การแจ้งการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย: การสื่อสารกับครอบครัว


ในสังคมไทยครอบครัวมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการรักษาค่อนข้างมาก การสื่อสารกับญาติเรื่องความเจ็บป่วยของผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมาก หากครอบครัวมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย ตลอดจนการรักษา และการพยากรณ์โรค ก็จะทำให้การรักษาดำเนินไปด้วยดี แนวทางในการสื่อสารเป็นเช่นเดียวกันกับการสื่อสารกับผู้ป่วย แต่อาจมีความยุ่งยากกว่าบ้างในกรณีที่ญาติมีความเห็นไม่ตรงกัน


ตารางแสดงขั้นตอนการสื่อสารกับญาติ

  • ประเมินผลกระทบของการเจ็บป่วยที่มีต่อครอบครัว
  • สำรวจความเชื่อความเข้าใจในอาการของผู้ป่วย
  • ให้ข้อมูลที่ตรงจุด
  • แสดงความสนใจความรู้สึกของญาติ
  • ส่งเสริมให้มีการสื่อสารปรึกษากันระหว่างสมาชิกในครอบครัวรวมทั้งผู้ป่วย

 จากตารางจะเห็นว่าขั้นตอนคล้ายคลึงกันกับการแจ้งผู้ป่วย ต่างกันเพียงแต่ในตอนท้ายจะเป็นการส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวถึงความเจ็บป่วยของผู้ป่วย เพราะสมาชิกทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไม่มากก็น้อย

 ปัญหาในทางปฏิบัติในบ้านเราคือ ควรบอกใครก่อนระหว่างผู้ป่วยกับญาติ? พบไม่น้อยที่แพทย์แจ้งญาติก่อน แล้วปรึกษากับญาติว่าเห็นควรบอกผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งในทางปฏิบัติบางครั้งอาจเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่แพทย์ผู้รักษายังไม่คุ้นเคยกับผู้ป่วยเพียงพอ อาจไม่แน่ใจว่าหากผู้ป่วยทราบการวินิจฉัยแล้วจะรับได้หรือไม่  อย่างไรก็ตามบางครั้งญาติอาจกังวลกลัวมากเกินไป มีผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อทราบว่าตนเองเป็นอะไรแล้ว กลับมีกำลังใจต่อสู้กับโรคมากขึ้น ร่วมมือกับแพทย์มากขึ้น 

ดังนั้น แม้ในช่วงแรกแพทย์อาจไม่ได้แจ้งผู้ป่วยเพราะญาติขอร้อง และแพทย์ไม่แน่ใจต่อปฏิกิริยาของผู้ป่วย แต่ในการพบผู้ป่วยเพื่อติดตามการรักษาแต่ละครั้งแพทย์ควรเพิ่มข้อมูลให้แก่ผู้ป่วยทีละน้อย ดูท่าทีว่าผู้ป่วยพอรับได้หรือไม่

หากค่อนข้างแน่ใจว่าผู้ป่วยพร้อมที่จะรับรู้ ก็ควรปรึกษาญาติเรื่องการแจ้งผู้ป่วยอีกครั้งหนึ่ง โดยชี้แจงถึงผลดีที่ติดตามมาหากผู้ป่วยได้ทราบว่าตนเองเป็นอะไร

หมายเลขบันทึก: 88172เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องนี้สำหรับบริบทเมืองไทยแล้วผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว และค่อนข้างมั่นใจว่า ยังไม่มีที่ไหนได้อภิปรายหรือวางหลักการ แนวทางปฏิบัติไว้ ต้องขอขอบคุณพี่มาโนชที่ set เวทีไว้ให้ด้วยครับ

เมื่อสองปีที่แล้วไปประชุมงาน Asia-Pacific Hospice and Palliative care conference ครั้งที่ 6th ที่กรุงโซล เกาหลี มีฝรั่งมาร่วมงานเยอะเหมือนกัน ต้องยอมรับว่า palliative medicine นี่ ฝรั่งเขา structure มาก่อนเรา เช่น อลิซาเบธ คูเบลร์อ รอส หรือ Dame Cicely Saunders ผู้ก่อตั้ง St Christopher Hospice ที่กรุงลอนดอนเป็นคนแรกมาสี่สิบปีได้แล้ว แต่พอมาถึงเรื่อง quality of life นี่ ฝรั่งก็งงเหมือนกัน ประเด็นเรื่องการสื่อสารกับญาติของคนตะวันออกนี่ ทำให้เจ้าของหลักสูตร palliative care ฝั่งตะวันตกตีไม่แตก และสับสนพอสมควร

ฝรั่งส่วนใหญ่คนไข้จะมี autonomy หรืออัตลักษณ์ที่หนักแน่นมั่นคง ทราบว่าตนเองต้องการอะไร ญาติก็สามารถทำตามได้ ไม่มีปัญหา เพราะคาดว่าเมื่อเวลาของตนมาถึง ก็หวังว่าคนอื่นๆจะตามใจตนเองเหมือนๆกัน

แต่บทบาทของครอบครัวในสังคมตะวันออกค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกันออกไป มีไม่น้อยที่ญาติกลายเป็นคน take over การตัดสินใจต่างๆ ทั้งๆที่คนไข้ยังรู้สติดีอยู่ และ practice ประเภทญาติเห้นพ้องต้องกันว่าคนไข้ไม่ควรทราบว่าตนเองเป็นอะไรก็สามารถพบเห็นได้เนืองๆ

และค่านิยม (ใช้คำนี้จะถูกรึเปล่าหว่า?) ตรงนี้ก็ยังมีหลากหลาย shades พี่เต็มศักดิ์เคยรวบรวมถามความเห้นไว้ ก็มีทุกแบบเลย แบบที่คนไข้ไม่อยากรู้ แบบที่คนไข้อยากรู้ ซึ่งก้มีทั้งคนไข้รู้แล้วอยากให้ญาติรู้ และไม่อยากให้ญาติรู้ ด้วยเหตุผลต่างๆนานา

ตรงนี้ผมคิดว่าสำหรับพวกเรา คงจะต้อง approach เรื่องนี้โดยนับญาติหรือครอบครัวเป็น unit เดียวกันกับคนไข้ หรือเกือบๆจะเป็นแบบนั้นเลยทีเดียว ถ้าจะมี precounseling คนไข้ บางทีเราก็มี precounseling ญาติด้วย

ความซับซ้อนของเรื่องนี้มีแม้กระทั่งเราอาจจะ offend คนไข้ได้เหมือนกัน ถ้าเรา (หมอ) ไปทำลับๆล่อๆกับญาติ สบตาอย่างมีความหมาย หรืออะไรที่เป็นนัยว่ารู้กัน เคยมีกรณีที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้เสียมาแล้ว เพราะหมอไปเน้น approach ญาติมากเกินไป จนกระทั่งถึงจุดที่สูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนไข้ และสถานการณ์ก็เลวร้าย เพราะความสัมพันธ์ระหางคนไข้และญาติที่ปกปิดก็ใช่ว่าจะดีด้วย คนไข้จะยิ่งถูก isolated และ depressed หรือ anger มากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาถึงจุดนี้คนไข้จะน่าสงสารมาก นั่นเป็นเพราะ dignity หรือศักดิ์ศรีอะไรของเขาถูกรบกวน หรือถูกลดลงไป พวกเราคงเคยได้ยินเรื่องเล่าประเภทรู้วินิจฉัยจากคนเข็นเปล จากพยาบาล จากนักศึกษาแพทย์ ฯลฯ

สรุปคือขอไม่สรุปดีกว่า

เนื่องจากหนูเรียนวิชาการสื่อสารซึ่งได้หัวข้อการสือสารกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น หนูไม่รู้หนูจะสื่อสารกับเขาอย่างไรคะ ช่วยแนะนำหนูหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท