ไขก๊อกประสบการณ์ KM Research 2


การศึกษาในประเทศฝรั่งเศสเปิดกว้างที่อาจารย์จะสนใจเรื่องที่แปลกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง และคนฝรั่งเศสมีแนวโน้มเป็นนักคิด ชอบการพูดคุยอภิปรายความคิดอย่างจริงจัง
การเปรียบเทียบในครั้งนี้เป็นการมองจากมุมแห่งโอกาส จากจุดเริ่มต้น ที่แตกต่างกัน และบรรยากาศ ที่หล่อหลอมการเรียนรู้

ประการที่1.

ตนเอง: การเริ่มต้นจากฐานวิชาการของตนเอง มีโจทย์ ปัญหาการวิจัยชัดเจน KM เข้ามาภายหลัง

ภูมิหลังการศึกษาด้านการสื่อสารมวลชนบวกกับการทำงานในหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์เกือบยี่สิบปี ทำให้สนใจศาสตร์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communication) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทยยังไม่มีการเรียนการสอนโดยตรงในระดับปริญญาโท-เอก เมื่อพบปํญหาของตนเองที่ต้องการหาคำตอบและทำความเข้าใจ  KM/Knowledge Creation จึงถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจในกระบวนการบูรณาการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่

    นักศึกษาไทย(ที่พบ):มักเริ่มด้วยความตั้งใจจะทำวิทยานิพนธ์ด้าน KM
                            จึงมักทำให้พบปัญหาอย่างที่ดร.แสวงเขียนไว้ใน blog นักศึกษาบางคนยังไม่เข้าใจศาสตร์ในสายวิชาการของตนดีพอ มองไม่ออกว่าอะไรคือปัญหาที่  ศาสตร์ของตนจะเข้าไปมีส่วนในการแก้หรือสร้างเสริมประสิทธิภาพ จึงยิ่งทำให้งงเมื่อจะนำKMไปใช้ก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปไว้ที่ไหน KM ถูกมองแบบแยกออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่สามารถบูรณาการศาสตร์ของตนกับ KM ได้

ประการที่ 2. 

ตนเอง: ได้ อยู่ในบรรยากาศที่เปิดกว้างทางวิชาการ การยอมรับแนวคิดใหม่ และจังหวะดี(ในเรื่องที่ทำ)
การศึกษาในประเทศฝรั่งเศสเปิดกว้างที่อาจารย์จะสนใจเรื่องที่แปลกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง และคนฝรั่งเศสมีแนวโน้มเป็นนักคิด ชอบการพูดคุยอภิปรายความคิดอย่างจริงจัง ประกอบกับ อาจารย์หลักทีดูแลวิทยานิพนธ์ มีความสนใจวัฒนธรรมทางเอเชียเป็นทุนอยู่แล้วทั้งจีนและญี่ปุ่น (ดูจากหนังสือที่เขียนสองเล่มนี้ได้  Le réveil du samouraï. Culture et stratégie japonaises dans la soiciété de la connaissance. Ed. Dunod, Paris, oct. 2006., Comprendre et appliquer Sun Tzu. La pensée stratégique chinoise : une sagesse en action. Paris: Dunod, 2004)ละเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ฝรั่งใช้คำว่า Indigenous Knowledge (IK) กำลังอยู่ในความสนใจของนานาชาติพอดีเช่นกันจวบจนทุกวันนี้
นักศึกษาไทยที่พบ: ติดอยู่กับบรรยากาศ กรอบระบบการศึกษาแบบเดิมที่ไม่เอื้อต่อการขยายโลกทัศน์และแนวคิด
บรรยากาศระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้นมีระดับชั้นมาก ลูกศิษย์มักไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น ยิ่งหากเคยเสนออะไรไปในครั้งแรกแล้วถูกกำหราบทางความคิดก็จะทำให้ไม่กล้าไปเลยในครั้งต่อๆไป ยิ่งหากเป็นวิชาการแนวใหม่ เช่น KM  ซึ่งมักไม่ค่อยมีหนังสือ ตำราภาษาไทยให้ค้นคว้ามากนัก นักศึกษาที่ส่วนใหญ่อ่อนภาษาอังกฤษก็จะไม่ขวนขวายค้นคว้า จึงไม่แตกฉานเวลาพบอาจารย์ก็ไม่มีอะไรจะซักถามพูดคุยกันได้ ที่จริงอาจารย์กับศิษย์ควรได้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน(Mutual Learning) ไม่ใช่ศิษย์รอรับฝ่ายเดียว หรืออาจารย์ชี้บอก กำกับให้ทำตามเท่านั้น

โปรดติดตามตอนหน้าเป็นเรื่องของการร่วมCoPs ในระดับต่างๆ

คำสำคัญ (Tags): #km research#kmr
หมายเลขบันทึก: 86125เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2007 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
... นักศึกษาบางคนยังไม่เข้าใจศาสตร์ในสายวิชาการของตนดีพอ มองไม่ออกว่าอะไรคือปัญหาที่  ศาสตร์ของตนจะเข้าไปมีส่วนในการแก้หรือสร้างเสริมประสิทธิภาพ ...
    ที่จริงผมว่าน่าจะแทนคำว่า "บางคน" ด้วยคำว่า "หลายคน" นะครับ แต่อาจารย์คงเกรงใจกระมัง 
   เท่าที่สัมผัส  นักศึกษามักไม่ได้ตั้งโจทย์จากฐานคิดว่า ศาสตร์ที่ศึกษาจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอะไร ได้อย่างไร  เขามักตั้งโจทย์ว่า ทำเรื่องอะไรดีนะที่ง่าย และจบเร็ว   ความอยากรู้จริงๆ ที่ประกอบด้วย ฉันทะ เป็นตัวนำ จึงไม่ค่อยมีครับ

ก่อนอื่นต้องขอบอกกับอาจารย์ว่าดีใจจังที่ได้อ่านบล็อก ของอาจารย์เพราะทำให้เกิดแนวความคิดหลายๆ อย่างขึ้นมา ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ดิฉันกำลังศึกษาใน ระดับปริญญาเอกอยู่ และก็เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยของรัฐ ประจำอยู่หลักสูตรคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันก็มีปัญหาที่ขบคิดมานานอยู่เรื่องหนึ่ง คือว่า นักศึกษาที่เป็นในสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มักจะจบไม่ตรงตามเกินที่หลักสูตรกำหนด คือส่วนใหญ่จะจบช้า และพยายามหาสาเหตุของปัญหานี้ ว่ามาจากอะไร ก็พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาน่าจะมาจาก

1. มาจากการติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์กับศิษย์ เพราะนักศึกษากับอาจารย์มีการติดต่อสื่อสารกันน้อยมาก  บางครั้งขาดหายไปเป็นเวลาเดือน สองเดือน หรือมากกว่านั้น ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากนักศึกษาไม่กล้าจะเข้าพบหาอาจารย์ ไม่กล้าซักถาม หรืออื่นๆ 

2. องค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวนักศึกษารุ่นพี่ ที่จบการศึกษา ไปแล้ว รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการศึกษา มันก็ได้หายไปพร้อมกับนักศึกษาคนนั้น แทนที่จะนำความรู้นั้นมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกับรุ่นน้อง เพื่อเป็นเทคนิคที่ใช้ในการทำโปรเจค 

3. เครือข่ายของกลุ่มนักศึกษา ที่เรียนในสาขานี้ไม่มีให้เห็นเท่าที่ควร  ทั้งๆที่น่าจะมี เช่น เครือข่ายนักศึกษาที่เรียนในศาสตร์เดียวกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างกัน เพื่อสามารถนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนของแต่ละแห่ง

4. อื่นๆ

 ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันเองก็คิดว่า เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร จนกระทั่งมาได้ยินคำว่า KM ขึ้นมา แต่ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจว่า KM จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร 

ดังนั้นในฐานะที่อาจารย์ มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ อาจารย์พอจะแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะที่ดี ได้หรือไม่ค่ะ จะขอบพระคุณไว้ล้วงหน้าค่ะ 

สวัสดีค่ะอาจารย์ chawanrat

ยินดีค่ะที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ ซึ่งความเห็นของดิฉันอาจจะพอเป็นประโยชน์ได้บ้าง

ตัวเองถูกขอให้รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้นักศึกษาสองสามสถาบัน เลยทำให้พอมองเห็นปัญหาจากประสบการณ์ตรงเองเลยค่ะ

นักศึกษาที่จบช้า เท่าที่พบก็เหมือนที่อาจารย์กล่าว

1. มาจากการติดต่อสื่อสารระหว่างอาจารย์กับศิษย์ เพราะนักศึกษากับอาจารย์มีการติดต่อสื่อสารกันน้อยมาก  บางครั้งขาดหายไปเป็นเวลาเดือน สองเดือน หรือมากกว่านั้น ....

ดิฉันคิดว่าอาจารย์ไทยใช้เทคโลยีการสื่อสารให้เป็นประโยชน์น้อยมาก ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ใช้อีเมล ไม่เคยใช้และสื่อสารทางบล็อก โปรเฟสเซอร์ดิฉัน ใช้ทุกอย่าง โดยเฉพาะอีเมล และการแชต

ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากนักศึกษาไม่กล้าจะเข้าพบหาอาจารย์ ไม่กล้าซักถาม หรืออื่นๆ 

นักศึกษาของเราในระดับโท และเอก ส่วนใหญ่ไม่ชินกับการคิดอะไรเอง ไม่ค่อยมีความมั่นใจ เหมือนคนไม่ค่อยอยากรู้อะไร แต่อยากเรียนให้ได้ชื่อว่าจบปริญญาโท หรือเอก ให้อ่านหนังสือวิชาการ อ่านแล้วก็สังเคราะห์ไม่ได้ ดิฉันว่าตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่มาก และน่าเป็นห่วงคุณภาพของเขาเมื่อจบมา ทำให้ได้คนอีโก้สูงเต็มเมือง แต่ไม่มีความรู้ที่จะมีประโยชน์ต่องานหรือสายวิชาการที่ตนจบมา

อาจารย์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยก็งานยุ่งมาก ไม่จัดสรรเวลาที่ลูกศิษย์จะเข้าพบได้ ทำตัวห่างเหิน ตามแบบวัฒนธรรมไทย ทีอาจารย์จะต้องดูสูงส่ง ลูกศิษย์ก็ไม่กล้าเข้าพบ หรือกว่าจะให้พบก็นัดกันยาวนาน หากไม่มีเวลาพบกันแบบเห็นหน้า ยิ่งต้องหาทางเชื่อมกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารนะคะ

2. องค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวนักศึกษารุ่นพี่ ที่จบการศึกษา ไปแล้ว รวมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการศึกษา มันก็ได้หายไปพร้อมกับนักศึกษาคนนั้น แทนที่จะนำความรู้นั้นมาถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกับรุ่นน้อง เพื่อเป็นเทคนิคที่ใช้ในการทำโปรเจค 

นี่ล่ะค่ะคือจุดที่จะช่วยได้ อาจารย์คงต้องคิดหาเวทีที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการเรียนรู้นี้ ดิฉันคิดว่า "วิธีเรียนรู้" มีความสำคัญไม่น้อยกว่าตัวความรู้ค่ะ ทำให้เสียเวลาด้วยค่ะ เช่นวิธีการค้นคว้า วิธีการเสนองาน วิธีการทำให้รู้สึกดีระหว่างการเป็นอาจารย์กับศิษย์ การสร้างให้เกิดโอกาสการได้พบกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันนี่แหละค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้กระบวนการเคเอ็ม อาจารย์อาจเป็นผู้เริ่ม แนะนำ อำนวยให้เขา และอาจารย์เองก็จะเกิดความเข้าใจลูกศิษย์มากขึ้น เรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ

3. เครือข่ายของกลุ่มนักศึกษา ที่เรียนในสาขานี้ไม่มีให้เห็นเท่าที่ควร  ทั้งๆที่น่าจะมี เช่น เครือข่ายนักศึกษาที่เรียนในศาสตร์เดียวกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างกัน เพื่อสามารถนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนของแต่ละแห่ง

เรื่องนี้ดิฉันและอาจารย์หลายท่านเคยกล่าวถึงเมื่อมีการเสวนาวิชาการด้านการจัดการความรู้กันค่ะ ดิฉันว่าเรื่องเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยนี่หากสร้างได้จะดีมากเลยค่ะ ที่จริงหากเป็นไปได้เร็วก็คือเครือข่ายของอาจารย์ที่อยู่ในศาสตร์เดียวกัน บรรยากาศของการประชุมประจำปีเพื่ออัพเดทในสายวิชาการเดียวกันในเมืองไทยมีหรือเปล่าดิฉันไม่ทราบ

ยกตัวอย่างดิฉันจบมาในทางScience Communication ในต่างประเทศมี International Network on Public Communication of Science and Technology ซึ่งคนในวงการสายวิชาการนี้จะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมนานาชาติ ทุกสองปี ทั้งคนทำงาน อาจารย์ที่สอนด้านนี้ นักศึกษาปริญญาโท เอก จะถูกอาจารย์ของตนผลักดันให้เข้าร่วมหาความรู้ในงานนี้และเสนอผลงานวิชาการของตนด้วย และระหว่างครูอาจารย์ผู้สอนด้านนี้เขาก็มีเน็ตเวิร์กกันในยุโรป คุยกันเรื่องหลักสูตร วิธีสอน แนวคิดใหม่ๆที่เกิดขึ้นในสายวิชาการนี้ เรียกว่า European Network of Science Communication Teachers (ENSCOT) เป็นต้น ทั้งอาจารย์และศิษย์ต้องแอคทีฟมากเลยค่ะ

4. อื่นๆ

 ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันเองก็คิดว่า เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร จนกระทั่งมาได้ยินคำว่า KM ขึ้นมา แต่ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจว่า KM จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร 

KM เป็นเพียงเครื่องมือ ที่ต้องนำไปประยุกต์ใช้ จะใช้เคเอ็มได้ดีต้องเริ่มที่ความรักที่จะพัฒนางานที่ทำอยู่ มีตัวอย่างมากมาย เริ่มเล็กๆจากความสำเร็จที่มีอยู่และหากัลยาณมิตร อยากชวนอาจารย์เข้าร่วมงาน มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่๔ ปลายเดือนี้ ดูรายละเอียดได้จากในเว็บไซท์ของสถาบันการจัดการความรู้นะคะ

ดังนั้นในฐานะที่อาจารย์ มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องเหล่านี้ อาจารย์พอจะแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะที่ดี ได้หรือไม่ค่ะ จะขอบพระคุณไว้ล้วงหน้าค่ะ 

ดิฉันอาจไม่ได้วยให้คำตอบที่อาจารย์ต้องการ การจัดการความรู้ไม่มีสูตรสำเร็จ อาจารย์ต้องลงมือ ลงแรงแสวงหาคำตอบในการมาเดินเส้นทางสายนี้ด้วยกันจะพบกัลยาณมิตรมากมายค่ะ ท่านอาจารย์ Handy ที่แสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้าอาจารย์ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มาก อาจารย์อาจตามไปที่บล็อกของท่าน อ่านเรื่องราวต่างๆดู แล้วจะเกิดกำลังใจค่ะ

ขอให้มีพลังในการช่วยพัฒนาเยาวชนของชาติต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท