เตรียมบทเรียนวิทยากรฝึกหัด


ผมไม่เคยตั้งใจฝึกฝนการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แม้จะได้รับเชิญไปพูดอยู่บ้าง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด ผมชอบการเสวนาซักถามแบบปุชฉา-วิสัชนามากกว่า

ผมได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา"พหุภาคีเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่นตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเขต16 18 19" ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลาและสตูล ที่จังหวัดตรัง ในช่วงเช้าของวันที่ 28 มีนาคมนี้ในฐานะที่มีความรู้และประสบการณ์ในการส่งเสริมกระบวนการจัดการความรู้

ผมไม่เคยตั้งใจฝึกฝนการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แม้จะได้รับเชิญไปพูดอยู่บ้าง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด ผมชอบการเสวนาซักถามแบบปุชฉา-วิสัชนามากกว่า

ผมเป็นวิทยากรกระบวนการพอได้บ้างแต่ก็ไม่ดีนักเพราะไม่มีเรื่องเล่าบันเทิงแบบมีสาระ เรื่องแบบนี้ต้องยกให้อาจารย์อุทัย ดุลยเกษม ซึ่งเป็นครูที่ไม่อาจเลียนแบบได้ เวลารับงานเหล่านี้ ผมจึงต้องเตรียมตัวใหม่ทุกคราว คราวนี้ก็เช่นกัน

หัวข้อที่ตั้งไว้ให้ผมบรรยายและฝึกปฏิบัติรวม3ชั่วโมงคือ Knowledge management กับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น

ผมทบทวนวัตถุประสงค์ของผู้จัด กำหนดการที่ให้มา แล้วเขียนเอกสารประกอบการนำเสนอไว้ดังนี้

 

วัตถุประสงค์การอบรมสัมมนา

พบปะ ปรึกษาหารือ ระดมสมองวางแผนเกี่ยวกับการดำเนินงาน แก้ไขปัญหา แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันสร้างกระบวนการจัดการองค์ความรู้ระหว่างภาคีสนับสนุนและกลุ่ม ประกอบด้วย

-สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

-สำนักงานเกษตรจังหวัด

-สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด

-สำนักงานพานิชย์จังหวัด

-สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และ

-กลุ่มวิสาหกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

หลักสำคัญ 3 ประการของคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น (?) คือ

-ลดปัจจัยเสี่ยงของผู้บริโภค

-คุณภาพเป็นที่ยอมรับ

-สังคมเข้มแข็งดำรงชีพตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เนื้อหาก่อนเข้าสู่หัวข้อบรรยาย(ของผม)

-อย.กับการส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น

-สุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น

-วิสาหกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่นตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

หัวข้อที่ผมเตรียมนำเสนอ

Knowledge management กับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น

ภาคทฤษฎี

การจัดการความรู้ (Knowledge management)

การจัดการความรู้ คือ การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เนื่องจากความรู้ที่มีการสรุปบันทึกไว้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของความรู้ทั้งหมดที่เรามีอยู่ และการที่จะนำความรู้ไปใช้งานก็ต้องดำเนินการผ่านคน ดังนั้น การจะทำให้ความรู้เกิดผลตามเป้าหมาย จึงต้องดำเนินการกับคนแทนที่จะดำเนินการกับตัวความรู้

การจัดการความรู้ หัวใจจึงไม่ใช่การจัดการระบบข้อมูล สารสนเทศ และองค์ความรู้ ซึ่งเป็นการจัดการตัวความรู้ แต่เป็นการทำงานกับคนที่มีจิตวิญญาณ มีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นที่มาของหลักการสำคัญของการจัดการความรู้ คือ ใส่ใจ แบ่งปัน และเรียนรู้ (Care Share & Learn)

บทเรียนที่1 ตัวความรู้

สุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น

(1) ความรู้ที่มีการปรากฏ อยู่ที่ไหน มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ?

-การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การผลิตซ้ำโดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับพื้นที่มีวิธีการอย่างไร?

(2) ความรู้ที่ไม่ปรากฏ อยู่ที่ไหน มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ?

-การเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การผลิตซ้ำโดยปรับปรุงให้สอดคล้องกับพื้นที่มีวิธีการอย่างไร?

บทเรียนที่ 1 ผมต้องการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รู้จักกับตัวความรู้ในเรื่องที่ต้องการพัฒนา คือ ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นซึ่งมีการจัดนิทรรศการแสดงไว้ในงาน ผู้เข้าร่วมต้องช่วยกันค้นหาความรู้ที่มีการปรากฏ กับความรู้ที่ไม่ปรากฏ นอกจาก"ตัวความรู้"แล้ว ยังมีเรื่องของ"การเรียนรู้"ด้วย ซึ่งตามทฤษฎีที่ผมให้ไว้ ตัวความรู้ และการเรียนรู้สำคัญอยู่ที่ คน

บทเรียนที่ 2 ผู้สนับสนุนการเรียนรู้

สุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น

-หน่วยงานสนับสนุนมองเห็นความหมายของสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นในแง่มุมใด

แบ่งกลุ่มย่อยตามฐานหน่วยงานและกลุ่ม

แบ่งกลุ่มย่อยตามเขต 16 18 19

บทเรียนนี้ ผมต้องการทราบนัยสำคัญของประเด็นในการสัมมนาคือสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่นในมุมมองของผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานสนับสนุนหลากหลายหน่วยงาน ผมต้องการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหมาย ความสำคัญ และความคิดฝันในประเด็นร่วมทั้งในในเชิงหน่วยงานและพื้นที่เพื่อสร้างทีมเรียนรู้ที่จะร่วมกันทำงานเรื่องนี้ต่อไป

บทเรียนที่ 3 เป้าหมายและวงเรียนรู้

แบบจำลองปลาทู

-เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น

วงเรียนรู้คุณกิจและคุณอำนวย

-การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที

-การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในBlog

บทเรียนนี้ ผมนำเข้าสู่เทคนิคการจัดการความรู้ด้วยแบบจำลองปลาทูและวงเรียนรู้ต่างๆซึ่งได้มาจากปฏิบัติการในพื้นที่3ตำบลซึ่งเป็นที่มาของโครงการจัดการความรู้เมืองนคร เป็นภาคปฏิบัติที่ต้องการกรอบคิด ทิศทาง และการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เป้าหมายคือคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 85670เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท