ศก. ตกไม่รุนแรง "สุรยุทธ์" ยัน-ปัดคลังขัด ธปท.


ศก. ตกไม่รุนแรง "สุรยุทธ์" ยัน-ปัดคลังขัด ธปท.
        บาทแกว่งยวบ 30 ส.ต. สะพัดใบสั่งแบงก์ช้อน "บาท" อ่อนยวบวันเดียว 30 ส.ต.  สะพัด ธปท.สั่งแบงก์เข้าช้อนซื้อดอลลาร์ "ธาริษา"  โวย ปธ.สมาคมธนาคารถ่ายทอดคำพูดเพี้ยน ปมข่าวลือ  นายกฯ เรียกประชุมทีม ศก. ยอมรับห่วง "บาทแข็ง"  สั่ง "โฆสิต" เร่งทำความเข้าใจ ปชช. เรื่อง ศก. พร้อมถกเอกชนหามาตรการช่วย 27 มี.ค. หอค้าวอนแบงก์ชาติเร่งลดดอกเบี้ย 1%            เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกทีมเศรษฐกิจมาพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)   นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ             พล.อ.สุรยุทธ์เปิดเผยว่า นายโฆสิตได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในระยะเบื้องต้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการทำงานในภาครัฐที่ต้องขับเคลื่อนงบประมาณไปสู่ราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ทั้งนี้นายโฆสิตและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ชี้แจงในภาพรวมให้ประชาชนรับทราบต่อไป ส่วนเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังจะดูรายละเอียดและชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าจะทำอะไรอย่างไร            ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการคลัง รู้สึกเป็นห่วงกับเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนมีความกังวล แต่ก็คิดว่า ธปท. และกระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะชี้แจงเรื่องเหล่านี้ต่อไป"             จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ปัญหาด้านเศรษฐกิจขณะนี้คือมีการชะลอตัวลงมานิดหน่อย ส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้างในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย แต่ไม่รุนแรง จึงมีการเปิดตัวโครงการอยู่ดีมีสุขที่จะให้มีเงินลงไปสู่ฐานรากประมาณ 1 หมื่นล้านบาทภายในปีงบประมาณ 2550 และจะมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551  ส่วนการลงทุนขณะนี้ไม่ได้ลดลง แต่ 2-3 เรื่องหลักอาจกระทบบรรยากาศการลงทุน เช่นมาตรการกันสำรอง 30% การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็นต้น แต่รัฐบาลกำลังปรับแก้            พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึงกระแสความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับ ธปท. ในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่รับผิดชอบ รัฐบาลไม่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของ ธปท. แต่มีหน้าที่กำกับดูแล  "อย่างการเปลี่ยนแปลงของเรื่องค่าเงินบาทก็อยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท. โดยมีกระทรวงการคลังคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะรัฐมนตรีคลังก็มองภาพในเรื่องนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ท่านให้ข้อคิดเห็นว่าเราควรดูแลเรื่องความเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด เราไม่ควรทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากจนเกินไปแล้วส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อตลาด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย นี่คือปัญหาที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งหากจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรแต่ละครั้งในด้านการเงินการคลัง" พล.อ.สุรยุทธ์กล่าว            นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนไม่ใช่นักเศรษฐกิจ แต่ก็ดูอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราในสกุลต่าง ๆ เช่น เงินสกุลยูโรก็แข็งค่าขึ้นร้อย 12   หากเทียบกับสกุลดอลลาร์ ตรงนี้จะเห็นว่าเป็นเพราะดอลลาร์อ่อนลงทั่วโลก  อย่างไรก็ตามต้องดูว่ามีปัจจัยอื่นภายในประเทศหรือไม่ หากไม่เห็นปัจจัยอื่นนอกจากเป็นเพราะดอลลาร์อ่อนทั่วโลก คงเป็นเรื่องยากที่จะไปแก้ เพราะทุ่มไปเท่าไรก็ลำบาก             นายโฆสิต กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้สรุปผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม  2 ครั้งที่ผ่านมา ให้นายกรัฐมนตรีได้ทราบถึงความคิดเห็นของทุกภาคส่วน  และหลังจากนี้ สศช. จะสรุปเป็นรายงานเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่นอกเหนือความควบคุม เช่นค่าเงินที่มีหลายปัจจัยมารุมล้อม รวมทั้งชี้แจงประชาชนว่าเวลานี้คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมที่ดูแลและรับฟังสถานการณ์เศรษฐกิจร่วมกัน และหลังจากนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจจะเดินทางมารายงานความคืบหน้าในการทำงานให้นายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ            นายโฆสิตกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือร่วมกันถึงการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ค้าขายคล่องตัว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวแข่งขันทันกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยได้ข้อสรุป          ในเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าว่าจะหารือร่วมกับภาคเอกชนในวันที่ 27 มีนาคม ก่อน โดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 และ 3 จะยังสามารถขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสม เพราะโครงการต่าง ๆ จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เช่น โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ติดขัดเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กำลังเร่งสรุปเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายในไตรมาส 3             ส่วนการดูแลเรื่องค่าเงินบาท นายโฆสิตกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างการประชุมว่าต้องการให้ชี้แจงกับประชาชนเข้าใจด้วยเช่นกันว่าเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาแบบเปรียบเทียบระหว่างประเทศ หากเงินบาท เงินมาเลเซีย และเงินดอลลาร์แข็งเหมือนกันก็ไม่เป็นไร และ ธปท. ก็มีข้อมูลอยู่แล้ว จึงมอบให้ ธปท.ไปศึกษาจะดีที่สุด       แต่ที่ประชุมไม่ได้คุยกันเรื่องค่าเงินบาท และมาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องดูแลและตัดสินใจด้วยตัวเอง  "ถ้าถามว่าห่วงเรื่องค่าเงินบาทหรือไม่ ต้องตอบว่ากังวล แต่ถือเป็นสถานการณ์ที่ประสบกันทั้งโลก ไม่ได้เจอเฉพาะประเทศไทย และเสียงสะท้อนจากภาคส่งออกที่กังวลว่าค่าเงินบาท   อาจจะแตะที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ คิดว่าคงจะไม่ใช่ ต้องดูโดยเปรียบเทียบมากกว่า คิดว่าภาคเอกชนเข้าใจดี" นายโฆสิตกล่าว             นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ธปท.จะต้องดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีเสถียรภาพต่อไป รวมถึงจะต้องดูแลให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ ได้มีการรายงานถึงภาวะเศรษฐกิจว่าชะลอลง รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  โดยต้องพยายามหาเม็ดเงินใส่ลงไป ทั้งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งปล่อยสินเชื่ออย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ รวมถึงเร่งให้นักลงทุนเอกชนร่วมมือด้วย   "โดยทั่วไปนักลงทุนก็ยังคงเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขชี้ว่าการลงทุนและการบริโภคในประเทศลดลง เพราะทุกฝ่ายรีรอให้มีการ 

ลด
ดอกเบี้ยลง ซึ่งแนวโน้มก็คงจะลดลงมาอีก" นายฉลองภพกล่าว และว่า สถานการณ์ค่าบาทที่แข็งค่าตลอด 1 ปี ที่ผ่านมาจนตอนนี้ค่าบาทแข็งมาก ถึงจุดหนึ่งค่าบาทอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงก็ได้ เพราะตลาดอาจมองว่า ค่าบาทแข็งมานานแล้ว             วันเดียวกัน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ซึ่งมีนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน             ก่อนการประชุม นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกรรมการระบบ  การชำระเงิน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังตกเป็นผู้ต้องหาในการทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วงนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงแล้วผู้ส่งออกได้เทขายดอลลาร์ในปริมาณที่ทำให้ค่าเงินบาทเป็นเช่นในปัจจุบันหรือไม่ แต่ยอมรับว่า    คงมีผู้ส่งออกบางรายขายสัญญาซื้อขายอัตราแลกล่วงหน้า (Forward) ก่อนครบกำหนดจริง เนื่องจากเกรงว่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีก   "อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันได้ปรับตัวแข็งค่าจนน่าจะถึงจุดที่ทำให้ต่างชาติต้องหันกลับมาคิดว่าการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทคงจะมีกำไรลดลง" นายประมนต์กล่าว             นายประมนต์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดว่าทางคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย (กกร.) ต้องการให้ ธปท. ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%     ทั้งที่ กกร. เพียงแต่มีความเห็นว่าหาก ธปท. มีมาตรการอื่นที่เหมาะสมมาทดแทนและสามารถดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพก็เป็นสิ่งที่ทำได้  "สิ่งที่ภาคเอกชนเสนอกันอย่างมากคือ ให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตัวเลขที่พูดกันคือปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.5% หรือปรับลดเพียงครั้งเดียว 1% ซึ่งทางสภาหอการค้าเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินไม่ว่าจะเลือกใช้   วิธีใดก็ตาม เพียงแต่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ให้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยจะช่วยทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจฟื้นตัวได้ จนนำไปสู่การลงทุนขยายกำลังการผลิต" นายประมนต์กล่าว             สำหรับความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งระบุว่า ตลอดทั้งวันเงินบาทแกว่งตัวอย่างรุนแรงมาก เปิดตลาดที่ 34.70-34.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นเงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยอ่อนตัวสูงสุดที่ระดับ 35.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทั่งมาปิดตลาดที่ 35.01-35.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงถึง 30 สตางค์ต่อดอลลาร์ ในเวลาเพียงวันเดียว ซึ่งถือว่าค่อนข้างผิดปกติ             นักค้าเงินระบุว่า เหตุผลที่เงินบาทอ่อนค่าลงรวดเร็วเป็นผลจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ตลาดตีความการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี หลังการประชุมทีมเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าทางการน่าจะต้องมีมาตรการบางอย่างออกมาสกัดเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผู้ส่งออกหยุดขายดอลลาร์ 2.มีธนาคารพาณิชย์เข้าช้อนซื้อดอลลาร์สหรัฐเก็บจำนวนมากเพื่อรอเก็งกำไร เพราะคาดว่า ธปท. จะต้องมีมาตรการออกมาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าปัจจุบัน   อย่างไรก็ตาม นักค้าเงินรายหนึ่งเปิดเผยว่า มีข่าวลือว่า ธปท. ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาหารือเกี่ยวกับการดูแลค่าเงินบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์เข้ารับซื้อเงินดอลลาร์ จนทำให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อดอลลาร์ในวันนี้จำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง            หลังจากนั้น นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลจากข่าวลือ       ที่เกิดขึ้นหลากหลายในตลาด ซึ่งยืนยันว่า ธปท.ไม่ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาหารือ แต่ได้มีการพูดคุยกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งไม่รู้ว่านายอภิศักดิ์ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ได้พูดคุยกันอย่างไร จึงทำให้สถานการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลง  เป็นผลจากข่าวลือที่มีมากมายในตลาด ส่วนที่ธนาคารพาณิชย์เข้าไปช้อนซื้อดอลลาร์จำนวนมากนั้น คิดว่าคงมีเหตุผลของแต่ละรายที่ตนพูดไม่ได้มติชน (บางส่วน) 24 มี.ค. 50
คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 86505เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2007 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท