การบริหารความขัดแย้ง (5)


พาดหัวข่าวมติชนรายวัน (6  เม.ย. 50  หน้า  26) “สภา ม.ศิลปากรชี้ชะตา วิวัฒน์ชัย พ.ค.”  ทำให้ผมถูกเพื่อนอาจารย์ถามว่า มีความเห็นอย่างไร ในกรณีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) กับความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย

ผมจึงเสนอความเห็นส่วนตัว ในทัศนะของผม เพื่อตอบเพื่อนอาจารย์เกี่ยวกับข่าวดังกล่าว ดังนี้
     คู่กรณีความขัดแย้ง ได้แก่อธิการบดีกับคณบดี 13 คณะ (คิดเป็นร้อยละ 92.85) จาก 14 คณะ
     กรณีความขัดแย้ง  คณบดีมีความเห็นว่าการบริหารงานของอธิการบดี นับจากรับตำแหน่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ไร้ประสิทธิภาพ ทำงานล่าช้า และไม่เอื้อต่อการทำงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร
     การดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีลำดับขั้นตอน ดังนี้
          1.  สภา มศก. ชุดที่มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี  ศรีอรุณ เป็นนายกสภาฯ แต่งตั้ง  นายชุมพล ศิลปอาชา(นายกสภาฯ คนปัจจุบัน) เป็นประธาน ได้สรุปผลการสอบสวน  และเสนอแนะให้ฝ่ายบริหาร(อธิการบดี) ปรับปรุงการบริหารงาน
          2.  สภา มศก. ได้ประชุมและอภิปรายเห็นว่า  ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมา  การบริหารงานของอธิการบดีไม่ดีขึ้น หากสภา มศก.ไม่ทำอะไร  รอเวลาให้อธิการบดีหมดวาระไปเอง  ก็จะไม่เกิดประโยชน์
          3.  สภา มศก.  จึงมีมติมอบให้นายกสภาและกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ไปคุยกับอธิการบดี เพื่อขอให้เสียสละลาออกจากตำแหน่ง ไม่อยากใช้มติถอดถอน เพราะจะเสียประวัติอธิการบดี
          4.  อธิการบดีไม่ลาออก  แต่ออกเอกสารชี้แจงต่อประชาคม มศก. แทน       
          5.  ในการประชุมสภา มศก. เดือนพฤษภาคม 2550 นายกสภาฯ จะรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ และขึ้นอยู่กับมติสภา มศก. ว่าจะถอดถอนหรือไม่

     จากการลำดับข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นว่า สาเหตุความขัดแย้งครั้งนี้ มาจากการบริหารมหาวิทยาลัย จึงควรจะศึกษาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร ดังนี้         
     1. การดำรงตำแหน่งอธิการบดี  รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย  อัตถากร  อดีตทำงานที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นานถึง 37 ปี และมีประสบการณ์บริหาร อาทิ รองอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษ คณบดีคณะพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย เป็นต้น เป็นคนนอกมหาวิทยาลัยศิลปากร  ที่ผ่านการสรรหา และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นอธิการบดี มศก.
     2.  ความคาดหวัง  คณบดี (13 คณะ) เป็นอาจารย์ประจำ มศก. การที่มีอธิการบดีที่มาจากภายนอกมหาวิทยาลัย จึงมีความคาดหวังสูง ในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหาร เมื่อพบว่าไม่เป็นไปตามความคาดหวัง(ของตนเอง) จึงเห็นว่าไร้ประสิทธิภาพ และทำงานล่าช้า ทั้งนี้ คณบดีอาจคาดหวังโดยยึดแนวคิดของ          ฟุลแลน (Prof.Dr.Michael Fullan) และคอลลิน (Collins) ที่จำแนกผู้นำไว้ 5 ระดับ คือ
          ระดับ  5  ผู้นำระดับสูง (Executive)  คือผู้ที่สามารถสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน
          ระดับ  4   ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ (Effective Leader) คือผู้ที่สามารถกระตุ้นทีมงานให้ไปสู่ความสำเร็จ
          ระดับ  3  ผู้จัดการที่มีสมรรถนะ (Competent Manager)  คือผู้ที่สามารถจัดคนให้เหมาะกับงานขององค์กร
          ระดับ  2  สมาชิกที่มีประโยชน์สำหรับทีม (Contributive Team member)  คือผู้ที่สามารถทำประโยชน์ให้เกิดแก่กลุ่มและองค์กร
          ระดับ  1  บุคคลที่มีความสามารถสูง (High Capable Individual) คือผู้ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ในฐานะผู้ผลิตผลงาน
     3.  วัฒนธรรมองค์กร  (Corporate Culture) ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมที่สร้างขึ้นจากคนในองค์กรโดยมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  และยึดถือปฏิบัติมาจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในองค์กรนั้นๆ ดังนั้น นิด้า (ของอธิการบดี) จึงมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกับ มศก. (ของคณบดี)             

อดีตอธิการบดีท่านหนึ่ง เคยพูดคุยกับผมว่า “การเป็นอธิการบดีนั้น ยิ่งเป็นนานยิ่งโดดเดี่ยว เข้าตำรายิ่งสูงยิ่งหนาว ดังนั้น เมื่อตั้งให้เป็นแล้ว หากจะให้ออก ก็หาบันไดลงให้ด้วย” ในทัศนะของผม กรณีที่เกิดขึ้น “ไม่มีใครผิด” แต่เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องยุติความขัดแย้ง จะบริหารความขัดแย้งอย่างไร? ไม่ให้มีฝ่ายผิด – ฝ่ายถูก หรือ ฝ่ายแพ้ – ฝ่ายชนะ

เมื่อเหตุการณ์ล่วงเลยมาจนบัดนี้  คนที่จะแก้ปัญหา หรือบริหารความขัดแย้ง คือ อธิการบดี  เมื่อเห็นว่า  องค์กรใหม่ คือ มศก. ไม่เหมาะสม กับการเป็นผู้นำของท่าน ทั้งวัฒนธรรมองค์กร และภาวะผู้นำของท่าน  ท่านตัดสินใจได้เองด้วยเหตุผล คือ มศก.ไม่เหมาะสมกับท่าน  หรือ ท่านไม่เหมาะสมกับมศก. 

การเปลี่ยนแปลงผู้นำทุกยุคสมัยมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ
     ข้อ 1.  เพื่อความเหมาะสม
     ข้อ 2.  ให้ดูข้อ 1

การบริหารไม่ยาก  แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด

หมายเลขบันทึก: 89250เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

สาเหตุของ"ความขัดแย้งระหว่างบุคคล" อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาด้วย  ก็คือ "ผลประโยชน์"  ในกรณีนี้ "เก้าอี้ตำแหน่งอธิการบดี"  ก็จัดเป็นผลประโยชน์ได้  ถ้ามีคนต้องการตำแหน่งนี้เกินหนึ่งคน  ความขัดแย้งระหว่างบุคคลก็จะเกิดทันทีเหมือนกัน

คนที่มีคุณลักษณะของ "ความ"เป็นผู้นำ  หรือ Leadership นั้น  ไม่มีหรอกครับที่เขาจะลาออกง่ายๆ

คงจะต้องอาศัยฝีมือของผู้แก้ปัญหาแหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท