ไม่มีไฟ เลยบ่น


ประเทศเรามีปัญหาน่าปวดหัวคือ อัตราการอ่านหนังสือต่ำและอัตราการออมต่ำ อัตราสองตัวนี่มารวมกันคนไทยเลยถูก “หลอก” กันได้ง่ายๆ

เมื่อวานไฟดับที่ ม.สงขลานครินทร์ ตั้งแต่ ๙ โมงเช้าถึง ๑ ทุ่ม โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า (ปกติจะมีอีเมลมาแจ้งก่อน) เมื่อสอบถามทราบว่า กฟภ. อยากซ่อมสายไฟ เลยมาโดยไม่ได้นัดหมาย ไม่ได้เป็นการซ่อมด่วนอะไร ไม่เป็นไรครับ ไม่ถือ รัฐวิสาหกิจของไทยเราบริหารกันตามใจได้เต็มที่อยู่แล้ว

วันก่อนได้ข่าวว่า รสพ. ขาดทุนยับถึงขั้นไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน ฟังแล้วรู้สึก “หดหู่” มาก เพราะบริษัทที่ทำ logistics ในปัจจุบันกำไรกันโครมๆ ในยุค e-commerce นี้ แต่ รสพ. กลับขาดทุนขนาดหนักได้เสียนี่ แต่อย่ามีใครคิดปรับปรุงระบบการบริหารให้มีกำไรนะครับ ยิ่งเอาไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้การบริหารต้องอยู่ในสายตาของคนที่มีความรู้ทางการเงินหน่อยยิ่งไม่ได้ใหญ่ ถือว่าเป็นการขายสมบัติของชาติ ปล่อยให้ขาดทุนเพราะการบริหารกันต่อไป เราคนไทยอดทนได้ครับ เรายอมจ่ายค่าบริการแพงๆ ให้ FedEx หรือ UPS ซึ่งกำลังมาตีตลาดได้ แต่ด้วยความรักชาติเราจะไม่ยอมปรับปรุง รสพ. เป็นอันขาด

พูดถึง รสพ. ก็นึกถึง กฟผ. มาอีก จริงๆ แล้ว กฟผ. เอาหุ้นมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร จะมีสายส่งร่วมด้วยหรือไม่ก็ไม่สำคัญ สำหรับผมซึ่งทำงานด้านเทคโนโลยีอยู่ ผมมีความเห็นว่า wired technology นี่ตกยุคมากเลยนะครับ เอามาเป็นเหตุผลอ้างได้อย่างไรก็ไม่รู้ ปัจจุบันการพัฒนาการของการสื่อสารอยู่ที่ wireless technology ครับ เครือข่ายสาย fiber optics ปัจจุบันทิ้งร้างอยู่ในอเมริกาเต็มไปหมด

ส่วนเรื่องหุ้นนั้น ถ้าไม่อยากให้หุ้น กฟผ. ตกลงไปในมือต่างชาติก็ช่วยกันซื้อหุ้นสิครับ เขาเปิดโอกาสให้คนไทยซื้อหุ้นก่อนอยู่แล้ว ซื้อแล้วก็เก็บไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานอย่าเอามาขายเสีย หุ้นของบริษัทอย่าง กฟผ. ไม่กำไรเพียงชั่วข้ามคืนหรอกครับ อยากกำไรกันสบายๆ ต้องซื้อเก็บกันเป็นสิบปี เป็นมรดกให้ลูกหลาน ไม่ใช่ซื้อวันนี้พรุ่งนี้ขาย เวลาซื้อที่ดินเก็บกันได้แต่ซื้อหุ้นกลับเก็บกันไม่ได้

เรื่องนี้คิดแล้วน่าหนักใจจริงๆ เพราะคนไทยไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ ชอบลงทุนในที่ดินมากกว่า เรื่องอะไรต่อมิอะไรเรียนกันได้เก่งๆ ส่วนเรื่องการเงินง่ายกว่าตั้งเยอะกลับไม่หาความรู้ใส่ตัวกัน เลยเปิดโอกาสให้คนรู้เรื่องกว่าทำกำไรสบายเฉิบ เหมือนตอน ปตท. นั่นปะไร หุ้นเข้าตลาดฯ แล้วราคาต่ำกว่าจองเป็นปีไม่มีใครซื้อ แถมคนได้หุ้นจองก็ขายอีก มาตอนนี้ราคาสูงๆ กลับอยากซื้อกันเสียนี่ ผมเลยได้ความรู้ว่าพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยคือชอบซื้อของตอนแพงๆ อาทิเช่น ซื้อที่ดินแพง (ยุคนายกฯ ชาติชาย) ซื้อทองแพง (ช่วงนี้) ซื้อหุ้นตัวไหนขึ้นไปแพงๆ (หลายต่อหลายช่วง) ด้วยเหตุผลว่า “เดี๋ยวมันจะแพงกว่านี้” และชอบขายตอนของถูก ด้วยเหตุผลว่า “เดี๋ยวมันจะถูกกว่านี้” เลยตัดขาดทุนตอนนี้ดีกว่า

พูดถึง กฟผ. ไม่เข้าตลาดฯ ก็ดีเหมือนกัน เพราะหุ้นกฟผ. ที่ราคาจอง ๒๘ บาทนี่ช่วงครึ่งปีแรกน่าจะต่ำกว่าจอง (หมายเหตุ ผมเดาครับ กรุณาอย่าเชื่อโดยไม่คิด การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารญาณในการตัดสินใจ เชื่อผมเอาเงินมาให้ผมใช้ดีกว่า) ตอนนั้นคนไทยคงเทขายหมดด้วยความไม่สบายใจ ยอมขาดทุน กองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศคงช้อนซื้อไปอย่างสบายใจเฉิบ

พูดถึงกองทุนรวม ผมมีเพื่อนทำงานอยู่กองทุนรวม เพื่อนบอกว่าขายกองทุนรวมให้คนไทยนี่ยากชมัด ช่วงหลังๆ บริษัทจัดการกองทุนรวมเลยออกกองทุนที่ถูกจริตคนไทย อาทิเช่น กองทุนหอพักนักศึกษา กองทุนคอนโดให้เช่า ฯลฯ สักวันคงมีกองทุนรวมร้านอาหาร ผับ อาบอบนวด ให้ได้ซื้อกัน

จากการสังเกต ผมเห็นว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่ขาดความรู้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างรุนแรง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคิดกันไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ชอบกู้เงินและใช้เงิน เลยมีปัญหาถูกโกงอัตราดอกเบี้ยอย่างถูกกฎหมายกันบ่อยๆ เรื่องบัญชียิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่ทำและอ่านกันไม่เป็นเลย

อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่กว่าเกี่ยวกับการลงทุนของคนไทย คือคนไทยไม่ออมเงิน ประเทศเรามีอัตราการออมต่ำมาก ตัวเลขล่าสุดที่ผมจำได้คือไม่เกิน ๑ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คนจีนออมกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ (การออมมากของคนจีนกลายเป็นปัญหาใหม่ของโลก น่ารักจริงๆ ไว้ว่างๆ ผมจะมาเล่า) ถ้าไม่มีเงินออมก็ไม่มีเงินลงทุน

ประเทศเรามีปัญหาน่าปวดหัวคือ อัตราการอ่านหนังสือต่ำและอัตราการออมต่ำ อัตราสองตัวนี่มารวมกันคนไทยเลยถูก “หลอก” กันได้ง่ายๆ ถ้าพูดเก่งหน่อย พูดอะไรเชื่อหมด อย่างรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” นั่นปะไร ผมดูๆ ไปเดี๋ยวนี้ผมคิดว่ากลายเป็นรายการ “หลอกคนไทยรายสัปดาห์” ไปแล้ว เอาเถอะครับ ถ้าคุณจะเชื่อก็ไม่เป็นไร ผมเลือกที่จะไม่เชื่อก็แล้วกัน ผมมีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อใช่ไหมครับ

แต่ผมจะเลิกพูดเรื่องคุณสนธิแล้ว ใช้ช่วงเวลานี้หากำไรจากสถานการณ์ที่คุณสนธิสร้างขึ้นดีกว่า ทำเหมือนกับคนที่พอมีความรู้เรื่องการเงินบ้างทั่วๆ ไปเขาทำกัน พูดมากมีแต่ศัตรู แต่ไม่พูดแล้วเอาเวลาไปคิดหากำไรจากความไม่รู้ของคน มีแต่ได้เงิน แต่คงจะเป็นเงินที่ได้มาด้วยความเซ็งๆ น่าดู

สรุปก็คือวิชาบังคับที่น่าจะมีในระดับมัธยมคือ “วิชาการเงินและการลงทุนเบื้องต้น” ไม่งั้นประเทศไทยไม่รอดในโลกทุนนิยม และประเทศไทยต้องมีนโยบายหรือวิธีที่จะสร้างให้คนไทยให้อ่านหนังสือมากกว่านี้ ไม่งั้นประเทศไทยก็ไปไม่ถึงไหนในโลกสังคมความรู้อีกเหมือนกัน

คำสำคัญ (Tags): #การอ่าน#การเงิน
หมายเลขบันทึก: 8159เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2005 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
>> ปัจจุบันการพัฒนาการของการสื่อสารอยู่ที่ wireless technology ครับ เครือข่ายสาย fiber optics ปัจจุบันทิ้งร้างอยู่ในอเมริกาเต็มไปหมด I am not an export on networking but I think we still need fiber optics for the backbone

คุณ s ครับ ผมเห็นข่าวประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่ต่อต้านการนำ EGAT ไปจดทะเบียนฯ ที่เกี่ยวกับสาย fiber optics ว่า EGAT สามารถให้บริการ fiber-to-home ได้เป็นพิเศษเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ครับ

ผมเห็นว่าบริการ fiber-to-home ค่อนข้างจะไม่ได้รับความนิยมและบริษัทที่ให้บริการเครือข่าย fiber-to-home ในอเมริกาก็ไม่ประสบความสำเร็จและมีรายได้ลดลง (บริษัทเล็กๆ หลายบริษัทก็เลิกให้บริการไปเลย) เป็นธุรกิจที่ถูกวิเคราะห์ว่าไม่มีอนาคตครับ

แต่สำหรับการใช้ fiber optic backbone network ของ EGAT เพื่อให้บริการเครือข่ายระหว่าง regions นั้น ผมเชื่อว่าเครือข่ายของ EGAT ไม่ได้มีส่วนได้เปรียบผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น CAT, TOT, TT&T, True (กำลังติดตั้ง), หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย เลยครับ

เท่าที่ผมมีข้อมูลผมพบว่าบริการ backbone ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ระดับหนึ่งทีเดียว

นอกจากนี้ธุรกิจ backbone ยังมีคู่แข่งจากเทคโนโลยีอื่น อาทิเช่น เทคโนโลยีดาวเทียม เป็นต้น ถ้า EGAT ไม่ได้เป็นองค์กรธุรกิจที่มีศักยภาพแข่งขันได้ (เช่นต้องใช้ทุนจากภาครัฐเพื่อไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและไม่ได้มีโอกาสพัฒนา backbone network ให้น่าสนใจเทียบกับคู่แข่ง) เทคโนโลยีดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ (อย่างเช่นใน IPStar) ก็อาจเป็นเจ้าตลาด backbone ได้

ดังนั้นสำหรับท่านที่กังวลว่าการจดทะเบียนฯ ของ EGAT จะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ธุรกิจของ SHIN นั้น อาจต้องคิดอีกชั้นหนึ่งว่า คนที่จะได้เปรียบจากการที่ EGAT ไม่ได้จดทะเบียนฯ (ทำให้ต้องอาศัยทุนจากภาครัฐเป็นหลัก) คือ Shin Satellite และ บริษัทโรงไฟฟ้าร่วมทุนจากต่างชาติ หรือเปล่าครับ

โดยส่วนตัวผม ผมเชื่อว่าไม่มีการตัดสินใจในการบริหารใดที่จะมีข้อดีหมดไม่มีข้อเสียเลย การกระทำทุกอย่างในโลกนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ (there is no silver bullet) ดังนั้นเราต้องประเมินทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าพบว่าข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย เราก็ต้องยอมรับข้อเสียเพื่อให้เกิดข้อดีนั้นๆ ครับ

การนำ EGAT มาจดทะเบียนฯ นั้น ผมเชื่อว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อเสียเลย) อย่างไรก็ตามความคิดคนเราแตกต่างกันครับ เราคนไทยก็ต้องช่วยกันคิดว่าเราจะเลือกข้อดีไหนและจะยอมรับข้อเสียไหนได้บ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท