KM สัญจร ตอนที่ 1 “โรงเรียนชาวนา”


สัญจรดู “การจัดการความรู้” ที่ทำจริงในพื้นที่

             วันนี้ (5 ก.ค. 48) เรายกทีม สคส., สื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิ (คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม, คุณสุรินทร์    กิจนิตย์ชีว์, ศ.นพ. เทพ  หิมะทองคำ, ดร. สุวัฒน์  เงินฉ่ำ, ผศ. ดร. เลขา   ปิยะอัจฉริยะ, ศ. นพ. วิจารณ์   พานิช และ ดร. ประพนธ์   ผาสุขยืด)  มาสัญจรดู การจัดการความรู้ ที่ทำจริงในพื้นที่     โดยที่แรกที่เราสัญจรถึง คือ โครงการโรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ จ. สุพรรณบุรี  ค่ะ  ทีมเราได้ฟังตัวแทนนักเรียนชาวนารุ่นใหม่จากหลายๆ อำเภอมานำเสนอผลงานที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่โรงเรียนชาวนา โดยมีคนของมูลนิธิข้าวขวัญเป็น คุณอำนวย ให้ จากนั้นเราลงไปดูตัวอย่างพื้นที่นาของนักเรียนที่ใช้เป็นแปลงเรียนรู้ แปลงทดลอง  เช่น การเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์เอง, การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ   ทีมสัญจรของพวกเราทึ่งค่ะที่ได้เห็นกลุ่มชาวนาใช้แปลงนาเป็นแปลงเรียน  เรียกได้ว่าเรียนจากของจริงเลย    โรงเรียนชาวนาที่นี่เน้นแนวคิดของการทำนาแบบชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมี  โดยจัดเป็น 3 หลักสูตร  คือ หลักสูตรประถม (เรียนการทำนาแบบไม่ใช่สารเคมีกำจัดศัตรูพืช), หลักสูตรมัธยม (เรียนการทำนา ปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี) และ หลักสูตรมหาวิทยาลัย (เรียนการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เน้นว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกแบบชีวภาพด้วยค่ะ) ซึ่งทั้งหมดก็เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของชาวนาเลยทีเดียว และยังเน้นพลังการเรียนรู้แบบกลุ่ม การยอมรับซึ่งกันและกัน การพึ่งพาและการเสริมสร้างคุณค่าให้กับตัวเองด้วย  

        เราใช้เวลากับการดูพื้นที่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนชาวนานานมาก  เพราะหลงเสน่ห์การจัดการความรู้ที่เป็นของจริงที่เกิดจากชาวนาไทยที่นี่    แต่ก็คุ้มค่าค่ะ      หลังจากที่เรารับประทานอาหารที่พวกนักเรียนชาวนากรุณาเอื้อเฟื้อจัดให้และฟังเพลงที่แต่งเองของนักเรียนชาวนา (ลุงสนั่น) แล้ว    ทีมสัญจรของเราได้ทำ AAR (ทบทวนบทเรียน) กันบนรถระหว่างเดินทางต่อ    ทุกคนทั้งทีมสื่อมวลชน, ผู้ทรงคุณวุฒิ และ สคส. มีความประทับใจที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นี่ค่ะ  ได้มาเห็นการจัดการความรู้ในวงการชาวนาไทยที่สามารถผลิตความรู้ที่เหมาะสมไว้ใช้กับตนเองได้  พึ่งพาตนเองและสร้างพลังสามัคคีในการเรียนรู้        ซึ่งโครงการโรงเรียนชาวนา ดีๆ อย่างนี้ของมูลนิธิข้าวขวัญยังไม่จบเท่านี้นะคะ   เพราะงานที่หนักก็คือการขยายเครือข่ายโรงเรียนชาวนาชีวภาพนี้ให้กระจายออกไปสู่วงกว้าง โดยทีมเราก็เป็นกำลังใจและสนับสนุนเต็มที่ค่ะ

                ตอนนี้ขอเล่าคร่าวๆ แค่นี้ก่อน   แล้วถ้านึกอะไรได้อีกจะมาเล่าเพิ่มพร้อมรูปให้ค่ะ  เพื่อนๆ ที่ได้ไปด้วยกันเข้ามา share ความรู้ที่ได้ด้วยนะคะ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 825เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2005 07:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 08:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท