ความทรงจำปัจจุบัน : ลำน้ำเสียว...กับค่ายสายธารปัญญาชนที่ร้อยเอ็ด


ค่ายครั้งนั้น - แม้นิสิตที่ไปร่วมค่ายอาจไม่มากนัก แต่ก็ไม่ถือว่าน้อยจนทำงานกันไม่ได้
 

อันที่จริงผมตั้งใจจะไม่เข้าไปทำงาน  เพราะต้องการให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนอย่างเต็มที่  ตื่นสาย ๆ ...  เก็บตู้หนังสือ  อ่านหนังสือและให้เวลากับการคิดถึงคนและสถานที่ต่าง ๆ  อันจะช่วยนำพาซึ่งพลังกายและพลังใจมาสู่ตัวเอง

  

กระนั้นผมก็ถูกปลุกด้วยเสียงโทรศัพท์  ... และตัดใจไม่ได้ที่จะเข้าไปที่ทำงาน  เพราะมีนิสิตและเจ้าหน้าที่ต้องการหารือเรื่องงานกับผม ...

  

อย่างไรก็ตาม  ก่อนที่เดือนมีนาคม.. หรือเดือนที่ผมเรียกว่า เดือนแห่งพันธกิจทางกิจกรรม  จะล่วงผ่านไป  ผมก็ยังอยากที่จะรำลึกถึง ความทรงจำปัจจุบัน  บนถนนสายกิจกรรมของตนเองอีกสักเรื่อง  นั่นก็คือ  การได้มีโอกาสไปเยือนค่ายสาธารปัญญาชน    เมืองเกินร้อย

  .....  

๑๒ - ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชาวพลังสังคมได้จัดค่าย "สายธารปัญญาชน" ขึ้นที่โรงเรียนบ้านนาแค ต.ขี้เหล็ก อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด

ค่ายครั้งนั้น - ผมมีโอกาสได้ไปเยือน ๓ ครั้ง ,

ครั้งแรกไปส่ง อ.วุฒิพงศ์   สัตยวงศ์ทิพย์  (ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนชื่อเป็น พุฒิพงศ์) และอ.วิลาสิณี    โดยมีรถยนต์ส่วนตัวของผมเป็นพาหนะนำพาลงสู่พื้นที่และครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้จักกับท่านอ.วิลาสิณี โดยอ.วุฒิพงศ์แนะนำให้รู้จักในฐานะ "ผู้ปกครอง" คนใหม่ของพลพรรคพลังสังคม

 

ส่วนครั้งที่สอง   คือการไปรับอาจารย์ทั้งสองกลับออกจากค่าย และครั้งที่สามไปร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีองค์การนิสิต

เส้นทางไปค่ายตัดจากถนนหลวงลัดเลาะไปตามหมู่บ้านไม่ลำบากยากแค้นนัก  แต่ก็ไม่ถึงกลับสะดวกสบาย     ทางแยกจากถนนหลวงหากเลี้ยวขวาจะเข้าสู่ตัวอำเภอปทุมรัตต์  เลี้ยวซ้ายเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งมีระยะทางร่วมประมาณ ๗ - ๑๐ กิโลเมตร และที่จำได้แม่นจำก็คือทางแยกมีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นแห้งตายตระหง่านอย่างเด่นชัด   อีกทั้งก่อนเข้าสู่ตัวบ้านจะมีสะพานคอนกรีตทอดตัวข้ามลำน้ำเสียว โดยมีถนนลูกรัง ขรุขระและแคบเป็นทางยาว

ในห้วงก่อนที่ค่ายจะเริ่มต้นขึ้น พลังสังคมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมนี้ทั้งคัตเอาท์และแผ่นปลิว มีหลายข้อความที่เป็นวาทกรรมที่นำมาใช้เป็นกระบอกเสียงเชิญชวนให้ผู้คนร่วมเดินทางไปกับชาวพลังสังคม อาทิ

"ค่ายสายธารปัญญาชน จะนำท่านไปพบกับหมู่บ้านที่สะท้อนภาพสังคมอีสานได้อย่างแท้จริง ท่ามกลางผืนนา ท้องไร่ พร้อมกับล่องแพลำน้ำเสียว"

ขณะที่หมู่บ้านและโรงเรียนไม่ถือว่าใหญ่โตนัก  ด้านหลังโรงเรียนมีลำน้ำเสียวตัดผ่าน ปริมาณน้ำปีนั้นมีเยอะและไหลหลากเกินกว่าที่จะล่องแพได้ 

สำหรับผมแล้ว ไม่มีความทรงจำและวีรกรรมตำนานใดกับลำน้ำเสียว  แต่สำหรับท่านอาจารย์วุฒิพงศ์แล้ว "ตัวตน" ของท่านชัดเจนและเป็นที่รู้จักในแวดวงนักสู้ลุ่มน้ำเสียวมิใช่น้อย เนื่องเพราะสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เคยขับเคลื่อนเคียงข้างกับชาวบ้านลุ่มนี้อยู่เป็นเวลานาน ขณะที่บทบาทของคนกิจกรรมของชาว มศว มค กลับมีไม่มากและไม่ชัดเจนเหมือนฟาก ม.ขอนแก่น



ผมไม่ได้ค้างแรมที่ค่ายร่วมกับอาจารย์ทั้งสองท่าน และนัดหมายว่าจะมารับในวันหลัง เพื่อให้ผู้อาวุโสทั้งสองได้พูดคุย เสวนา และ "คิดการณ์ใหญ่" กับนิสิตอย่างถึงลูกถึงคน  ดีไม่ดีมีผมอยู่ตรงนั้น จะพูดอะไร ก็อาจไม่เต็มที่เต็มสูบเท่าใดนัก โดยเฉพาะเผื่อมีการเสวนาเรื่องกลไกกิจกรรมที่ต้องพาดพิงถึงกองกิจฯ อาจทำให้บรรยากาศไม่ลุ่มลึกในเชิงข้อมูลก็เป็นได้



ผมไม่รู้หรอกว่า อ.วุฒิพงศ์จะพูดคุยกับนิสิตในเรื่องใดบ้าง แต่ค่อนข้างแน่ใจว่าท่านจะสร้างแจงจูงใจเรื่อง "จิตสำนึก" นิสิตที่มีต่อ "พันธกิจ" ของความเป็น "สังคม" อย่างแน่นอน

 

ด้วยโวหารและประสบการณ์จริงของท่านจึงมีพลังพอที่จะปลุกเร้าให้ผู้ร่วมชะตากรรมในค่ายฯ ได้ท่องโลกอุดมคติของหนุ่มสาวอย่างมีชีวิตชีวา และที่หลีกหลบและหล่นหายไปไม่ได้ก็คือ การย้อนตำนานการต่อสู้เพื่อผู้ยากไร้ในลุ่มน้ำเสียวแห่งนี้...

ผมเองก็อดอิจฉาชาวพลังสังคมไม่น้อยที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีเลือดกิจกรรมข้นและเข้มคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด   แต่ก็ไม่เคยเสียใจที่เคยแนะนำให้นิสิตไปเชิญ อ.วุฒิพงศ์ มาดูแลชาวพลังสังคม   เพราะเมื่อมีท่านอยู่กับนิสิต ผมก็ยังสบายใจได้ว่า นิสิตจะไม่หลุดหายออกไปจากความเป็น "สังคม"

ค่ายครั้งนั้น - แม้นิสิตที่ไปร่วมค่ายอาจไม่มากนัก แต่ก็ไม่ถือว่าน้อยจนทำงานกันไม่ได้   เพราะสนามกีฬาที่สร้างจำกัดด้วยงบประมาณที่รัดตัว   ขนาดของสนามจึงไม่ใหญ่โตเท่าที่ควรจะเป็น

โรงเรียนติดกับวัด... มีบ้านพักนักการอยู่หลังหนึ่ง   มีโรงครัวที่ดูเหมือนเป็นอาคารอเนกประสงค์ที่ถูกแปรสภาพเป็นที่พักเก็บครุภัณฑ์นานาชนิดของโรงเรียน ซึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือตู้ลำโพงทรงสูงและเครื่องเสียงที่กลายมาเป็นเครื่องบันเทิงที่ขาดไม่ได้ในทุกค่าย



ชาวพลังสังคมมีรุ่นพี่ที่เป็นศิลปินร้องเพลงเก่ง ช่วยเติมบรรยากาศของค่ายให้คึกครื้น รวมถึงการเป็นสื่อสัมพันธ์กับน้อง ๆ ตากลม ๆ ก้นดำ ๆ ให้ซุกซนอย่างมีเสน่ห์

ผมจำเพลงที่ร้องและจับเด็กมาเต้นประกอบเพลงได้อยู่เพลงหนึ่ง คือ  "รถตุ๊ก ๆ บรรทุกถ่าน รถขึ้นสะพาน ชักกระตุก ชักกระตุก" (ทำนองนี้) ซึ่งเด็ก ๆ ก็ดูจะชื่นชอบและชื่นชมอยู่มากโข และโดยส่วนตัวผมก็ลักจำเอาเพลงนี้มาเล่นกับลูก ๆ ที่บ้านด้วยเช่นกัน



....

พลังสังคมกลับไปที่นั่นอีกครั้งในช่วงปี ๒๕๔๗ เป็นการไปทอดผ้าป่าที่วัดบ้านนาแค โดยพี่ปราโมทย์ ลาดจำปา เป็นหัวเรือใหญ่   มีรถบัสเหลืองมหา'ลัย  เป็นหน้าเป็นตาไปอวดโฉมชาวบ้าน

การทอดผ้าป่าครั้งนั้น จริง ๆ แล้วเป็นช่วงเดียวกับที่มีขบวนผ้าป่ามาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรืออื่น ๆ อีกหลายที่มาทอดถวาย เพียงแต่องค์การนิสิตไปทอดถวายสมทบเป็น "กองทุน" เท่านั้นเอง

ผมจำไม่ได้ว่าเงินทอดถวายนั้นกี่บาทกี่ตังค์กันแน่ แต่ไม่น่าจะต่ำกว่า ๕ หมื่นบาท บางส่วนที่ส่งมาไม่ทันผมก็รวบรวมมอบให้นิสิตนำถวายเจ้าอาวาส ในคราวหลัง

ถึงแม้การทอดผ้าป่าจะเริ่มต้นด้วยความขลุกขลัก เพราะเร่งรัดด้วยเวลา แต่เจตนาดีก็นำพาให้กิจกรรมครั้งนั้นดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


จากค่ายสายธารฯ มาถึงการทอดผ้าป่าในครั้งนั้น สิ่งที่น่ายกย่องก็คือการทำกิจกรรมต่อเนื่องกับชุมชน มิใช่สร้างแล้วจากหาย แต่ยังเวียนกลับไปพบปะและสร้างประโยชน์กับชุมชนอีกครั้ง ซึ่งอย่างน้อยก็มิใช่ครั้งเดียวแล้วจากหายไปเลย และโดยปกติ ถ้าพลังสังคมจัดค่ายที่ไหนก็มักไปจัดวันเด็กกันที่นั่น  แต่ที่บ้านนาแค พิเศษก็คือการไปทอดผ้าป่านั่นเอง

สำหรับผมแล้ว..  เมื่อนึกถึงค่ายสายธารปัญญาชนที่บ้านนาแคครั้งใด   ผมมักจะมีภาพให้หวนรำลึกอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ยืนต้นแห้งตาย  ลำน้ำเสียว สะพานคอนกรีต วัดและซองผ้าป่า รวมถึงอาจารย์วุฒิพงศ์และอาจารย์วิลาสินี   (แต่ก็อดเสียดายมาจนทุกวันนี้ที่ไม่ได้นั่งฟังเรื่องเล่าจากท่านอาจารย์วุฒิพงศ์)  เพราะท่านเองก็มีความทรงจำที่เป็นปัจจุบันกับลุ่มน้ำเสียว มีตัวตนที่ชัดเจนกับวิถีการต่อสู้ ณ ลุ่มน้ำสายนั้น

 

แต่สำหรับพลังสังคม ผมไม่รู้หรอกว่า.. พลพรรคพลังสังคม จดจำ จารึกเรื่องราวใดบ้างกับค่ายสายธารฯ ณ  ลุ่มน้ำเสียว

และนี่คือ  ความทรงจำอันเป็นปัจจุบันอีกเรื่องหนึ่งบนถนนสายกิจกรรมของผม

หมายเลขบันทึก: 87522เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2007 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

ที่นี่  มีคนรออยู่ค่ะ..ดีใจที่เห็นความเข้มแข็งอีกครั้ง..

ถึงพี่พนัส

สมัยผมเรียน ป.ตรี ประมาณเมื่อ 10 ปีก่อน ใครพูดถึง อำเภอปทุมรัตน์ ต้องพูดถึง บ้านผีปอบ (มีคนเคยเล่ากันต่อๆมาว่ามันมีจริง มีคนเจอมากับตาแล้ว)

พอมาปัจจุบัน อะไรมันเปลี่ยนไปมาก จึงคิดขำขำ เรื่องเล่าพวกนี้เช่นกัน

หรือว่ามีจริงๆ ก็ไม่รู้?

แจ๊ค

สวัสดีครับ...คุณเบิร์ด

P

ขอบคุณมากครับ,  วันนี้ผมดีขึ้นเยอะ  ได้พักในช่วงเช้า  แต่ก็ตัดใจจากงานไม่ลง  เพราะมีน้องนิสิตและเจ้าหน้าที่รอปรึกษาอยู่ที่ทำงานเลยต้องแวะเข้าไป  ซึ่งก็เพิ่งกลับมาถึงบ้านเมื่อครู่นี่เอง  ครับ

แต่การงานวันนี้ก็ช่วยบำบัดเยียวยาชีวิตได้บ้างเหมือนกัน

.....

ที่นี่...(มีปัญหาผมคลิกเข้าไปไม่ได้)

.....

ขอบคุณมากครับ

แจ๊ค  ครับ...

P

ไม่ต้องพูดถึงปทุมรัตน์  ..ที่บ้านพี่เองก็เคยเห็นว่ามีการจับปอบกันเหมือนกัน...ตอนเด็ก ๆ กลัวมาก  และเมื่อได้เห็นพิธีกรรมนั้น  ยิ่งรู้สึกกลัวเป็นที่สุด  (กลัวปอบกินตับ)

.....

 เคยไปออกค่ายที่นครพนมก็มีเรื่องเล่าเช่นนี้เหมือนกัน  ชาวบ้านรุมไล่คนนั้นออกจากหมู่บ้าน...น่าสงสารมากครับ

...

ขอบคุณครับ

 

 

ที่นี ของคุณเบิร์ด คือ Link ข้างล่างนี้ครับ...

http://gotoknow.org/blog/LifeLearning/87404

ขอบคุณครับ...

ขอบคุณมากครับ
P
โลกไม่เงียบเหงา  เพราะยังมีคนให้เราได้คิดถึง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท