ถึงเวลาที่จะลดคนลดต้นทุนอีกครั้ง ?


Wisdomwide การอบรม, อบรม, Knowledge Managmenet

เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คำถามที่ว่าจะลดต้นทุน หรือ ลดคน เคยเป็นคำถามที่สั่นสะเทือนใจของพนักงานจำนวนมาก หลายบริษัทต้องลดคนอย่างเลือกไม่ได้ แต่บางบริษัทก็ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ

มาถึงวันนี้ แม้โจทย์ทางธุรกิจจะเปลี่ยนไปบ้าง คือผู้ค้าไม่ได้กังวลถึงวิกฤตเศรษฐกิจมากเท่ากับประสิทธิภาพในการแข่งขัน ที่ถูกกดดันจากจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจ ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน การเมือง รวมไปถึงคู่แข่งระดับโลก

เอาเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพในการแข่งขันก่อน ตอนนี้เราอาจจะยังเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ แต่ภายใน 5 ปีนี้ ผู้เขียนคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าของจีน จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจของภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยที่อยู่ในช่วงคลุมเคลือ ไม่มีแนวทางนโยบายที่ชัดเจน นักวิเคราะห์หลายท่านให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีน ที่สูงถึง 728 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตคือโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยและจีนมีลักษณะคล้ายกัน คือการให้ความสำคัญต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ GDP ในภาคอตุสาหกรรมของจีนสูงถึงร้อยละ 42 ขณะที่ GDP ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 28 ในส่วนของภาคการเกษตรของจีนอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ส่วนของไทยอยู่ที่ร้อยละ 11.2

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ผู้บริหาร (Chief Operating Offcier: COO) หลายท่าน หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กร โดยมองทั้งในระดับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน แม้กระทั่งขอบเขตของ SWOT Analysis ที่เคยจำกัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าเพียงไม่กี่ราย ก็ยังขยายไปยังคู่งแข่งระดับภูมิภาค หลายท่านจึงย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ

ทีนี้หากจะตอบโจทย์ในเรื่องการบริหารต้นทุน ผู้บริหารรวมถึงพนักงานระดับปฏิบัติการย่อมต้องนึกถึงคำว่า “ระบบโลจิสติกส์ (Logistics)” ก่อนเป็นอันดับต้นๆ พอพูดถึง โลจิสติกส์ก็นึกถึงคียเวิร์ดอยู่ไม่กี่คำ เช่น การจัดตั้งสถานที่ประกอบการหรือคลังสินค้า (Facilities location) การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) และระบบการขนส่ง (Transportation) ที่ใช้คำว่าระบบ เพราะกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีส่วนเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล มีขั้นตอน ถ้าขืนรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แยกกันบริหาร อาจไม่ใช่การบริหารต้นทุนแต่อาจกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่นการมุ่งแต่จะลดปริมาณการขนส่ง อาจส่งผลเสียต่อต้นทุนของสินค้าคงคลังได้ ดังนั้นการเข้าใจระบบโลจิสติกส์จึงมีความสำคัญมากถึงขนาดมีการเปิดสอนในระดับปริญญาโทว่าด้วยการบริหารโลจิสติสก์โดยเฉพาะ

ในกระบวนการสร้างมูลค่า (Value Chain) Logistics ถือเป็นระบบสนับสนุนหลักของกระบวนการ ที่มุ่งเน้นการกำจัด ความสูญเสีย (Losses) หรืองานที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าในองค์กร (Non-Value Added Work) ที่จะทำให้ได้มาซึ่งผลกำไรจากการบริหารต้นทุน หลายองค์กรมองว่าถ้าบริหารโลจิสติกส์ได้ดี ก็บริหารต้นทุนได้ดี และช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น

“การบริหารสินค้าคงคลัง” ถือเป็นเรื่องหลักใหญ่ใจความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ ยกตัวอย่างแนวคิดง่ายๆ เช่น เมื่อไหร่ที่จำนวนสินค้าคงคลังสูงจนเลยระดับสินค้าเผื่อขาดมือ (Safety Stock) มาก ถึงแม้จะไม่สูงจนน่าเป็นห่วง แต่ก็มากพอที่จะทำให้ต้นทุนการจัดเก็บเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่พยายามอย่างยิ่งที่จะลดต้นทุนในทุกหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ดังนั้นหลายองค์กรจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งของการบริหารความสูญเสียในการเก็บวัสดุคงคลังและด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป

ในระบบโลจิสติสก์ แนวคิดเชิงลดต้นทุนจากความสูญเสีย 7 ประการ (7 WASTES) นับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อควบคุมดูแลสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ คือ เมื่อความต้องการของลูกค้าไม่สามารถคาดการณ์ได้และไม่มีการบริหารสินค้าคงคลังที่ดี คุณภาพของสินค้าอาจลดลงและแปรเปลี่ยนจากของดีคุณภาพสูง เป็นของเสียคุณภาพต่ำต้นทุนสูงแทน


เฉพาะแค่การบริหารสินค้าคงคลัง และ การบริหารต้นทุน (Cost Management) ก็เป็นประโยชน์ทางตรงสำหรับความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction) ส่วนในทางอ้อมอาจมองได้ว่าการบริหารสินค้าคงคลังที่ถูกวิธีจะช่วยป้องกันปัญหาด้านราคาของสินค้าและผลกระทบจากเงินเฟ้อ เมื่อราคาสินค้าในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น

“บางครั้งพนักงานขายก็ไม่สามารถพยากรณ์สินค้าที่จะขายได้อย่างชัดเจน แล้วเราจะแก้ปัญหาสินค้าคงคลังได้อย่างไร ?”


แนวคิดหนึ่งที่คิดค้นโดย Mr.Shigeo Shingo และ Mr.Taiichi Ohno คือ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota production system) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดความสูญเสีย 7 ประการ คือ
1. ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
2. ความสูญเสียเนื่องจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Inventory)
3. ความสูญเสียเนื่องจากการขนส่ง (Transportation) 
4. ความสูญเสียเนื่องจากการเคลื่อนไหว (Motion)
5. ความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต (Processing)
6. ความสูญเสียเนื่องจากการรอคอย (Delay) และ
7. ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตของเสีย (Defect)

นอกจากนี้การเข้าใจแนวคิดของความสูญเสีย 7 ประการ ยังเป็นพื้นฐานให้กับผู้บริหารที่จะประยุกต์ใช้เครื่องมือที่ชื่อ Lean Management ที่จะกล่าวในครั้งต่อไป

ผมไม่ได้จะบอกว่าเราไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่บอกว่าเราละเลยประเด็นสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจกิจของประเทศก้าวหน้า ที่จะทำให้คนไทยไม่เป็นลูกน้องชาวต่างชาติ โดยเราหลงลืมไปว่า ”ภาคธุรกิจ คือกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่แท้จริง”

หมายเลขบันทึก: 81315เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท