บันทึกเฉพาะกิจ (1) : ว่าด้วยปรากฏการณ์กิจกรรมนิสิต ปี 2549 - 2550


หากจะเรียกนักกิจกรรมว่าเป็น “คนดีของสังคม” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะกิจกรรมนิสิตนอกจากจะก่อเกิดประโยชน์ต่อนิสิตเองแล้ว ยังก่อเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมด้วยเช่นกัน

 

โดนรบเร้าจากน้องนิสิตให้เขียนบทความกึ่งเรื่องเล่าง่าย ๆ สบาย ๆ ตามสไตล์ที่ผมถนัดให้สักชิ้น เกี่ยวกับอะไรก็ได้...ถ้าจะให้ดีก็เป็นข้อสังเกตเล้ก ๆ น้อยด้านกิจกรรมก็ยิ่งดีใหญ่  ,  ดูเขาจะมีความสุขที่ร้องขอเช่นนั้น  แต่การเขียนภายในเวลาไม่ถึงครึ่งวันก็หนักหนาสำหรับผม  เพราะผมต้องใช้ข้อมูลเยอะพอสมควรจึงจะเขียนได้
 

แต่ท้ายที่สุด  ผมก็หลับตาจินตนาการถึงเรื่องราวกิจกรรมที่ผ่านพ้นและผ่านเลยเข้ามาในชีวิตในช่วงสั้น ๆ  พอที่จะประมวลเป็นถ้อยคำได้ดังประการฉะนี้ 

 

สังเขป (1) :  กิจกรรมนิสิตรสชาติชีวิตนอกหลักสูตรของหนุ่มสาวชาวมหา’ลัย


 

คงเป็นการยากอยู่ไม่ใช่น้อยหากให้ชี้วัดว่า “กิจกรรมนิสิตให้อะไรกับชีวิตนิสิตบ้าง ?”  แต่คำตอบที่พบถี่ครั้ง  และกลายมาเป็นคำตอบสากลไปแล้วก็น่าจะเป็นในทำนองที่ว่า “กิจกรรมนิสิตให้ประสบการณ์ชีวิตที่ไม่อาจค้นพบได้จากห้องเรียนตามรายวิชาทั่วไป”

  

ดังนั้น  จึงมีการเอ่ยทักกิจกรรมนิสิตในสถานะที่เป็น “กิจกรรมนอกหลักสูตร  หรือ กิจกรรมเสริมหลักสูตร” อันมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของสังคม

 

ถึงแม้กิจกรรมนิสิต  จะไม่ใช่กลไกอันสำคัญที่สุดของการเสริมสร้างและพัฒนาให้นิสิตเติบโตและงอกงามขึ้นเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าของสังคม  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า  การเรียนการสอนตามหลักสูตรแต่เพียงอย่างเดียว  จะสามารถเติมเต็มในการพัฒนาศักยภาพนิสิตอย่างสมบูรณ์ได้เช่นกันหากแต่ต้องพึ่งพิงกระบวนการทั้งสองอย่างควบคู่กันไป  

 

กิจกรรมนิสิต จึงเป็นเสมือนความท้าทายของการเรียนรู้และสัมผัสรสชาติชีวิตปัญญาชนนอกตำราเรียนของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย สู่การเรียนรู้คุณค่าความหมายของชีวิตและสังคม ฝึกฝนและปลูกสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (integrity)  มีจิตสำนึกแห่งความซื่อสัตย์ (honesty) และตระหนักในเกียรติภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ (Dignity of Man)  โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรสชาติแห่งการเรียนรู้ชีวิตที่ท้าทายคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยเป็นยิ่งนัก  และถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนผันไปมากมายสักแค่ไหน  เราต่างก็ไม่เคยสิ้นหวังในกระบวนการแห่งการพัฒนาศักยภาพนิสิตผ่านกระบวนการแห่ง  “กิจกรรมนิสิต”  เลยแม้แต่น้อย

 

สังเขป (2) :  ปีแห่งการวางรากฐานโครงสร้างและการเชิดชูคนดีของสังคม

 

หากจะเรียกนักกิจกรรมว่าเป็น “คนดีของสังคม” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะกิจกรรมนิสิตนอกจากจะก่อเกิดประโยชน์ต่อนิสิตเองแล้ว  ยังก่อเกิดคุณประโยชน์ต่อสังคมด้วยเช่นกัน  ซึ่งสังคมในที่นี้ก็หมายรวมถึงสังคมมหาวิทยาลัยและสังคมทั่วไป 

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า “คนทำดี”  ไม่หวังผลการตอบแทนใด ๆ จากสังคมเป็นแน่  แต่สังคมก็ควรต้องมีวัฒนธรรมที่ดีในการให้เกียรติและชื่นชมความดีงามของคนเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

 

ปีการศึกษา 2549  กองกิจการนิสิต  ได้ขับเคลื่อนให้มีการประกาศใช้แนวปฏิบัติด้านกิจกรรมนิสิตอย่างเป็นทางการ  และถือเป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมมี (เสมือน)  ระเบียบกิจกรรมใช้อย่างเป็นทางการด้วยการลงนามของอธิการบดี  และเตรียมความพร้อมสู่การตราเป็นข้อบังคับว่ากิจกรรมนิสิตในอนาคต

 

นอกจากนี้  ยังมีการประกาศใช้ “สมุดบันทึกกิจกรรม”  (Student Activity Passbook)  พร้อมวางระบบไปสู่การจัดทำใบระเบียนกิจกรรมนิสิต  หรือ ทรานสคริปกิจกรรม (Student Activity Transcript)  ซึ่งถึงในทางปฏิบัติจะยังไม่เป็นรูปธรรมนัก  แต่ก็ต้องถือว่าเป็น “จุดเริ่มต้น”  ที่ดีของการวางระบบอันสำคัญของการชี้ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการใช้กิจกรรมเป็นกลไกแห่งการเสริมสร้างและพัฒนานิสิต

 

เช่นเดียวกัน  กองกิจการนิสิต  ยังได้ปัดฝุ่นกระบวนการแห่งการ “เชิดชูเกียรตินักกิจกรรม”  ในนาม “ช่อราชพฤกษ์”  อีกครั้ง  หลังจากเว้นวรรคไปร่วม 2 ปี  รวมถึงการจัดสรรทุนให้แก่นักกิจกรรมมากถึง  50 ทุน  ๆ ละ  3,000  บาท

  

สิ่งเหล่านี้  ถือเป็นการวางระบบโครงสร้างการทำงานกิจกรรมนิสิตและการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเชิดชูคนดีของสังคมอย่างน่าภาคภูมิใจ

 

สังเขป (3)  :  วิถีแห่งการเชิดชูและสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรภายนอก

 

   

ปรากฏการณ์สำคัญอีกประการหนึ่งที่ถือได้ว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย  เนื่องจากแทบไม่ปรากฏเลยในห้วงเวลาอันยาวนานของกิจกรรมนิสิต  กล่าวคือ  มีองค์กรนิสิต ได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติ  ตลอดจนการได้รับการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอยู่หลายองค์กร  เป็นต้นว่า  ชมรมอาสาพัฒนา  คว้างรางวัลขวัญใจกระทิงมาครอง  จากนั้นยังได้รับการประกาศเกียรติคุณในระดับชาติให้เป็นองค์กรเยาวชนดีเด่นด้านบำเพ็ญประโยชน์เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 


ขณะที่ กลุ่มนิสิตพลังสังคม,(ค่ายสายธารปัญญาชน) สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ (ค่ายลูกฮักรักษ์สุขภาพ)  ก็ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภายนอกในการจัดกิจกรรม  รวมถึงชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง หรือที่รู้จักมักคุ้นในชื่อ “วงแคน”  ก็ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งศูนย์ฯ รวมถึงการออกค่ายสอนทักษะและสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะในด้านดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน  

   

และล่าสุด ชมรมอาสาพัฒนา สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์  และชมรมยุวชนประชาธิปไตย ก็ยังได้รับการพิจารณาสนับสนุนด้านงบประมาณจาก สสส. เพื่อจัดกิจกรรมในช่วงปิดภาคฤดูร้อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ส่วนนายพัชรพงษ์  สมัครสมาน  หัวเรือใหญ่ของชมรมรักบี้ฟุตบอล  ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย  เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งล่าสุด มาสด ๆ ร้อน ๆ

 

สังเขป (4)  :  มหกรรมคนอาสา ..กิจกรรมนอกระบบของคนดีที่หนีเรียนไปเกี่ยวข้าว

 

การรวมตัวของกลุ่มองค์กรนิสิตและกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “มหกรรมคนอาสา”  ถือเป็นการผลิกประวัติศาสตร์การจัดกิจกรรมนอกระบบอย่างน่าสนใจ  โดยพวกเขาได้รวมตัวกันประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเพื่อสังคมจากภายนอกร่วมกันจัด “มหกรรมอาสา”  ขึ้นมา   ด้วยการเชิญชวนนิสิตไปร่วมลงแขกเกี่ยวข้าวในพื้นที่ จ.มหาสารคาม  และร้อยเอ็ด  เพื่อแลกกับการรับบริจาคข้าวเปลือกจากเจ้าของนาไปมอบให้กับผู้ประสบภัย “น้ำท่วม โคลนถล่ม”  ในหมู่บ้านกิ่วเคียน, บ้านน้ำรี, บ้านทรายงาม ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์

 

กิจกรรมที่จัดขึ้นไม่ได้ขออนุมัติการจัดกิจกรรมต่อมหาวิทยาลัย  แต่ก็ใช้เวทีของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนและรวมพลอย่างสง่าผ่าเผย  เป็นภาพสะท้อนเรื่องจิตสำนึกของนิสิตที่มีต่อสังคม  เป็นภาพสะท้อนของการจัดกิจกรรมที่สอดรับกับภาวะทางสังคมที่เด่นชัดและเป็นประโยชน์อย่างจริงแท้

 

การลงแขกเกี่ยวข้าวท่ามกลางเปลวแดดและลมร้อนอันเริงแรง  คือ การได้สัมผัสเรียนรู้ต่อวิถีของ “ชาวนา”  ที่ยากลำบากและสัมผัสกับพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงของวิถีการทำนาของชาวนาอีสาน  .. เป็นกิจกรรมแห่งการเรียนรู้จริงที่น่าสนใจและควรค่าต่อการขยายผลอย่างต่อเนื่อง

จนท้ายที่สุด กองกิจการนิสิต ได้เข้าไปช่วยดูแลสนับสนุนด้านงบประมาณในการขนย้าย “ข้าวเปลือก”  ไปมอบให้กับพี่น้องชาวอุตรดิตถ์อย่างเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

สังเขป (สั่งลา)

ข้อสังเกตบางประการในบันทึกเฉพาะกิจฉบับนี้   เป็นข้อสังเกตอันน้อยนิดจากคนเฝ้ามองการดำเนินไปของกิจกรรมนิสิต  เป็นการเฝ้าสังเกตเพื่อ “ทำความเข้าใจ” เพื่อรอเวลาแห่งการ “ต่อยอด”  ไปสู่พันธกิจอันยิ่งใหญ่ในวิถีกิจกรรม 


บางเรื่องราวจากหลายองค์กรยังไม่ถูกบันทึกและนำเสนอไว้ ณ ที่ตรงนี้  แต่นั่นก็มิได้หมายถึงว่า  กิจกรรมขององค์กร หรือบุคคลที่เหลือนั้นปราศจากคุณค่าใด ๆ  หากแต่ผู้สังเกตการณ์อย่างข้าพเจ้าฯ  จะได้นำเสนอในวาระอื่นอีกครั้ง       

…………………………………………………………..

พนัส  ปรีวาสนา :  เขียน

เอกสารประกอบ “วันขอบคุณนักกิจกรรม”

24  ก.พ. 50

………………………………………………………..

หมายเลขบันทึก: 80960เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ชัดนี้ หมายถึงว่าเป็น KM หรือเปล่า...
  • นี่ประมวลนะเจ้..ยังไม่วิเคราะห์เลย
  • บทต่อไป (3)  มีเรื่องชมรมเพื่อนแก้ว ด้วย.
  • โปรดติดตาม...(ถ้าผมยังมีแรงเขียน)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท