องค์กรมิใช่เครื่องจักร ต้องการความรักและความเข้าใจ (1)


 องค์กรมิใช่เครื่องจักร ต้องการความรักและความเข้าใจ (1)

ถ้ามีใครถามว่าประทับใจอะไรมากที่สุดจากงานประชุม National Forum HA ครั้งที่ 8 นี้ ที่ศูนย์ประชุม IMPACT เมืองทองธานี ผมตอบได้ทันทีว่าเป็น session ของพี่โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ในหัวข้อเรื่อง "องค์กรมิใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก ความเข้าใจ"

ประทับใจมากขนาดนั้น ก็แปลว่า Gotoknow ก็จะรองรับการถ่ายทอดความประทับใจนี้ลงมาอีกบทความหนึ่ง คิดว่าจะพยายามไม่แตกย่อยเป็นหลายตอนจบ (อาจจะเป็น miniseries ทำนองนั้น) แบบงานประชุมอื่นๆ (แต่อาจจะมีเกร็ดย่อยๆใน session อื่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพียงแต่ไม่ทำเป็น series)

องค์กรเครื่องจักร

ยุคสมัยที่องค์กร "กลาย" เป็นเครื่องจักร ถ้าจะ blame ใครสักคนหนึ่ง culprit คนนั้นน่าจะเป็น Ford เจ้าของบริษัทผลิตรถยนต์ Ford นั่นแหละครับ ตะแกเดินด้อมๆมองๆโรงงานผลิตรถยนต์ของแกด้วยความไม่พึงพอใจ ประเดี๋ยวคนนู้นหยุดงาน ประด๋าวคนนั้นคลอดลูก พอขั้นตอนใดขาดคนไป งานก็คั่งค้าง งานก็ไม่เดิน จะหาคนมาแทนก็ยาก กว่าจะฝึกคนได้ ก็ใช้ทั้งเวลา ใช้ค้นทุน ใช้ความพยายาม มันน่าจะมีทางที่ทำให้วิธีการบริหารจัดการมันง่ายกว่านี้ซิน่า

Eureka! ในที่สุดวันดี (คืนร้าย) แกก็นึกออก นำเอา "ระบบสายพาน" มาใช้ในโรงงานเป็นครั้งแรกในระดับอุตสาหกรรม แค่นั้นก็เรียกว่าแทบจะเกิดระบบปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (แต่ที่แกอาจจะคิดไม่ถึงก็คือเกิดระบบการคิดในเรื่อง "ความเป็นมนุษย์" หรือ "ความสำคัญของมนุษย์" ในระบบอุตสาหกรรมก็เกิดตามมาไล่ๆกัน จนระบาดทั่วโลกในเวลาต่อมา) ระบบสายพาน หรือ Fordism นี่เองที่เป็นระบบอันทรงประสิทธิภาพ คำ "ประสิทธิภาพ" ได้มาเจอกับภาคปฏิบัติอย่างจังเบอร์กันก็ตอนนี้เอง

ระบบสายพาน Fordism

เป็นเช่นไร? แต่เดิมจะผลิตของซับซ้อนอย่างรถยนต์คันนึง ช่างทั้งหมดก็มานั่งกองกันทำงานในห้องๆนึง ต่างคนต่างถืออุปกรณ์ของตนเอง เอามาปะ เอามาต่อ เอามาเชื่อม เสร็จไปหนึ่งคัน เอ้า คันต่อไป ทำไปเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก ทั้งทีมมองเห็นชิ้นส่วนของตัวค่อยๆกลายเป็นรถหนึ่งคันอย่างน่ามหัศจรรย์คันแล้วคันเล่า

แต่ระบบสายพานได้รื้อเอาโครงสร้างการทำงานนี้ทิ้งไป ต่อไปนี้ โรงงานรถยนต์กลายเป็นห้องหลายๆห้องเชื่อมต่อกันเป็นขบวนโบกี้รถไฟ แต่ละห้องมีสายพานลำเลียงทะลุผ่านกลางห้อง เข้าทางหนึ่ง ออกไปอีกทางหนึ่ง ไปเข้าอีกห้องนึง ต่อไปเป็นทอดๆ การสร้างรถยนต์ ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ แยกแยะเป็นส่วนๆ เป็นท่อนๆ เช่น ห้องสร้างล้อ ห้องสร้างพวงมาลัย ห้องเครื่อง ห้องตัวถัง ห้องหลังคา ห้องท่อไอเสีย ห้องไหนก็ทำหน้าที่เฉพาะห้องนั้นไป ทำเสร็จก็เอาชิ้นส่วนของห้องตน เอาไปวางบนสายพานเพื่อที่จะลำเลียงไปห้องอื่น รถยนต์ก็ค่อยๆถูกเอามาปะ เอามาต่อกัน จนคลอดเป็นรถยนต์สมบูรณ์เต็มคันเมื่อพ้นห้องสุดท้าย

เมื่อทำได้อย่างนี้ ปรากฏว่างาน "เทคนิเชียน" หรืองานฝีมือนั้นก็ลดลง ยิ่งแบ่งได้ย่อยเท่าไร ยิ่งลดความต้องการสติปัญญา ความรับผิดชอบน้อยลงเท่านั้น บางแผนกคนงานอาจจะทำงานที่หลากหลายน้อยเอามากๆ จนกระทั่งมีภาพยนต์ชาลี แชปลิน นำมาล้อการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยงานของคนงานคนหนึ่งมีแค่หมุนน็อตสองตัวเท่านั้น ทั้งวัน และทุกวัน หมุนเสร็จก็จะมีชิ้นส่วนชิ้นต่อไปวางบนสายพานมาให้หมุน ต่อๆๆๆ ไปเรื่อยๆจนหมดวัน คนงานเดินกลับบ้าน ไปเจอสาวใส่กระโปรง ก้มลงมองเห็นกระดุมใหญ่สองตัวติดที่กระโปรง ด้วยความเคยชินแกก็ก้มลง "หมุนน็อต" ที่กระโปรงจนทะเลาะตบตีกัน

สภาพการที่ล้อเลียนคนงานที่ทำจนไร้สมอง ไร้สำนึก ตอนนั้น (หนังชาลี แชปลินนี่เก่าหลายสิบปีแล้วนะครับ เป็นหนังใบ้ ขาวดำ) ก็ยังเป็นเรื่องตลกๆ ขำๆ ชิว ชิว แค่นั้นเอง

ใครเลยจะรู้เท่าทันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า?

ลักษณะงานของอุตสาหกรรมลดความต้องการการตัดสินใจของมนุษย์ลงไป ไม่นาน ความชัดเจนตรงนี้ก็เริ่มเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมนุษย์ทำงานซ้ำซากจำเจ ในที่สุดอารมณ์ก็เบื่อหน่าย ไร้ความกระตือรือร้น เบื่อหน่ายนำไปสู่ความละเลย ไม่สนใจ เกิดความประมาท ในที่สุดก็มีความผิดพลาด ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดจากความยากของงาน แต่เป็นความผิดพลาดจากที่ ใจคนทำไม่ได้อยู่ที่งาน งานไม่น่าสนใจเลย

การแก้ปัญหาก็เลยกลายเป็นหาอะไรที่ไม่ต้องใช้ "ใจ" มาแทนซะเลย แทนที่จะคืนความน่าสนใจให้แก่งาน ก็เลยหาสิ่งที่ทำแทนมนุษย์มาให้หมด เครื่องจักรอุตสาหกรรมก็เริ่มเข้ามาแย่งที่ ทำงานที่น่าเบื่อนี้ต่อไปให้ ไม่มีวันเบื่อ

ระบบสายพานได้เพิ่มประสิทธิภาพให้ Ford มหาศาล ยอดการผลิตพุ่งสูงขึ้น ขยายสาขา ขยายโรงงาน เปิดรับคนงานโดยไม่ต้องการ skill อะไรมากมายนัก ค่าแรงงานต่ำ ผลผลิตสูง เป็นคำตอบเรื่อง "ประสิทธิภาพ" คือ low input, high yield อย่างแท้จริง

ในยุคสมัยที่การบริหารจัดการไปสิ้นสุดที่ "profit" เรื่องประสิทธิภาพก็จะเป็นตัวหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่ง input น้อย ยิ่งผลผลิตสูง ยิ่งกำไรมาก ในที่สุด Fordism ก็ได้ขยายตัวออกนอกวงการอุตสาหกรรม ไปสู่วงการอื่นๆที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ profit หรือ กำไร เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น มี common benefit ตรงกันมากที่สุด ระบบการทำงานบริษัท ห้างร้าน ก็แบ่งซอยย่อย ลด competency ลงได้น้อยเท่าไร demanding ของ job ก็น้อยลง คุณภาพที่ต้องการก็ลดลง ค่าใช้จ่าย ค่าจ้างก็ลดลง

เป็นยุคทองของการบริหารจัดการ ของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

จริงหรือ?

เมื่อมนุษย์ทำงานนั้น เราถูกผลักดันด้วยอะไรหลายๆประการ สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ถูกออกแบบมานั้น มนุษย์จะอยู่บน "พันธกิจ" หรือ mission อะไรบางอย่างอยู่เสมอ สมองส่วนที่เจริญงอกงามออกมาต่างจากลิง ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างจากสัตว์เลื้อยคลานก็คือสมองส่วน frontal lobe and pre-frontal lobe ที่ทำหน้าที่คิด จินตนาการ intuition อันเป็นเอกลักษณ์ของสัตว์ชั้นสูง พันธกิจนี้เป็นงานที่เป็นเป้าหมายของชีวิต เป็นความหมาย บางสิ่งบางอย่างของชีวิต ซึ่งจะไม่เหมือนกับ basic instinct ของสัตว์เดรัจฉานทั่วไป ที่เน้นแค่ รอดชีวิต เป็นฝูง มีอาหาร ได้สืบพันธุ์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมนุษย์จึงมีสมองที่ creative มีความคิดสร้างสรรค์ เมื่อมีแล้วก็จะต้องใช้ด้วย

ถ้าหากมนุษย์ไม่ได้ใช้สมองส่วนสร้างสรรค์นี้นานๆ "ความเป็นมนุษย์" ก็จะเริ่มเสื่อมถอย ก็จะหาทางไปใช้สมองทำโน่นทำนี่ที่ไม่ใช่งานแทน ความเบื่อหน่ายก็จะหันหาอะไรทำตอนเลิกงาน ซึ่งบางทีก็จะไม่มีเวลา ไม่มีค่า ไม่มีสิ่งตอบแทนอันจรรโลงใจ ไปเที่ยว ไปเล่น กินเหล้า เมายา ติดการพนัน หรือกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ idle ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่ได้ฝึกซ้อมใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรอีกต่อไป

 

ระบบสายพานทำให้เกิด...

  • ลดความสำคัญของปัจเจกบุคคล เพราะเรามองไม่เห็นความสำเร็จว่าเกี่ยวกับงานของเราตรงไหน อย่างไร

  • ลดความจำเป็นในการพัฒนาตน เพราะกระบวนการสั้นๆที่สิ้นสุด มีอยู่เพียงแค่นั้น ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้น

  • ลดความทะเยอทะยาน เป้าหมายที่สูงออกไปในอนาคต เพราะงานไม่ถึง และผู้บริหารไม่ต้องการ เขาต้องการแรงงานขั้นต่ำ low-skill และ run ด้วย low cost management

  • ไม่มีความรัก ความเข้าใจ อารมณ์ในการทำงาน อะไรที่เป้น routine เป็นงานซ้ำซาก ไม่ต้องใช้จินตนาการ ก็จะไม่กระตุ้นอารมณ์บวก มีแต่เกิด apathy มีแต่ความซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อ เช้าชามเย็นชาม เกิดเป็น deficit of emotional quotience

  • เกิด concept of money-oriented mind คุณค่าที่คนบริหารอุตสาหกรรมทำให้ชัดเจนที่สุดก็คือ profit หรือเงิน ไม่ใช่คุณค่าของตัวงาน ไม่ได้อยู่ที่การได้มาทำงานกับเพื่อนๆ หรือการมีเพื่อนร่วมงาน โรงงานที่ประสบความสำเร็จก็เพราะ low-input, igh yield

  • คนงานถูก replace ได้โดยง่าย ไม่มีความสำคัญจะต่อรอง งานไม่ stable ไม่มั่นคง ขาดความ secure ในชีวิต ในลักษณะเช่นนี้ คนงานไม่ได้ถูก recognize จากผู้บริหารในลักษณะ resource ที่มีค่า แต่เป็น dispensable resource และมองหาแต่การเฆี่ยนให้วิ่งเต็มที่ เพื่อเน้นประสิทธิภาพ

เป็นเพราะว่าคนเรานั้นมีจิตใจ องค์กรก็ประกอบไปด้วยคนจำนวนมาก ไม่ได้มีแต่เครื่องจักร การบริหารองค์กรแบบเครื่องจักร ก็จะทำให้องค์กรนั้น apathy และเป็นองค์กรที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีแต่ส่วนหัว แต่ถ้าองค์กรนั้นสร้างสรรค์ได้ทุกๆเซลล์ ทุกๆอณู ก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 85667เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ฟังดูน่ารักดี แม้แต่เครื่องจักรก็อาจจะถูกกับ ความรักความเข้าใจด้วยก็ได้ :-)

ใจของคนเราก็เหมือนเครื่องยนต์ ต้องทำความสะอาด  เปลี่ยนน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ

พี่เข้าฟัง session นี้ แล้วก็ชอบมากเช่นกัน แต่เก็บรายละเอียดไม่ได้ขนาดนี้ อ่านแล้ว ชักเกิดอาการสงสัยว่าตัวเองเข้าฟังหรือเปล่า? คนทำงานในโรงพยาบาล ดูแล้วก็คล้ายๆ โรงงานอุตสาหกรรมนะ โดยเฉพาะในห้อง Lab พี่รู้สึกเหมือนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมนานแล้ว จึงได้หากิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาผู้ซึ่งต้องทำงานซ้ำๆ นั้น ให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ทำให้เขามีคุณค่ามากขึ้น

กฤษณมูรติบอกว่าไม่มีดอกไม้ดอกไหนบานเหมือนเดิม ไม่มีกิ่งไม้กิ่งใดไหวเหมือนเดิม สำหรับท่านแล้ว ไม่มีคำว่า routine

นั่นเป็นวิธีแก้ "ส่วนตัว" แต่เราทุกคนไม่ใช่กฤษณมูรติ เราจึงยังต้องพึง "ระบบ" ให้สามารถหนีจาก routine และใช้สมองในการสร้างสรรค์ให้ได้ 

ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้พี่โกมาตรครับ นั่งเสนอหน้าเล่นหูเล่นตาอยู่แถวหน้าสุด ฟังไปคิดไป เคลิบเคลิ้ม อาจจะมีบางส่วนที่เขียนลงมาเป็นความฝันใส่ไข่ลงไปบ้าง

ผิกถูก ถอดเทปไม่ตรงยังไง ถ้าเป็นความชอบ ขอยกให้วิทยากร ถ้าเป้นความพลาดนั้นเป็นของกระป๋มเองครับ

ตามมาอ่านต่อครับ เยี่ยมอีกจริงๆ แอบฟังบ้างแต่ไม่ทั้งหมดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท