AAR การประชุมภาคี KM ภาคราชการ ครั้งที่ 1


AAR การประชุมภาคี KM ภาคราชการ ครั้งที่ 1

         ประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ย.48 ที่ สกว.   โดยมีหน่วยราชการมาร่วมประชุม 7 หน่วย   ในลักษณะของการ ลปรร. เทคนิคการทำ KM,  วิธีการบริหารจัดการระบบ KM ของหน่วยงาน,   การตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำ KM,   และเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

         ความคาดหวังของผมในการริเริ่มการประชุมนี้ขึ้น   ก็เพื่อให้เกิดเครือข่าย KM ภาคราชการในรูปแบบใหม่ที่เป็นเครือข่ายหลวม ๆ    มี "พื้นที่" ของการ ลปรร. การทำ KM ทั้งพื้นที่จริง   คือการประชุมแบบนี้กับการไปพบปะร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน   กับพื้นที่เสมือนคือ  การ ลปรร. กันในบล็อก

         สิ่งที่ได้เกินคาด   คือได้เห็นผู้ที่ชาญฉลาด   ใช้เวทีนี้เป็นที่ขอคำแนะนำวิธีดำเนินการ KM เรื่องอาหารปลอดภัย  จ.สมุทรสงคราม คือ อ. แมนสรวง  เพ็งนู ([email protected]) ผู้ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามว่า  KM ของจังหวัดให้ทำเรื่องเดียวคือ  อาหารปลอดภัย   มอบให้ อ. แมนสรวงซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์เป็นผู้ประสานงานให้เกิด KM เรื่องนี้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงาน  จากการประชุมนี้ อ. แมนสรวงได้รับคำแนะนำทั้งยุทธศาสตร์การดำเนินการและมีภาคีให้อย่างดีจากกรมส่งเสริมการเกษตรคือ  คุณสรณพงศ์  บัวโรย   นักวิชาการเกษตร   สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม   ซึ่งทำหน้าที่ "คุณอำนวย" อยู่แล้ว   และ อ. แมนสรวงก็บอกว่าเคยทำงานร่วมกันหลายเรื่อง   การดำเนินการ KM ต้องไม่เริ่มจากศูนย์อย่างที่ อ. แมนสรวงทำนี่แหละ

         เป้าหมายของการเกิดเครือข่ายก็ได้รับตามความคาดหมาย   ผู้มาร่วมประชุมเห็นคุณค่าของการรวมตัวกันง่าย ๆ แบบนี้   และนัดกันว่าจะประชุมเครือข่ายทุก ๆ 3 เดือนหมุนเวียนสถานที่ประชุม   โดยคราวหน้าประชุมที่ รพ.ศิริราช  วันที่ 16 ก.พ.49  เวลา 09.00 - 13.00 น.

         เราคงต้องรอดูผลการ ลปรร. ในบล็อกต่อไป   แต่ดูจากความขยันทำ website ของกรมราชทัณฑ์ (เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก),  กรมส่งเสริมการเกษตรและสถาบันบำราศนราดูรแล้ว   ก็น่าจะเดาได้ว่าการ ลปรร. กันโดยใช้ IT น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก   เว็บไซต์แรกที่เราได้ชมคือ www.correct.go.th/popphit/kmi.htm ของเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก   พัฒนาและดูแลโดยคุณธวัช  พันมา ([email protected])  นักทัณฑวิทยา 5 เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก   ที่ใช้เวลานอกเวลาราชการจัดทำเว็บไซต์ KM นี้   เป็นที่ชื่นชมไปทั่วกรมราชทัณฑ์   ผมได้เข้าไปเยี่ยมชมแล้ว   จัดเป็นเว็บไซต์ KM ที่ดีและมีชีวิตชีวามาก   โดยเฉพาะคอลัมภ์ "คุย KM" ของคุณธวัช

         คุณธวัชเล่าให้ที่ประชุมฟังว่าการทำ KM มีผลต่อลูกชายของตนด้วย   แต่ไม่ใช่ผลจากการทำ KM ของตนเองนะครับ   เป็นผลจากการทำ KM ของ รพ. ค่ายสมเด็จพระนเรศวรที่ จ.พิษณุโลก   ทำให้ลูกชายของคุณธวัชซึ่งก็เหมือนเด็กทั่วไปคือไม่ชอบการไปโรงพยาบาล   แต่ที่ รพ.ค่ายฯ ลูกชายคุณธวัชยินดีไป   เนื่องจากที่ รพ.ค่ายฯ มีการจัดบรรยากาศที่แปลก   ทำให้เด็กไม่กลัว   ซึ่งคุณธวัชเข้าใจว่าเป็นผลของการทำ KM

         ที่กรมราชทัณฑ์นี้ท่านอธิบดีสนใจ KM มาก   ได้ส่งข้าราชการจากสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์มาร่วมประชุม 2 คน   คือคุณสาธิกา  สามศรี  นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล ([email protected]) ผู้ประสานงาน KM ของกรม   กับคุณประณต  สมิตัย  นักทรัพยากรบุคคล "คุณอำนวย" กระบวนการเรียนรู้ (0-2967-2222 ต่อ 168)

         อีกเว็บไซต์หนึ่งคือ DOAE KM ของกรมส่งเสริมการเกษตร   ดูได้ที่ http://effiu.doae.go.th/doae%20KM/   ผู้มาร่วมประชุมจากกรมส่งเสริมการเกษตรมี 3 คน   คือคุณธุวนันท์  พานิชโยทัย ([email protected]) ผอ. กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร   ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการกลุ่มงานส่งเสริม KM ของกรมด้วย,  คุณนันทา  ติงสมบัติยุทธ  นักพัฒนาทรัพยากรบุคคล,   และคุณสุภา  สุรพญานนท์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร     กรมส่งเสริมการเกษตรทำ KM อย่างเป็นระบบมาก   มีจังหวัดนำร่อง 9 จังหวัด  ทำมาแล้ว 1 ปี   สรุปได้ว่า จ.กำแพงเพชรทำ KM ได้เด่นที่สุดและจะนำมาเสนอในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ  วันที่ 1 ธ.ค.48 นี้

         สถาบันบำราศนราดูร   มีเว็บไซต์คือ www.bamras.org เป็นเว็บไซต์ที่มีบุคลิกของสถาบันวิชาการเต็มตัว   ผู้มาร่วมประชุมคือหัวขบวน KM 3 คนของสถาบันคือ  ผอ.,  รอง ผอ.,  และผู้ทำตัวชี้วัด KM ได้แก่ พญ. อัจฉรา  เชาวะวณิช ผอ. ([email protected]),  พญ. ศิริวรรณ สิริกวิน รอง ผอ.([email protected]),  และคุณสิริพร  ชาตะปัทมะ   นักวิชาการสาธารณสุข ([email protected])   ฟังเรื่องราว KM ของสถาบันบำราศฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคติดเชื้อ (เอดส์,  SARS, หวัดนก) และเป็นสถาบันวิชาการด้วย   เป็นวิชาการเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่   ลักษณะของ KM จึงเป็น KM ของงานเชิงวิกฤตเชิงบุกเบิกเข้าไปในขอบฟ้าใหม่ที่คงจะหาหน่วยงานเหมือนได้ยาก   เป็นงานที่ท้าทายและต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

         การทำ KM บุกเข้าไปใน "ขอบฟ้าใหม่" เป็นเรื่องที่จะว่ายากก็ยาก   จะว่าง่ายก็ง่าย   ส่วนที่ผมคิดว่าง่ายคือการที่จะได้ KA ที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นของใหม่   ดังตัวอย่างหนังสือเล่มนี้   ซึ่งถือได้ว่าเป็น "สุดยอด KA" เกี่ยวกับโรค SARS   แต่ผมก็ยังคิดว่านี่เป็น "macro knowledge"  ถ้าสถาบันฯ ทำ KM ในงานประจำเรื่องโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างจริงจังต่อเนื่อง   น่าจะได้หนังสือรวบรวมความรู้ปฏิบัติที่หน้างาน   เป็นความรู้เล็ก ๆ ของผู้ปฏิบัติจำนวนมากมายในลักษณะ "micro knowledge"   ขอฝากท่าน ผอ. พญ. อัจฉราไปพิจารณาดู

                                          

                         ปกหนังสือประสบการณ์โรค SARS ในประเทศไทย

         ท่านผู้อ่านอาจสังเกตว่าคุณหมออัจฉรา   นามสกุลเดียวกันกับคุณ Morning Glory (กรกฎ  เชาวะวณิช) นักเขียนและบรรยายเรื่องบล็อก   นั่นคือลูกชายอัจฉริยะของคุณหมอครับ

         กรมอนามัย   คุณศรีวิภา  เลี้ยงสกุล    เลขานุการคณะกรรมการ KM กรม กับคุณเพชรรัตน์  ศีรีวงศ์  จากศูนย์อนามัยที่ 1 มาเล่าว่ากรมอนามัยดำเนินการฝึกอบรมทั่วทั้งกรม   แล้วให้แต่ละหน่วยงาน (มี 30 หน่วยทั่วประเทศ) ไปดำเนินการเอง   ที่เด่นคือศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ กับ ศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น   ข้อเด่นอีกอย่างหนึ่งของกรมอนามัยคือมีวิทยากรที่สามารถช่วยเหลือหน่วยงานอื่นได้   สคส. เราส่ง "ลูกค้า" ไปให้เป็นระยะ ๆ เพราะประจักษ์ในความสามารถ   ศูนย์อนามัยที่ 1 มีลูกเล่นในการใช้ KM มากแต่ผมจะไม่เล่า   ปล่อยให้คุณอ้อเป็นผู้เล่าในบล็อกจะดีกว่า

         อ. จิรัชฌา  วิเชียรปัญญา  หนึ่งในวิทยากร KM ที่ไปช่วยหลายหน่วยราชการเสนอให้พิจารณาว่าหน่วยราชการน่าจะช่วยกันพิจารณาว่าโมเดล KM แบบไหนที่เหมาะสมกับหน่วยราชการ   เพราะว่าเวลานี้มีอยู่ 2 โมเดลใหญ่ ๆ คือของสถาบันเพิ่มฯ ใช้โมเดลของบริษัทซีร็อกซ์   กับโมเดลของ สคส. ที่ใช้เครื่องมือชุดธารปัญญา   storytelling   โมเดลปลาทู   ปลาตะเพียน   ผมมีความเห็นว่าต้องใช้ทั้งแบบของสถาบันเพิ่มฯ และของ สคส. ผสมกัน   คือแบบของสถาบันเพิ่มฯ เป็น template ภาพใหญ่   ส่วนของ สคส. เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการ   คุณอ้ออาจพิจารณาบรรจุประเด็นนี้เป็นวาระหนึ่งในการประชุมคราวหน้าก็ได้

          คุณสมชาย  ไตรรัตนภิรมย์   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ทริส ([email protected]) มาร่วมประชุมด้วย   และเล่าแนวคิดเกี่ยวกับการประเมิน performance ของหน่วยราชการ   โดยในช่วงแรกจุดที่ต้องการประเมินคือ   ดูว่าหน่วยราชการได้ทำกิจกรรม/กระบวนการเพื่อสร้าง learning & change ภายในหน่วยงานเพียงใด   ผมฟังแล้วสรุปกับตนเองว่า   หน่วยราชการที่ตั้งใจทำกิจกรรม KM เพื่อให้เกิดผลต่อการพัฒนางาน   พัฒนาคน   และพัฒนาองค์กรให้เป็น LO ย่อมจะได้คะแนนส่วน KM 5 คะแนนเต็มอยู่แล้ว   แต่นั่นไม่ใช่จุดสำคัญ   จุดสำคัญคือกิจกรรม KM จะส่งผลให้ได้คะแนนส่วนที่เหลือ 95 คะแนนสูงไปด้วย

          ถ้าเราทำงานจริง   จับหลักของการพัฒนาถูกต้องและเข้าใจ concept ของการประเมิน   การประเมินจะเป็นเรื่องเล็ก   ตอนผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. ก็เคยถูกทริสประเมินในลักษณะคล้าย ๆ กัน   แทนที่เราจะสนใจผลการประเมิน   เรากลับขอให้ทริสนำเสนอ concept เบื้องลึกของการประเมินให้เราได้เรียนรู้   พวกเราที่ สกว. ได้เรียนรู้มากและยังประทับใจไม่รู้ลืม

          เนื่องจากสมาชิกที่มาร่วมประชุมมีที่เป็นระดับกรมถึง 3 หน่วยงานคือ  กรมราชทัณฑ์,  กรมส่งเสริมการเกษตร,  และกรมอนามัย   ผมมองว่ากรมใหญ่ ๆ เหล่านี้สามารถจัด "มหกรรมจัดการความรู้" ของกรม   นำผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์ของกรมมาทำ storytelling   สกัด Knowledge Assets แล้วเผยแพร่   ให้รางวัลเจ้าของเรื่องเล่าและ KM ชั้นยอด   รวมทั้งประกาศให้รางวัลกลุ่มที่นำ KA ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และยกระดับความรู้ขึ้นไปอีก   โดยนำมาประกวดกันผ่านการเล่าในบล็อก   และมาเล่าในมหกรรมปีต่อไป

         คุณอ้อ ผู้จัดการประชุมนี้คงจะเอารายละเอียดมาเล่านะครับ   รวมทั้งเราจะเอารายงานการประชุมขึ้นเว็บไซต์และบล็อกด้วย

         การประชุมคราวหน้า (และทุก ๆ ครั้ง) เป็นการประชุมแบบเปิดนะครับ   ใครอยากเข้าร่วมประชุมก็บอกคุณอ้อ ([email protected]) แล้วเข้าร่วมเป็นการประชุมแบบที่หน่วยราชการที่เห็นคุณค่าของเวทีแลกเปลี่ยนนี้ส่งผู้แทนมาร่วม   ถ้าต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัดก็ออกค่าใช้จ่ายกันเอง

          

                                               บรรยากาศการประชุม

วิจารณ์  พานิช
 24 พ.ย.48

คำสำคัญ (Tags): #หน่วยราชการ
หมายเลขบันทึก: 8264เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2005 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พรพิมล ยุตติโกมิตร์

การประชุมของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่ง   เนื่องจากการศึกษาข้อมูลจากหลายหน่วยงานในภาครัฐ  พบว่ารูปแบบ หรือ Model  ที่หน่วยงานราชการนำไปประยุกต์ใช้นั้นยังไม่มีแบบแผนตายตัวสำหรับในระดับกระทรวง  อีกทั้งยังพบอีกว่าหลายหน่วยงานยังไม่สามารถเดินหน้าเรื่อง KM ได้  เนื่องจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ KM ยังไม่ชัดเจน  จึงทำให้ผลการปฏิบัติงานด้าน KM  ยังไม่ปรากฎเด่นชัด  

การทำ KM ในสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 3 (กระทรวงศึกษาธิการ) จังหวัดลพบุรี  เพิ่งเริ่มทำจริงจังในปีนี้เป็นปีแรก อย่างมีส่วนร่วมในการประชุมการจัดทำ KM ของหน่วยงานภาครัฐบ้าง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน เพราะที่ทำเริ่มจากการอ่าน และค้นข้อมูลทางเว็ปไซด์ ยังไม่ทราบว่าตนเองเดินทางถูกทิศหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท