รัฐฮุบเงิน ‘ประกันภัยพรบ.’ โปะ 30 บาท


รัฐฮุบเงิน ‘ประกันภัยพรบ.’ โปะ 30 บาท
            สาธารณสุขหนุน สนช. แก้กฎหมายรับโอนกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 1.8 พันล้านบาท เข้าโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า             น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายอัมมาร สยามวาลา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานการศึกษาแนวทางการจัดหางบประมาณที่ยั่งยืน เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เพื่อนำเงินจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ เข้ามาสมทบงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า โดยให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็น ผู้ดูแล   ทั้งนี้ เชื่อว่าประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์มีการเบิกจ่าย   ค่ารักษาพยาบาลในส่วนกองทุนผู้ประสบภัยจากรถไม่มาก ส่วนใหญ่จะเบิกจ่ายจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ              นอกจากนั้น ปัจจุบันบริษัทประกันภัยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการถึง 40% เหลือเพียง 60% ที่นำมาใช้ในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ประสบภัย  ดังนั้น หากโอนมายัง สปสช. แล้วจะทำให้การบริหารจัดการทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น   หากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และ สนช. จะทำให้มีเงินจำนวนมากเข้ามาอุดหนุนโครงการ  แทนที่จะส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้บริษัทเอกชนเป็น ผู้บริหารจัดการน.พ.มงคล กล่าว             น.พ.มงคล กล่าวว่า ประชาชนสามารถชำระเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยตรงที่กรมการขนส่งมวลชนได้ ไม่ต้องจ่ายผ่านเอกชน ซึ่งงบประมาณเหล่านี้จะถูกโอนไปให้กองทุนด้านการรักษาพยาบาลโดยตรง  ยอมรับว่า การโอนเงินกองทุนผู้ประสบภัยมาไว้ที่ สปสช. นั้น ทางเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก และสูญเสียเงินจำนวนมากจากการแก้ไขกฎหมายนี้ และอาจมีกระแสการต่อต้านตามมา โดยเฉพาะบริษัทประกันภัย และผู้รับทำ พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถที่มีอยู่ทั่วไป แต่เราจำเป็นต้องทำ และคิดว่าได้ทำสิ่งที่ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดน.พ.มงคล กล่าว             นายภิญโญ บุญนำ ผู้อำนวยการสำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมการประกันภัย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมีเงินกองทุนประมาณ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารตามกรอบระเบียบของ พ.ร.บ.ทำให้มีเงินสดเหลืออยู่จำนวนมาก

            แหล่งข่าวจากบริษัทประกันภัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา กองทุนประกันสุขภาพบริหารงานไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ต้องยึดธุรกิจของเอกชนมาเป็นของตัวเอง  สปสช. เป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการที่ล้มเหลว แต่ไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริง ซึ่งบริษัทประกันภัยที่มีกำไร เป็นผลมาจากระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับ 40% ของเบี้ยรับรวม จากการดูแลคน 20 ล้านคนแหล่งข่าวกล่าว 

            ขณะที่ สปสช. มีค่าบริหารจัดการต่อหัวสูงกว่า 80% ของค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายรายหัวประมาณปีละ 2 พันบาท คิดเป็นงบประมาณมากถึงปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท ในการดูแลคน 43 ล้านคน หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วโรงพยาบาลมีส่วนต่างเพียงแค่ 300 บาทต่อหัวเท่านั้น ทำให้โรงพยาบาลจะรับผู้ประสบภัยจากรถเข้ารับการรักษามากกว่า   ทั้งนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมากับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและตัวแทนขายประกันภัย พ.ร.บ.ทั่วประเทศด้วย โพสต์ทูเดย์ 24 มี.ค. 50
คำสำคัญ (Tags): #ประกันสุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 86506เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท