นักวิชาการกับการทำงานที่ไม่ถึงฝั่ง


นักวิชาการจะมีกระบวนการทำงานคล้ายๆอริยสัจสี่ ที่ไปไม่ถึงฝั่ง

...ได้รับความเห็นจากอาจารย์ภีมและครูนงถึงเราเรื่องการเคลื่อนงานเมืองนครฯ  ถือว่าได้รับความไว้วางใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำประโยชน์ได้แค่ไหน 

...ได้อ่านบันทึกของคุณชาญวิทย์-นครศรีฯ เรื่อง “KMกับงานส่งเสริมการเกษตร ที่ทำให้เห็นภาพคนช่างซักถามในที่ประชุม ที่มักเป็นคนมีใบประกาศฯสูงๆติดข้างฝา 

ทำให้ตัวเองต้องกลับมานั่งสำรวจบทบาทของนักวิชาการ ต่อการเคลื่อนงานในพื้นที่

เคยคิดเสมอว่า นักวิชาการจะมีกระบวนการทำงานคล้ายๆอริยสัจสี่ ที่ไปไม่ถึงฝั่ง  คือ  เราพยายามรู้จักทุกข์ (ด้วยการตั้งโจทย์หรือปัญหา)  สมุหทัย (ด้วยการวิเคราะห์ว่า ทำไมจึงเกิดปัญหาเช่นนั้น)  นิโรธ (พยายามเสนอแนะเชิงนโยบายหรืออื่นๆเพื่อแก้ปัญหา)  แล้ว นักวิชาการก็จบลงตรงนั้น     มรรค (คือการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แก้ปัญหา) นักวิชาการไม่เคยใส่ใจทำ เพราะเป็นหน้าที่คนดำเนินนโยบาย    

อันที่จริง  ทั้งทุกข์ สมุหทัย และนิโรธ ที่นักวิชาการทำการวิจัยอยู่ ก็อยู่บนฐานคิดเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก  คือ ศาสตร์ใครก็ศาสตร์มัน  ตีความตามศาสตร์  วิเคราะห์ตามศาสตร์  และเสนอแนะตามศาสตร์ที่ได้วิเคราะห์มา  (บางครั้งแย่กว่า เพราะเสนอแนะโดยไม่ได้วิเคราะห์จริงจัง)

นักวิชาการเฉพาะศาสตร์จึงไม่สามารถช่วยอะไรสังคมได้มาก   
 

การเคลื่อนงานในพื้นที่ของทุกๆท่านขณะนี้มีความเป็นบูรณาการและ มุ่งสู่ "มรรค"  ซึ่งนักวิชาการไม่ถนัด

การลงพื้นที่ของตัวเองแต่ละครั้ง จึงรู้สึกสำนึก "ถ่อมตัว" มาก   แม้ว่าจะมีความคิดอะไรบางอย่างก็ยังไม่กล้าเสนอตราบใดที่ยังไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ

นักวิชาการสมัยนี้ต้องหัดทำงาน area-based   หากต้องการมุ่งสู่มรรค หรือ การแก้ปัญหาจริง 

อันที่จริง งาน area-based นี้ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยริเริ่มมาก่อนแล้ว สมัยประมาณปี 2518-19  โดยอาจารย์เลือกลุ่มน้ำแม่กลองเป็นพื้นที่ศึกษา  นักเศรษฐศาสตร์ นักเกษตร นักสังคมวิทยา ใครต่อใครลงไปช่วยงานในพื้นที่เดียวกัน ทำงานกับชาวบ้านเป็นบูรณาการ    

เพียงแต่ตอนนั้นไม่ชัดว่า ภาคราชการเข้ามาเกี่ยวข้องแค่ไหน   อาจจะไม่  เพราะอาจารย์ป๋วยก็ถูกเพ่งเล็งจากทางการเมืองและราชการ   ถึงที่สุดแล้วโครงการก็ต้องล้มเลิกกลางคันด้วยเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519  อาจารย์ป๋วยต้องออกนอกประเทศ 

หลังจากนั้น  ก็แทบไม่เห็นการทำงานบูรณาการเชิงพื้นที่ของนักวิชาการจากหลากศาสตร์อีกเลย 

หมายเลขบันทึก: 81838เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

  ให้กำลังใจนะคะ ในนามผู้บริหาร ที่งานมักสวนทางกับนักวิชาการเสมอ เพราะต่างก็คิดในแง่ของตน หากทุกคนใช้แนวอริยสัจสี่เหมือนกัน ก็น่าจะOK นะคะ จะพยามปรับปรุงตัวเองค่ะ

 สวัสดี 

               ดูเทรนด์แล้ว ผมคิดว่าอนาคตมันก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์วิเคราะห์ และผมคิดว่าความรู้ในมหาวิทยาลัยยังไงๆก็มีประโยชน์อยู่ครับอาจารย์ ถ้าจะได้นำความรู้ดังกล่าวก็ปรับใช้ เป็นชุดความรู้ที่มีประโยชน์กับชุมชนให้ชุมชนได้ใช้ชุดความรู้นั้นใช้สำหรับจัดการงานของตนเองให้สำเร็จบรรลุเป้าหมาย องค์ความรู้ใหม่ที่ผ่านการปฏิบัติจริงจากในชุมชน ก็นำไปถ่ายทอดกันต่อในมหาวิทยาลัย ผมว่าอย่างนี้ก็บูรณาการหลากศาสตร์ที่อาจารย์ว่าไว้ได้ครับ

             ขอบคุณที่อาจารย์หยิบยกเรื่อง area based ขึ้นมาเป็นประเด็น ทำให้ทีมงานจังหวัดนครศรีฯเราใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการทำงาน

ขอบคุณคุณตันติราพันธ์มากค่ะ 

เป็นกำลังใจให้เช่นกัน เพื่อสังคมที่ดีขึ้นค่ะ

เรียนอาจารย์จำนง

ขอบคุณอาจารย์นะคะที่เห็นประโยชน์ของการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชาการกับการทำงานพื้นที่ 

ดิฉันเองเห็นว่า  ความรู้ คือ ชุดข้อมูล  นักวิชาการอาจให้ชุดข้อมูลแบบหนึ่ง  พื้นที่ก็มีชุดข้อมูลอีกแบบหนึ่งจากการปฏิบัติจริง   ในเมื่อเรื่องราวต่างๆมีหลายมิติ  การมองต่างมิติก็จะมีประโยชน์

ความเป็นกัลยาณมิตรที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป้าหมายสังคมดีมีสุขเหมือนกันคงเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นใช่ไหมคะ

ความเห็นของอาจารย์ทำให้คิดว่า ตัวเองก็คงพอทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ได้ค่ะ

ชอบที่อาจารย์วิเคราะห์มากเลยครับ  อยู่ข้างที่ต้องปฏิบัติ  ไม่ค่อยมีความรู้  ที่พิษณุโลก  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ภาคเอกชน  ประชาชน และหน่วยราชการต่างๆ  ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรทำงานร่วมกันหลายเรื่อง  เกิดความเข้าใจ  ความร่วมมือและประสพความสำเร็จพอสมควรครับ

คิดว่า ความรู้มาจากการปฏิบัติจริงด้วยค่ะ  อาจจะลึกซึ้งกว่าความรู้จากการอ่านร่ำเรียนมาเสียด้วยซ้ำ

เป็นนิมิตหมายอันดีที่หลายพื้นที่ของประเทศมีการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย

นักวิชาการในกรุงเทพฯเองกลับทำงานกับพื้นที่กรุงเทพฯน้อย    จริงๆแล้ว แค่ออกไปเห็นชีวิตผู้คนแถวท่าพระจันทร์หรือสะพานพระปิ่นเกล้า ก็ได้โจทย์น่าศึกษาน่าเรียนรู้มากมายค่ะ

เป็นกำลังใจให้นะค่ะ

ดีใจที่รู้จักคนเก่ง

หนูแค่เป็นส่วนเล็กที่กำลังจาเป็นเศรษฐศาสตร์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท