เมื่อเมืองจีนเขย่าโลก ตอนที่ 1 การเติบโตที่ยั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่


นี่มันดับเบิ้ลแสตนดาร์ดนี่หว่า พอได้เปรียบนะ เรียกร้องแต่การค้าเสรี พอเสียเปรียบปุ๊ป ปิดประตูหนีทันที

ตอนนี้เป็นตอนที่สองของจากแขกสู่เจ๊กนะครับ ในตอนนี้ผมจะพูดถึงหนังสือเรื่อง China shakes the world หรือที่ผมให้เสียงภาษาไทยในชื่อของเมื่อเมืองจีนเขย่าโลก ฟังแล้วเหมือนพวกสัตว์ประหลาดก็อซซิล่ากันไหมเนี่ย หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักคอลัมนิสต์ประจำเอเชียของ Financial Times ชื่อว่า James Kynges โดยที่เจ้าตัว James Kynges นั้นทำงานอยู่ในแวดวงข่าวเอเชียมามากกว่า 20 เลยทีเดียวครับ จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้นั้นอยู่ที่การได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมปี 2006 ของ Financial Times อันนี้ไม่รู้ว่ามีฮั้วกันหรือเปล่านะครับ

ตอนที่ผมจะเขียนนี้ จะพูดถึงแค่ส่วนแรกของหนังสือเท่านั้นครับ เพราะแค่ส่วนแรกของหนังสือนั้นก็มีประเด็นน่าสนใจมากมายที่เจมส์ได้ตั้งข้อสังเกตรวมไปถึงให้ข้อคิดที่น่าพิจารณาและน่าจะเอาวิเคราะห์ต่อ เพื่อประโยชน์ของเราครับ

หนังสือเล่มนี้เปิดประเด็นเหมือนหนังสือที่เขียนวิจารณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจและความก้าวหน้าของประเทศอย่าง Planet India และ China Inc คือเริ่มที่ความเจริญก่อน เจมส์นั้นมองเหมือนเท็ด (ผู้แต่งเรื่อง China Inc) ว่าความเจริญของเมืองจีนนั้นไม่ได้วางแผนกันล่วงหน้าแต่เป็นการจัดการตามน้ำมากกว่า แต่พอเจริญแล้วรัฐบาลจีนได้พยายามรักษาอัตราการเจริญเติบโตผ่านการกระตุ้นจากรัฐ (รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เป็นพวก Keynesian ซะด้วย) โดยการเน้นการสร้าง infrastructure ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ แต่สร้างนั้นไม่สร้างเปล่าครับ เจมส์บอกว่าจีนต้องการเป็นชาติมหาอำนาจ (super power)  ดังนั้นเมืองต่างๆในประเทศจีนและ infrastrucutre เช่นถนนหนทางนั้น โดยมากก็ลอกมาจากประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกานี่แหละ เจมส์บอกต่อไปว่า ไม่ใช่ลอกธรรมดานะ ลอกแบบเหมือนกันเกือบหมด ขนาดการตั้งชื่อถนนที่เป็นตัวเลข สีของป้าย ลักษณะของป้าย ยังลอกเลย แต่ในขณะเดียวกันเจมส์ก็บอกว่าที่ประเทศจีนเจริญอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าแรงและดอกเบี้ยที่ถูกของจีนด้วย บวกไปบวกมามันก็เลยเป็น spiral ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศจีนนั้นร้อนแรง

แต่เจมส์ตั้งข้อสงสัยว่า แต่ทำไมอยู่ดีๆจีนหยุดเจริญไปดื้อๆหล่ะ เพราะว่าถ้าเราย้อนเวลากลับไปนานนนนนนนนนนนนมากแล้ว สินค้าจากจีนเป็นสินค้าชั้นดีหายาก เป็นที่ต้องการในหมู่คนยุโรป ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือปอซเซลีน (porcelain) สินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ชนชั้นสูงยูโรปนั้นต้องการ นี่ยังไม่รวมไปถึงเทคโนโลยีของเมืองจีนที่ก้าวหน้าอย่างมาก เช่นเรื่องการต่อเรือและเทคนิคการเดินเรือ ที่เราอาจจะคุ้นหูกันดีกับซำปอกงหรือเจิ้งเหอ ที่เดินเรือซะรอบโลกมาแล้ว น่าคิดนะครับว่าทำไมอยู่ดีๆ เมืองจีนนั้นหยุดไปดื้อๆ เจมส์บอกว่าจริงๆแล้วเมืองจีนนะหยุดพัฒนามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังแล้ว ว่าเข้าไปนั่นเลยครับ แล้วก็บอกว่ามีทฤษฏีต่างๆ 5 ทฤษฏีที่คนพูดกันว่าทำไมเมืองจีนนั้นอยู่ๆหยุดพัฒนาไปดื้อๆ

  1. ขนาดรัฐบาลที่ใหญ่ เทอะทะและอุ้ยอ้ายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
  2. คนเยอะ พัฒนาไปก็ไม่คุ้ม ค่าแรงยังไงๆก็ถูกอยู่แล้ว
  3. ไม้หมด ไม่มีเชื้อเพลิงไม่มีวัตถุดิบที่สำคัญในการพัฒนา
  4. สงคราม ไม่ว่าจะภายในหรือกับชนกลุ่มน้อยรอบๆประเทศ
  5. ฝิ่น ก็ต่างชาติเอาฝิ่นมามอมเมาคนจีนนี่ แล้วคนจีนจะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาเทคโนโลยีหล่ะ

ผมมองว่าใน 5 ข้อนี้ ข้อ 1 นั้นดูเข้าทีที่สุดนะครับ ข้อ 2 นั้นคนจีนเยอะมาตั้งแต่สมัยไหนๆแล้ว แต่ก็ยังพัฒนาอยู่ได้นี่ ข้อ 3 เป็นอะไรที่ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไร เนื่องจากว่าประเทศกว้างใหญ่อย่างนั้น จะหาไม้ไม่มีก็คงจะเป็นไปไม่ได้นะครับ ข้อ 4 นั้นเป็นเรื่องที่ผมมองว่า อ้าวขนาดยุคสามก๊ก ขงเบ้งนั้นยังคิดอะไรๆได้เลย แถมอยู่ในช่วงสงครามด้วย และข้อที่ 5 ฝิ่นนั้นเพิ่งเข้ามาเมื่อ 200 กว่าปีเองครับ ก็คงอาจจะไม่ย้อนไปถึงขนาดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังได้ แต่ที่หนังสือไม่เขียนแต่ผมคิด คือ เรื่องสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่จำกัดครับ ประเทศที่มีนวัตกรรม และสามารถผลิตเทคโนโลยีได้ดีๆนั้น ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่าประเทศเหล่านั้นนั้นมีลักษณะที่คล้ายๆกันคือมีสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย (หนาวมาก)  แล้วก็ไม่ค่อยจะมีทรัพยากรหรอก ไม่เชื่อลองคิดดูนะครับ ญี่ปุ่น อังกฤษ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์ ประเทศเหล่านี้นั้น สภาพอากาศทารุณเหลือหลาย แถมทรัพยากรก็ไม่ค่อยจะมี ดังนั้นสิ่งที่จะทำได้คือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ คอยคิดสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งที่ช่วยในการดำรงชีวิต

เอาละ ในเมื่อประเทศจีนกำลังเจริญเติบโต ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่มแบบนี้ แต่ก็ยังไม่วายมีบางคนบอกว่า เมืองจีนก็เป็นได้แค่นี้แหละ ไม่มีทางก้าวเข้ามาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหรอก ทำได้แค่มีหน้าที่รับจ็อบ รับจ้างผลิตสินค้า เรื่องฝันจะเป็นจ้าวเทคโนโลยีนะหรอ ลืมไปได้เลย เพราะว่าค่าแรงที่ถูกแสนถูกทำให้การลงทุนสร้างเครื่องจักรหรือซื้อเครื่องจักรนั้นเป็นการลงทุนที่มาก เมื่อเทียบกับการจ้างแรงงานเพิ่ม, งบวิจัยที่น้อยของจีน เรื่องงบวิจัยที่น้อยนั้นส่วนมากเขาเทียบกับ GDP ครับ ซึ่งอันนี้นั้นน่าสนใจครับ เพราะว่าค่าแรงของจีนนั้นถูกการเทียบโดยการนับเป็นสัดส่วนกับ GDP ดูจะหยาบไปซักหน่อย และอีกปัญหาหนึ่งก็คือเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในเมื่อเราสามารถเจอของปลอม หรือคิดอะไรๆไปก็ถูกลอก มันไม่มีเหตุจูงใจที่จะพัฒนาอะไรใหม่จริงไหมครับ

แต่เจมส์บอกว่า ที่เรามองกันแบบนั้นนะ ผิดโดยสิ้นเชิง แค่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน จีนนั้นมีเทคโนโลยีหลายอย่างอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการโคลนนิ่งและ stem cell ก็ในเมื่อยุโรปกับอเมริกากำลังถกเถียงเรื่องจริยธรรมกับการโคลนนิ่ง บริษัทหัวใสของยุโรปและอเมริกาเองนั้นย้ายฐานไปอยู่ในเมืองจีนเรียบร้อยแล้ว, โครงการอวกาศที่จีนนั้นเป็นหนึ่งในชาติเพียงไม่กี่ชาติที่ส่งคนขึ้นไปบนอวกาศ, เรื่อง super computer ที่ตอนนี้จีนนั้นก้าวไปได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อ

แล้วอะไรที่ทำให้จีนนั้นกลายเป็นจ้าวเทคโนโลยีไปได้ คำตอบมีอยู่สองข้อครับ ข้อแรกเจมส์บอกว่าเพราะจีนนั้นใช้เงินซื้อเทคโนโลยี ไม่ได้คิดเอง จีนซื้อมาในรูปแบบของการเข้าไปฮุปกิจการครับ เริ่มจากสินค้าราคาถูกจากเมืองจีนที่ทำให้บริษัทหลายๆแห่งในยุโรปและอเมริกาเจ๊งกันเป็นแถบ ถึงขั้นปิดโรงงานขายเครื่องจักร ก็ไอ้พวกเครื่องจักรที่ถูกขายเหล่านี้แหละ ที่ถูกซื้อมาตั้งไว้ที่เมืองจีน แต่ซื้อแค่เครื่องจักรมันไม่พอนี่ครับ มันก็ต้องมีเทคนิค กรรมวิธี และ know-how รวมกันมาด้วยทีเดียว ข้อที่สองนั้นอาจจะประทับใจคนหลายๆคนก็ได้ครับ เพราะจีนนั้นใช้จำนวนประชากรเป็นข้อต่อรองครับ ซึ่งเจมส์ได้บอกว่านี่แหละที่ทำให้ประเทศ ASEAN อย่างไทย มาเลย์ และสิงคโปร์ ไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีได้ เจมส์ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆคือเรื่องของการประมูลสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าครับ ในการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้านั้นมีบริษัทหลายแห่งเข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็น GE ของ fast food nation อย่างอเมริกา Alstrom ของเมืองแฟชั่นฝรั่งเศส Siemen ของโรงเบียร์เยอรมันนี และ Mitsubishi ของสาวคิกขุจากญี่ปุ่น การประมูลนั้นเป็นไปอย่างบ้าคลั่งเรียกได้ว่าลดแลกแจกแถม เพราะว่าบริษัทเหล่านี้นั้นต้องการหาตลาดใหม่เพื่อที่จะทดแทนกับตลาดที่เริ่มอิ่มตัวในประเทศของตัวเอง แล้วตลาดใหม่ตลาดไหนที่จะหอมหวลเท่ากับเมืองจีนที่มีคนเป็นพันล้านคน ไม่มีอีกแล้วครับ แต่รัฐบาลจีนไม่ได้กินแกลบแถมไม่กลัวบริษัทพวกนี้ซะด้วย เมื่อรัฐบาลจีนนั้นบอกว่า บริษัทที่ชนะประมูลนั้นต้องส่งถ่ายทรัพย์สินทางปัญญามาด้วย เอาล่ะครับทีนี้ เรื่องใหญ่สิครับ ก็ในเมื่อบริษัทเหล่านี้ทำวิจัยกันแทบตาย ลงทุนกันเป็นพันๆล้านเหรียญ อยู่ๆจะมาถูกประเทศจีนชุบมือเปิป เล่นกันหน้าด้านๆแบบนี้ โหหห ปล้นกันชัดๆ (ถ้าดูดีๆ ทุกบริษัทที่มาลงทุนในจีนนั้นโดยแบบนี้หมดครับ) คราวนี้ก็ถึงคราวคิดหนักล่ะสิครับ ผลประโยชน์ก็หอมหวล แต่ถ้าปล่อยเทคโนโลยีไปมีหวังต่อไปเมืองจีนนั้นก็ทำตาม ก้าวมาเป็นคู่แข่งแล้วทีนี้เจ๊งแน่นอน จะเพราะว่าผลประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้านั้นหอมหวล หรือว่าคนเราไม่ค่อยคิดไกลเกินห้าก้าวก็ไม่ทราบได้ (ไม่เชื่อใช่ไหมครับ ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าคุณเป็นคนชอบกินไอศครีม ทั้งๆที่รู้นะครับว่า ไอศครีมนะเนื้อนมไข่ อ้วนทั้งนั้น แต่คนส่วนมากก็กิน เพราะฉะนั้นมีวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่าคนเราเห็นประโยชน์ระยะสั้นชัดกว่าผลประโยชน์ระยะยาวครับ) แล้วจีอีก็ชนะการประมูลครั้งนี้ไป เจมส์บอกว่าถึงแม้จีอีจะไม่ปล่อยเทคโนโลยีสุดยอด แต่ก็ปล่อยเทคโนโลยีที่สำคัญกับการสร้าง Gas turbine ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเลยทีเดียวครับ

ถ้าพูดถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ใครๆก็คงรู้นะครับว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่เจมส์บอกว่าแล้วคุณรู้ไหมว่า เรื่องทรัพย์สินค้าปัญญานี่แหละคือจุดกำเนิดของสงครามราคา (price war) ที่มีอยู่ตอนนี้เลยทีเดียวหล่ะ spiral ของสงครามราคาที่เจมส์นั้นกล่าวไว้นั้นเริ่มจาก การละเมิดลิขสิทธ์ เพื่อไปสร้างของปลอม เมื่อคุณสร้างของปลอมแล้ว มันไม่ใช่คุณคนเดียวนี่ที่สร้างได้ ยังมีใครอีกก็ไม่รู้ในเมืองจีนอีกตั้งหลายคนที่ใจตรงกับคุณ สร้างมันพร้อมๆกัน เจมส์ยกตัวอย่างถึงมอเตอร์ไซค์ครับ เจมส์บอกว่ามอเตอร์ไซค์ตอนนี้นะแทบจะล้นตลาด ล้นความต้องการของเมืองจีนแล้ว มีสต็อกเต็มไปหมด แต่ก็ยังมีผลิตกันมาเรื่อยๆ ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ มีบริษัทใหม่ๆ ผลิตออกมาด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่เจ้าเก่าเท่านั้น ไอ้สิ่งที่น่าสงสัยคือแล้วธนาคารปล่อยกู้ออกมาได้ไง ไอ้หย๋าไม่เห็นหรอว่าสินค้ามันล้นตลาดแล้ว NPL ชัดๆ แต่คำตอบที่ฟังแล้วช็อกซินีม่าไปเลยก็คือว่า ธนาคารจีนนั้นยังไงๆก็จะอนุมัติและไม่ค่อยจะคิดถึงเรื่องล้มละลายซะด้วย ฟังแล้วช็อกไหมครับ รู้ว่าขายไม่ออก แต่ก็อนุมัติถ้าจะล้มละลายก็ไม่ว่าอะไร

เรื่องของเรื่องมีเหตุผลอยู่สองประการครับ ประการแรกตามหลักเศรษฐศาสตร์เปะครับ คือคนจีนนั้นเป็นคนประหยัดและอดออม คนจีนนั้นออมถึง 40%  ของรายได้ครับ ดังนั้นธนาคารนั้นเงินล้นแบงค์ (ในตอนที่แล้วผมเขียนไว้แล้วนะครับว่าจีนนั้นเป็นประเทศที่ถืออเมริกันบอนด์เยอะมาก และนี่ก็คือสาเหตุหนึ่งครับ) ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรแล้ว ก็ปล่อยกู้ให้ดอกเบี้ยถูกๆครับ สาเหตุที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตครับ คือมันหยุดไม่ได้ครับ การไม่อนุมัติเงินกู้หรือเรียกให้บริษัทล้มละลายนั้นจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ถ้าเราอ่านข่าวเราจะเห็นว่าคนจีนนั้นตกงานเป็นแถว คนจีนต้องการงานปีหนึ่งประมาณ 24 ล้านตำแหน่งเพื่อรองรับครับ ถ้าไม่อนุมัติเงินกู้หรือยอมให้มีการล้มละลาย คนว่างงานตรีม ทำไม่ได้ครับ ยังไงรัฐบาลก็ปล่อยไม่ได้ ก็เลยต้องปล่อยไปครับ

แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจีนไม่มีทางแก้นะครับ เขาก็สนับสนุนให้บริษัทจีนนั้นส่งออกไปยังไงล่ะครับ โดยที่รัฐบาลนั้นช่วยทางด้านภาษีให้ ทำให้สินค้าแบรนเนมด์จีนส่งออกไปตีตลาดโลกโดยที่ราคาจีนนั้นถูกมาก ถูกอย่างน้อย 30% ของสินค้าที่ตัวเองลอกแบบมา แล้วทำไมคนเบี้ยน้อยหอยน้อยที่บริษัทตัวเองถูกปิด ที่เป็นคนตกงาน จะไม่ซื้อล่ะครับ  นี่แหละครับทำให้เกิดการลดสะบั้นหั่นแหลก แล้วทำให้บริษัทหลายต่อหลายบริษัทต้องเข้าไปเปิดในประเทศจีนเพื่อที่จะใช้แรงงานที่ถูก ลดส่วนต่างของราคาลง

ภาคแรกของหนังสือนั้นจบลงด้วยเรื่องของการค้าเสรีกับจีนครับ เจมส์บอกว่า การค้าเสรีนั้นพยายามเข้าไปในประเทศจีนตั้งแต่ 200 กว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลเฉียนหลงฮ่องเต้นุ่น (คนเดียวกับที่เราชอบดูหนังจีนเรื่องจักรพรรดิ์เฉียนหลงนะครับ) เข้ามาโดยรัฐบาลอังกฤษ แต่ตอนนั้นนะ เฉียนหลง ไล่ไปแบบไม่ดูดำดูดีเลยด้วยซ้ำ หลังจากนั้นประเทศตะวันตกก็พยายามเข้ามาทำการค้ากับประเทศจีน แต่ประเทศจีนก็ไม่เคยเต็มใจเปิดประเทศเลยซักครั้ง ถ้าจะมีก็มีตอนโดนบังคับเปิดเพราะสงครามฝิ่น (สงครามฝิ่นถ้าใครทราบนี่จะช็อกไปเลยครับ เรื่องจริงอันน่าขมขื่นสุดๆ) แต่ไม่ว่ายังไงก็ไม่ยอมเปิดเองครับ จะมาเปลี่ยนโฉมก็ตอนปี 2001 ที่จีนยอมเป็นสมาชิก WTO แบบเต็มตัว เจมส์บอกว่าเหตุผลที่ประเทศจีนนั้นไม่ยอมเปิดการค้าเสรีแบบเต็มตัวเพราะว่าประเทศจีนนั้นรู้ว่าเปิดไปก็สู้กับสินค้าตะวันตกไม่ได้ และเพราะว่าตัวเองไม่พร้อมก็เลยไม่เปิด รอจนกระทั่งเห็นว่าตัวเองพร้อมแล้วก็เลยเปิด และคราวนี้พอเปิดที ก็เล่นเอาโลกนั้นเลื่อนลั่นสั่นสะเทือนเลยทีเดียว ในเมื่อบริษัทหลายๆบริษัทของชาติตะวันตกนั้นเจ๊งกะบ๊งต้องคอยปิดกันเป็นทิวแถว อ่านแล้วก็น่าคิดนะครับว่าทำไมประเทศไทยตอนที่เปิดการค้าเสรีนั้นมีการคิดกันมากขนาดไหนว่าพร้อมขนาดไหน แล้วตอนนี้ไม่ทราบว่ามีใครทราบไหมครับว่าเป็นอย่างไร  

แต่เรื่องการค้าเสรีนั้นมันมีมากกว่าที่เราคิดครับ เพราะพอจีนนั้นเปิดการค้าเสรีปุ๊ป จีนก็ถูกลองดีทันทีเมื่อ อียู และอเมริกานั่นฮึ่มๆอยากจะจำกัดโควต้ายกทรงที่จีนส่งไปขายครับ เรื่องนี้นั้น รัฐมนตรีการค้าของจีนที่ชื่อโป ซีไหล (Bo Xialai) พูดไว้ได้แสบมากว่า "This, in fact, is a double standard. When they had a competitive advantage, they encouraged the whole world to open its doors, but when they discover that one developing country is becoming more competitive, the say, "OK, enough. Let's close the door now"" แปลเป็นไทยง่ายๆนะครับว่า นี่มันดับเบิ้ลแสตนดาร์ดนี่หว่า พอได้เปรียบนะ เรียกร้องแต่การค้าเสรี พอเสียเปรียบปุ๊ป ปิดประตูหนีทันที

นี่เป็นภาคแรกของหนังสือครับ ภาคที่สองนั้นเจมส์จะพูดถึงโอกาสการอยู่รอดท่ามกลางการเจริญเติบโตของประเทศจีนครับ (แต่ขอเวลาไปอ่านก่อนนะครับ)

ก่อนจากผมขอตั้งข้อสังเกตสัก 3-4 เรื่องครับ

  1. ทั้ง China shakes the world และ China Inc. ให้ความรู้สึกเดียวกันครับว่าคนจีนนั้นเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ คือทำงานหนัก สู้งาน ไม่เกี่ยงค่าแรงน้อย และประหยัดครับ
  2. คนจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนชนบทนั้นอยากกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมตอนแก่ครับ การขยันทำงาน อดออม นั่นก็เพื่อท้ายที่สุดจะได้กลับไปสร้างบ้านใหญ่ๆหลังจากตัวเองเกษียณไปแล้วทั้งนั้น จะว่าไปคุณพ่อคุณแม่ผมก็เคยบอกว่าคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายผมต่างก็อยากกลับไปอยู่เมืองจีนกันทั้งนั้น แต่ผมว่าอยู่เมืองไทยอ่ะดีที่สุดแล้ววววววววววววววว
  3. สงครามราคานั้นทำให้ค่าครองชีพของคนต่ำลง นั่นอาจจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืดครับ ผมมองว่าเราอาจจะเจอภาวะเงินฝืดแน่นอน รวมไปถึงเราอาจจะเห็นการลดค่าแรงก็เป็นได้นะครับ เพราะถ้าโรงงานไทยสู้กับโรงงานจีนไม่ได้ แรงงานไทยก็จำเป็นต้องเลือกระหว่างตกงานกับได้ค่าแรงน้อยแล้วหล่ะครับ อันนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลควรจะหาทางเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อควบคุมราคาสินค้าไว้ให้ดีครับ
  4. ประเทศจีนนั้นให้ประโยชน์แต่ยักษ์ใหญ่เท่านั้น มีการปิดบริษัทขนาดกลางและเล็กมากมายในประเทศตะวันตก ทำให้เกิดภาวะการหดตัวลงของชนชั้นกลาง แต่จำนวนคนจนและคนรวยต่างเพิ่มมากขึ้น อันนี้ต้องระวังอย่างมากครับ การหดตัวลงของชนชั้นกลางนั้นจะทำให้เกิดการลดตัวลงของกำลังซื้อด้วย ดังนั้นดีไม่ดีเราอาจจะเจอกับเศรษฐกิจชะงักงันก็ได้นะครับ

ที่มา: Kynge, J. China shakes the world, Houghton Mifflin, NY, 2006. ISBN 978-0-618-70564-1

หมายเลขบันทึก: 81211เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่านแล้วนะคะ...ได้ความรู้และสนุกดีค่ะ..ขอบคุณที่ให้สาระดีดีนะคะ..วันหลังจะเข้ามาอ่านเรื่องอื่นๆอีกนะคะ..from rose..

ดีครับ ผมชอบครับ ขอบคุณมากครับที่กรุณาเสียสละเวลาในการถ่ายทอดเรื่องดีๆ แบบนี้  คนจีนเนี่ยผมว่าเขาหินครับ วันก่อนผมดูสารคดีเรื่องห้าง supermarket แบบ 7-11 ของจีน ที่พยายามปรับตัวเพื่อต่อสู้กับของต่างชาติที่เข้ามาบุกแล้ว รู้สึกทึ่งครับว่า อืม เขาสู้สุดฤทธิ์แฮะ ไม่ยอมถูกกลืนง่ายๆ 

อันหนึ่งที่สำคัญในระดับชาติคือผมว่าผู้นำของเขามี  vision เขามีการสร้างคน สร้างผู้นำที่ต่อเนื่องมาตลอด แต่เรามักเน้นการเสพมากกว่าการสร้าง คงจะทำได้ในลักษณะเป็นชาติที่ขายบริการ มากกว่าเน้นทางด้านการผลิตนะครับ

* อ้อ แต่ละย่อหน้ารู้สึกจะยาวไปหน่อยครับ ทำให้อ่านแล้วเหนื่อย น่าจะย่อหน้าสั้นกว่านี้ สลับสีย่อหน้าเป็นสีอื่นเช่นน้ำเงินบ้าง น่าจะทำให้อ่านสบายตาขึ้นครับ

ขอบพระคุณคุณหมอมากครับ สำหรับข้อติชม วันหลังผมจะพยายามปรับปรุงเรื่องการเขียนให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะการย่อหน้าครับ

 

น่าสนใจมากค่ะ

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือประเทศจีนเองก็มีปัญหาที่ทับถมซ่อนอยู่ในระบบเศรษฐกิจอีกเยอะแยะ การมีเงินล้นระบบ การปล่อยกู้ คนล้นงาน อืม.....เมื่อไหร่เกิดขาใดขาหนึ่งของยักษ์อย่างจีนเปราะจนหัก ยักษ์จีนจะล้มทับใครบ้างก็ไม่รู้

 

อ่านแล้วสนุกค่ะ   ผู้นำมีความเด็ดขาดดีค่ะ  จะติดตามอีกนะค่ะ

สวัสดีครับคุณเอ๋

ขอบพระคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น เมืองจีนนั้นมีปัญหาหมกเม็ดมากจริงๆครับ เรื่องเงินล้นระบบเมืองจีนนั้นแก้ (จะว่าแก้ก็ไม่ถูกครับ) ในเรื่องเมืองจีนเขย่าโลกตอนที่ 1 ผมได้เขียนไว้ถึงเรื่องการปล่อยกู้อย่างง่ายดาย เพียงเพราะว่าเงินนั้นล้นระบบ

อีกวิธีที่แก้เงินล้นระบบก็คือไปซื้อบอนด์ของอเมริกาครับ ทำให้อเมริกานั้นเปรม ไปกับดอกเบี้ยต่ำตามที่เขียนไว้ในตอนนี้ครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ Ranee มากนะครับที่คอยติดตาม เห็นมีคนอ่านรู้สึกมีกำลังใจอยากอ่านเยอะๆแล้วมาเขียนแลกเปลี่ยนความรู้ครับ

ผมคิดอยู่เสมอว่า ความรู้หนึ่งอัน สามารถแตกได้เป็นร้อยเป็นล้านความคิด เพียงแค่ผ่านการพูดคุยของคนเท่านั้นครับ

แต่ผู้เขียนลืมค้นข้อมูลไปหนึ่งอย่าง แค่ไปซื้อของเขามาแล้วจะก้าวหน้าไกลกว่าเขา คงไม่จริง มิฉะนั้นไทยเราก็คงเจริญกว่าอเมริกาไปแล้ว เพราะส่งคนไปเรียนจนคิดว่าจีนคงส่งคนไปเรียนเหมือนเรา และชาติคอมมิวนิสต์จีน จะมีเงินมากมายไปซื้อของทั่วโลกแล้วพัฒนาชาติจากไหน ถ้าไม่ใช่สมองประจำชาติตัวเอง

ผู้เขียนลองไปค้นประวัตินักวิทยาศาสตร์โลกดู ด้านการบินมีคนจีนอยู่ ขึ้นชื่อเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์การบิน dynosoar ต้นแบบกระสวยอวกาศใ นสมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องนี้ก็เพิ่งรู้เหมือนกัน รู้สึกชื่อ Tsien คนนี้เรียนอเมริกาเหมือน ไอส์ไตน์ เรียนไปเรียนมากลายเป็นบิดาวิทยาศาสตร์ แล้วก็ถูกเนรเทศกลับไปอยู่จีนแดง หลังจีนประกาศเป็นคอมมิวนิสต์จากนั้นจะส่งคนไปเรียนอเมริกาได้ไง ไม่มีทาง

แต่จีนกลับมีประวัติการ spy เยอะมาก นักวิทยาศาสตร์วิศวกรรมชาติจีนถูกจับในสหรัฐ ล้วนเป็นคนทำงานให้ boeing บ้าง นักประดิษฐ์ชาติจีนตามบริษัทสหรัฐมีเยอะมาก

ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องของสมองประจำชาติ คิดแล้วเหมือนยกย่องชาวบ้านดูถูกตัวเอง ญี่ปุ่นเกาหลีส่งคนไปเรียนอเมริกาแต่ทุกวันนี้ยังสร้างคนเป็นบิดาวิทยาศาสตร์อย่างจีนไม่ได้ ลอกอย่างเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท