เงินออมไม่ใช่เงินได้ลบด้วยเงินจ่าย


แนวคิดที่ถูกต้อง คือ เงินได้ - เงินออม = เงินจ่าย

ในวิชาการวางเป้าหมายและแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต นักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตทุกคนต้องทำแผนงบประมาณครอบครัว โดยคุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รอง ผจก.ใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ได้กรุณาบรรยายลงวิดีเทป ให้คำแนะนำวิธีการวางแผนการออม แนวคิดของท่านคือ ใครก็ตามที่คิดว่า เงินได้ - เงินจ่าย = เงินออม จะไม่ค่อยเหลือเงินออม เพราะเท่ากับไม่ได้วางแผนการออม เป็นการวางแผนโดยเอารายรับและรายจ่ายเป็นตัวตั้ง แนวคิดที่น่าจะถูกต้องกว่าต้องเอาเงินออมเป็นตัวตั้ง ดังนั้น สูตรที่ถูกต้อง คือ เงินได้ - เงินออม = เงินจ่าย หมายความว่าให้ตั้งหลักไว้เลยว่าจะออมกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินได้

ในตัวอย่างตารางที่ให้นักศึกษาทำแผนงบประมาณครอบครัวรายปี ผมจึงให้วางแผนเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นแผนเงินได้ ส่วนที่สองเป็นแผนเงินออม และส่วนที่สามจึงจะเป็นแผนการใช้จ่าย

จากนั้นก็ต้องบริหารจัดการให้บรรลุตามแผนด้วย

หมายเลขบันทึก: 82000เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2007 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
เห็นด้วยค่ะ สิ่งที่อาจารย์พูดถึงทำให้ราณีคิดถึงเมื่อคืน ราณีก็ได้ดูรายการปราชญ์เดินดิน ตอน นักออมผู้ยิ่งใหญ่ตอนที่ 1 ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่พึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ท่านเพิ่งเริ่มทำนะค่ะ แต่ท่านทำมานานแล้ว

ผมไม่ได้ดูทีวีเมื่อคืนนี้ ไม่ทราบว่านักออมผู้ยิ่งใหญ่ที่คุณราณีพูดถึงคือใครครับ (ครูชบ ยอดแก้ว หรืออัมพร ด้วงปาน หรือเปล่าครับ)

คุณอัมพร ด้วงปาน ค่ะอาจารย์ มีวันอาทิตย์หน้า ตอนที่ 2 หรือกลับไปเข้า เว็บไซค์ ของโมเดิร์นไนท์ทีวี(ช่อง 9)ย้อนดูได้ค่ะ

เมื่อก่อนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการออมเงิน...

มักจะจ่ายให้กับอย่างอื่นก่อนเสมอ...

แต่ตอนนี้เข้าใจและเห็นความสำคัญกับการออมเงินมากครับ....

เป็นสูตรที่ใช้สอนเด็กๆเหมือนกันค่ะ บอกพวกเขาว่าสูตรนี้ครูใช้กับตัวเองตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ทำให้ในช่วงที่เรียนเรามีเงินเก็บด้วยค่ะจากที่คุณพ่อให้แต่ละเดือน อยากให้ทุกคนนำมาใช้กันเยอะๆ เพราะเราจะอ้างไม่ได้ว่าเราไม่มีเงินเหลือเก็บ ขอบคุณค่ะที่มาแลกเปลี่ยน

ขอบคุณอาจารย์ราณีครับ ผมเข้าไปดูวิดีคลิบย้อนหลังแล้วครับ ผมว่าที่คุณอัมพรพูด ว่า "กองทุนหมู่บ้าน ๑ ล้าน จะมาคลองเปี๊ยะหรือไม่เราไม่แคร์เลย เพราะมีหลักประกันชีวิต มีสวัสดิการให้ประชาชนได้แล้ว สมบูรณ์แล้ว  ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจะมาคลองเปี๊ยะหรือไม่ เราไม่เดือดร้อนเลย เราไม่แคร์" คำพูดนี้มีความหมายมาก 

ที่ว่าความหมายมากนั้นผมหมายถึง

๑. เป็นคำพูดของ "เสรีชน" ที่แท้จริง คนแบบนี้ไม่ขึ้นต่อระบบอุปถัมภ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ของผู้มีอำนาจ นโยบายประชานิยมใช้กับเขาไม่ได้

๒. หากความคิดนี้เป็นความคิดของชุมชนด้วย ชุมชนนั้นก็เป็น "เสรีชุมชน" คือ ไม่มีใครใช้เงินสดซื้อเสียง หรือใช้นโยบายแจกโครงงาน แจกเงินก็ได้ผล ก็จะเป็นชุมชนที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ความหมายของประชาธิปไตยจากรากฐานก็คือตรงนี้เอง คือคุณภาพของประชาชนผู้ออกเสียง (qualify voter)

เรื่องนี้ดูเผินๆ ไม่น่าจะยาก ที่ยากคือ ๑.ฝ่ายปกครอง ต้องไม่กลัวว่าจะมีประชาชนที่ "ปกครองยาก" เต็มบ้านเต็มเมือง ๒.ฝ่ายประชาชนเองต้อง "เริ่มจากตัวเอง" หลายคนพอเริ่มก็คิดหวังพิ่งรัฐ พึ่งคนอื่น คนนักการเมืองก่อนเลย จะทำอะไรก็คิดแต่ "ทำโครงการ" ขอเงินคนอื่น คุณอัมพรไม่คิดเช่นนั้นจึงมีวันนี้

ความจริงผมเพิ่งไปเยี่ยมคุณอัมพรที่คลองเปี๊ยะ(กับ อ.เสรี พงศ์พิศ) มาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นี้เอง ทำให้ทราบว่าชาวบ้านคลองเปี๊ยะที่ได้สวัสดิการมากที่สุดในรอบปี ๒๕๔๙ ได้ ๒๒๐,๐๐๐ กว่าบาท เนื่องจากต้องผ่าตัดหัวใจที่ รพ.มอ. คุณอัมพรเองก็กำลังจะอายุครบ ๖๕ ปี ตั้งแต่อายุ ๖๕ ปี เป็นต้นไปก็จะได้เงินบำนาญจากกลุ่มออมทรัพย์ เดือนละ ๒,๕๐๐ บาท ชาวบ้านก็มีสวัสดิการได้ครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการ

สวรรค์บนดินมีจริง และก็เกิดเป็นตัวแบบขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของแผ่นดินนี้

เรียนอ.สุรเชษฐ์

             แหม! อาจารย์สรุปได้ดีจังเลยค่ะ  ตอนที่ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็สนุกค่ะอาจารย์ ฟังแล้วให้แง่คิดดีมากค่ะ

             ท่านอาจารย์ดร.แสวง  รวยสูงเนิน  ที่เขียนเรื่อง นักวิชาการ จะสู้กับ นักวิชาเกิน ได้อย่าง เข้าไปที่http://gotoknow.org/blog/sawaengkku/79376  ท่านเขียนสรุปได้อย่างน่าอ่านเลยค่ะ

ท่านอ.สุรเชษฐ์ สรุปได้ตรงประเด็นมากเลยครับ

ทำอย่างไรความรู้เหล่านี้จึงจะถ่ายทอดไปสู่เยาวชนของเรา     ขอบคุณๆๆๆครับอาจารย์ที่เคารพ

                              นพรัตน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท