัญในการสร้างมนุษย์ให้สามารถคำนึงถึงสังคมที่สมบูรณ์แบบ[10], คือส่วนสำคัญในการสร้างพลเมืองที่สมบูรณ์แบบ และถึงที่สุดคือส่วนสำคัญในการสร้างราชาปราชญ์ ซึ่งในเรื่องการศึกษาสำหรับพลาโต้ได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่าความรู้ และในกระบวนการแห่งการได้มาซึ่งความรู้(การศึกษา) นั้นพลาโต้เห็ว่ามาจากการรับรู้ของจิตซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ๔ ขั้นอันได้แก่(Πολιτεία. 510 e – 511e, 517 c, 518 c)

๑.      Είκασία – eikasia (imagining or perception ) พลาโต้ใช้อธิบายการรับรู้ที่ตาสัมผัสเข้ากับภาพแล้วรายงานสิ่งที่รับรู้สู่จิต ภาพที่รับรู้นั้นพลาโต้บอกว่าคือ ภาพเหมือน” Είκονεσ - eikones ที่มีความเป็นจริงน้อยกว่า แบบ ของภาพนั้นๆ เพราะมันการจำลองแบบ(Μίμεςης - mimesis) และเป็นเพียง ภาพที่หยิบยืม (Σύντροφος - syntrophos) ความเป็นจริงมาจากแบบ หรือ เป็นสิ่งที่จำลอง” - Αντανακλαστικός (antanaklastikos)[11] มาจากโลกแห่งแบบ  การที่มนุษย์ยอมรับภาพเพียงในระดับนี้ก็เหมือนกับว่าเป็นการหนีออกจากแบบที่เป็นจริง

๒.     Πίστισ – pistis (belief or conviction) ภาพที่รับรู้ในระดับแรกนั้น เมื่อคิดถึงสิ่งนั้น หมกมุ่นกับสิ่งนั้น และสร้างรูปร่างหน้าตาของสิ่งนั้น และเมื่อได้สัมผัสกับสิ่งนั้นด้วยประสาทสัมผัสก็จะยืนยันภาพที่เห็นว่าเป็นความจริง แต่สิ่งที่ได้จากการรับรู้นั่นเป็นไปตามพื้นฐานทางประสาทสัมผัสรับรู้ของแต่ละคน ซึ่งในขณะเดียวกับสำหรับคนอื่นๆนั้น การรับรู้ก็อาจแตกต่างออกไป (พลาโต้เรียกความรู้ที่ยังไม่เป็นความรู้ที่แท้จริงใน ๒ ระดับนี้ว่า ทัศนะ-Δόξα – doza(doxa)” )

๓.     Διανοια – dianoia (intellect or hypothetical) คือการก้าวพ้นโลกแห่งประสาทสัมผัส (ผัสสะ) เพื่อค้นพบสิ่งสากล ซึ่งพลาโต้ใช้วิธีแบบนักคณิตศาสตร์ หรือเรขาคณิต โลกของเหตุผลเป็นโลกของความรู้ที่บริสุทธิ์ สมบูรณ์ที่สูงส่ง เพราะเหตุผลจะทำให้ค้นพบบางหน่วยสัญลักษณ์(Symbolic)ของ แบบ ด้วยการตั้งสมมติฐานแล้วยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เห็นจริงแล้ว

๔.     Νόησις or Έπιστήμη – noesis or episteme(perfect intellect) ความรู้ระดับนี้เป็นความรู้ที่จิตรับรู้จากแบบโดยตรง โดยจิตจะแยกเป็นอิสระจากประสาทสัมผัส และรับรู้ถึงแบบโดยปราศจากสัญลักษณ์ ซึ่งก็หมายความว่าปราศจากสมมติฐานด้วย ณ จุดนี้จึงไม่มีข้อจำกัดของการรับรู้ ทำให้จิตค้นพบเอกภาพของแบบทั้งหลายในโลกแห่งแบบ ความรู้ที่เป็นระดับนี้จึงเป็นความรู้ที่แท้จริง และวิธีที่จิตจะเข้าถึงโลกแห่งแบบได้ก็ด้วย Διαλεκτική – dialectic[12] (การถกเถียงที่วางบนฐานของ logos ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางปรัชญา และเป็นวิธีที่โสคราตีสใช้หาความรู้)

                การเข้าถึงแบบของการศึกษาที่นั้นสำหรับพลาโต้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่ดีในสังคมการเมือง ซึ่งหากมองจากพัฒนาการของการได้มาซึ่งความรู้ทั้ง ๔ ขั้น จะเห็นว่าพลาโต้ให้น้ำหนักที่ จิต เป็นหลัก ซึ่งก็สนับสนุนกับทฤษฏีโลกคู่ขนานของเขา อีกทั้งจากบทสนทนาเรื่อง Meno[13] จะยิ่งพบว่าจิตคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่มนุษย์จะสามารถได้มาซึ่งความรู้ และ ได้มาซึ่งการเข้าใจและเข้าถึงโลกแห่งแบบ และความรู้ที่แท้จริงนั้นเอาเข้าจริงสำหรับพลาโต้แล้วไม่ได้มาจากอะไรทั้งสิ้นนอกจาก ความกรุณาแห่งสวรรค์(the grace of heaven)”[14] ซึ่งทำให้ผมสงสัยอย่างยิ่งว่า แล้วเมื่อใดกันที่มนุษย์จะรู้ตัวได้ว่า ความรู้ใดสวรรค์ประทานมา? และ ความรู้ใดที่ได้มาจากนรก?

                เหตุผลที่ผมตั้งคำถามเช่นนี้เพราะ ด้วยความที่ผมอ่านอย่างเคารพ(เท่าที่สามารถเป็นไปได้ที่สุดของผม)ผมมองเห็นเส้นแบ่งบางอย่างของการได้มาซึ่งความรู้ จะเห็นว่าจากทฤษฎีแบบของพลาโต้นั้น ความรู้คือวิถีทาง เข้าถึง โลกแห่งแบบ แต่ปัญหาก็คือช่วงระหว่างทางของกระแสธารของการได้มาซึ่งความรู้ของพลาโต้นั้นมี ๔ ขั้นตอน ที่หากมองพัฒนาการของความรู้นี้อย่างคร่าวๆแล้ว ดูราวกับว่า พลาโต้มองขั้นตอนนั้นต้องพัฒนาจาก ๑ àà à[15] จึงจะสามารถเข้าถึงความดี ที่แท้ แต่การที่ พลาโต้ถือว่าโลกมี ๒ โลก คือโลกแห่งความรู้ทางผัสสะ (Sensible World) และโลกแห่งความรู้ทางจิต (Transcendental World) นั้นการเข้าถึง ความดี ในโลกแห่งแบบจึงเป็นปฏิบัติการณ์ที่เข้าใจได้ง่าย แต่เข้าถึงได้ยาก ในประเด็นอย่างน้อยดังนี้

๑.       การที่โลกแห่งสสารเป็นเพียงเงาที่ลอกแบบมาจากโลกแห่งแบบ

๒.   พัฒนาการทางความรู้ในการเข้าถึงโลกแห่งแบบต้องเริ่มจากการรับรู้ (perception) ไปสู่การเชื่อ (belief) ที่เป็นความรู้อันได้มาจากโลกแห่งผัสสะ แต่พอเข้าสู่ช่วง การใช้เหตุผล (hypothetical) นั้นความรู้ที่ได้มากลับมาจากอีกโลกหนึ่งซึ่งการจะได้มาซึ่งความรู้ขั้นนี้ หมายความว่าใน ๒ ขั้นตอนแรก ความรู้ต้องเป็นในแบบที่ควรจะเป็นซึ่งสะท้อนมาจากโลกแห่งแบบ

การเข้าถึงโลกแห่งแบบจึงเกี่ยวพันกับได้มาซึ่งความรู้ ซึ่งหมายความว่า ปัญหาของการเข้าถึงโลกแห่งแบบอยู่ที่ความเข้าใจของมนุษย์ที่ได้มาซึ่งความรู้นั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่ามนุษย์ผู้นั้น หรือความรู้ที่เขาได้มานั้นจะเป็นสิ่งที่ผิด แต่เป็นเพราะมนุษย์ผู้นั้นและความรู้ที่ได้มา ไม่ใช่/ไม่เหมือน กับที่มีอยู่ในโลกแห่งแบบต่างหาก ซึ่งเป็นปัญหาในทางปรัชญาที่ผมขอเรียกว่า ปัญหาทาง สัมพัทธนิยม (Relativism) ที่ว่าในแต่ละชุด ความจริง/แบบ นั้นการ รับรู้/เข้าใจ/เข้าถึง นั้นต่างกันไปตาม มุมมอง-focus” ของแต่ละคนนั้นๆนั่นเอง[16] ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาของการรับรู้ที่ได้มา ด้วย ทัศนะของผู้ใดผู้หนึ่ง ที่เชื่อในสิ่งที่ได้รับรู้มา และได้คิดคำนวณอย่างมีเหตุผลแต่การใช้เหตุผลนั้นไม่สามารถเป็นภาพจำลองจากโลกของแบบ แต่มนุษย์ผู้นั้นก็เชื่อ และเข้าใจว่า ความรู้ของเขา/เธอ เป็นจริง(ดังในโลกของแบบ) แต่มนุษย์ผู้นั้น เชื่อ และ/หรือ ศรัทธา และ/หรือ มีปฏิบัติการ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้นั้น(ที่ถูกเชื่อว่าเป็นจริงดังในโลกของแบบ) จึงเป็นความรู้ในระดับที่พลาโต้ไม่ได้นิยาม เพราะเป็นความรู้ที่ก้าวข้ามขั้น belief แต่ไม่ถึง hypothetical(ย้ำว่าในทัศนะของพลาโต้) กล่าวคือความรู้นั้นได้ ค้าง อยู่เพียง doxa ซึ่งก็คือด้วยข้อจำกัดทางสภาวะบางอย่างของมนุษย์นี้เอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมเห็นว่าการศึกษาที่นำพาไปสู่ความดีจึงเป็นสิ่งที่ลักลั่น และเป็นปัญหาโลกแตกสำหรับผม และสำหรับมนุษย์ในโลกปัจจุบัน คำตอบที่มีมากมายในปัญหาทางปรัชญาหลายๆเรื่องไม่เคยถูกให้ข้อสรุป รวมถึงการศึกษาเรื่อง ประชาธิปไตย ที่ผมยกมาเป็นหัวข้อในงานชิ้นนี้ 
(มีต่อ)
คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการเมือง
หมายเลขบันทึก: 90192เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 17:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 mean  .....

เข้ามาเยี่ยม....

คิดว่า ถ้าไม่เรียนเรื่องนี้มาบ้าง คนเขียนคงจะมั่ว....

อันที่จริง คนเขียนไม่ได้มั่ว ...ถ้ามั่วก็คือคนอ่าน....

ขอยืนยันในฐานะเรียนปรัชญา...

เจริญพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท