วันแรกของตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ ๒


ทุกคนมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ต้องการจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

ตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีความคึกคักอย่างยิ่ง งานนี้มีดิฉันและคุณธวัช หมัดเต๊ะ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ครั้งนี้เราเชิญรุ่นหนึ่งมาช่วยทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยด้วย มีคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์มาช่วยทั้ง ๒ วัน คุณหมอกิตติไกร คมกฤส ไกรแก้ว มาช่วยได้เฉพาะวันแรก คุณหมอประกาศิต จิรัปปภา ไปต่างประเทศมาช่วยงานไม่ได้ คุณหมอมนู ชัยวงศ์โรจน์ ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จึงขันอาสามาทำงานแทนคุณหมอประกาศิตได้ ๑ วัน และยังใจดีอนุญาตให้ ภก.เอนก ทนงหาญ มาเป็นวิทยากรในวงเสวนาและทำหน้าที่ทีมงาน (แบบสารพัดอย่าง) ตลอดทั้ง ๒ วัน ทั้งหมดนี้คือน้ำใจของเพื่อนเครือข่ายที่มีต่อกัน

เราเริ่มประชุม "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" ตั้งแต่ ๐๗.๓๐ น.เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มย่อย เวลา ๐๘.๓๐ น. ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กล่าวต้อนรับทุกคนสั้นๆ หลังจากนั้นดิฉันแนะนำที่ประชุมให้รู้จักเครือข่ายของเรา ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งถึงปัจจุบันว่าได้ทำกิจกรรมอะไรมาแล้วบ้าง พร้อมทั้งบอกว่าทุกทีมที่มาร่วมตลาดนัดครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นสมาชิกของเครือข่ายแล้ว

กิจกรรม "เปิดตัวเปิดใจ" รับผิดชอบโดยคุณอาฬสา หุตะเจริญ และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน ใช้เกมนับเลขสลับกับการบอกชื่อและสถานที่ทำงาน เพื่อให้ทุกคนมีใจจดจ่อ มีสมาธิ คนที่ผิดพลาดจะถูกเชิญออกมาอยู่นอกกลุ่มและต้องเต้นท่าโปรโมชั่น work ให้เพื่อนดู (นำเต้นโดยทีมจากเขมราฐ) จึงจะกลับเข้าที่ได้ ผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์บางคนในกลุ่มว่ามีวิธีการอย่างไรจึงไม่ถูกคัดออก และถามคนที่ถูกคัดออกเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร ก็ได้ความรู้ปฏิบัติเล็กๆ เหมือนกัน

หลังจากพักดื่มน้ำชา-กาแฟ รับประทานอาหารว่าง เมื่อกลับเข้าห้องประชุมดิฉันแนะนำให้รู้จักกับตลาดนัดความรู้ แนวคิด วิธีการของ KM สั้นๆ วันนี้มีกิจกรรมตามโจทย์ ๓ ข้อข้างล่าง โดยโจทย์ข้อที่สองเราขอให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนไปทำงานนี้กับคุณธวัชและคุณสุภาพรรณกลุ่มละ ๒ คน ส่วนในห้องประชุมใหญ่มีการเสวนาเรื่องเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีดิฉัน คุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ ภก.เอนก ทนงหาญ และคุณยอดขวัญ เศวตรักต ผู้ที่ผ่านเวทีเพื่อนช่วยเพื่อนเรื่องการดูแลเท้ามาแล้ว มาร่วมวงเล่าให้ที่ประชุมเห็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้ ตลอดจนการนำความรู้ไปใช้ต่อ ช่วงเวลานี้มีการถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ตไปที่ รพ.เทพธารินทร์ และศูนย์สุขภาพเมือง รพ.พุทธชินราช พร้อมๆ กันด้วย (ทางบริษัทผู้ถ่ายทอดสดจะนำขึ้น Web แล้วจัด password ให้ทุกท่านเข้าไปดูได้ภายหลัง)

สมาชิกในห้องประชุมฟังการเสวนาด้วยความสนใจ เมื่อจบคุณหมอวีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์ ยกมือถามว่าคิว PA ของเราปีหน้าเต็มหรือยัง หลายคนรู้สึกว่า PA เป็นเครื่องมือที่ดี และคุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล แห่ง พรพ.เสนอให้เอาเรื่องนี้ขึ้นเวที HA Forum ต้นปีหน้าด้วย เป็นอีกขั้นในความสำเร็จของ PA นะคะ

   

ทีมสังเคราะห์แก่นความรู้ทำงานกันอย่างเอาจริงเอาจัง กว่าจะเสร็จเวลาก็ล่วงเลยไปมาก แต่ก็ได้แก่นความรู้มา ๙ ปัจจัยคือ การมีส่วนร่วมของชุมชน รูปแบบการบริการ กลวิธีในการสนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง การป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อน ครอบครัวมีส่วนร่วม เทคนิคในการให้ผู้ป่วยใช้ยาได้ถูกต้อง ศักยภาพของทีมสหวิชาชีพ สร้างให้ผู้ป่วยเกิดแรงจูงใจ และตัวชี้วัดผลลัพธ์

เราส่งต่อแก่นความรู้ให้กลุ่มย่อยทำเกณฑ์ระดับความสำเร็จ กลุ่มละ ๑-๒ ปัจจัย จนถึงเวลา ๑๗.๓๐ น.คราวนี้เราไม่ได้ให้มีการนำเสนอในห้องประชุม แต่นำมาพิมพ์แนบกับตารางแห่งอิสรภาพแจกให้ทุก รพ. ประเมินตนเองหลังรับประทานอาหารเย็นเสร็จ แล้วส่งคืนให้ทีมงานนำข้อมูลมาทำกราฟขีดความสามารถของแต่ละ รพ. แผนภูมิแม่น้ำ และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยน

๑๙.๐๐ -๒๐.๐๐ น.กว่าเล็กน้อย เราทำ AAR ทีมคุณอำนวย คุณลิขิต และทีมงาน คุณหมอวีรพัฒน์ขอร่วมเรียนรู้ด้วย ทั้งคุณอำนวยและคุณลิขิตพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาสำหรับการแลกเปลี่ยนน้อยมากๆ "คนยังอยากเล่า คนฟังก็อยากฟัง" คุณลิขิตก็บอกว่าตนยังจับประเด็นไม่ค่อยได้ดี ตอนแรกๆ ที่ดิฉันฟังหลายคน comment เรื่องนี้เกิดความรู้สึกว่าเราแย่จัง วางแผนงานมาไม่ดี จัดเวลาไม่เหมาะสม แต่พอฟังไปเรื่อยๆ เกิดความคิดแบบ positive ขึ้นมาว่าความรู้สึกที่ทั้งคุณอำนวยและคุณลิขิตแสดงออกมานั้น แสดงว่าทุกคนมีความตั้งใจและมุ่งมั่น ต้องการจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด อยากให้ได้ "product" ที่ดีออกมา และยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มาประชุมครั้งนี้สนใจอยากเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติจากเพื่อน อยากฟังเรื่องที่เพื่อนเล่าเยอะๆ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเราแล้ว ดิฉันและคุณธวัชจึงชี้แจงว่าสิ่งที่เราต้องการคือให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้กระบวนการ KM เรื่อง product เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น

เสียดายที่วันนี้ดิฉันไม่ได้เอาภาพถ่ายบรรยากาศของงานติดตัวกลับบ้านด้วย จึงยังไม่มีภาพมาแสดงนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 8076เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2005 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เข้ามาอ่านค่ะอาจารย์ขอแสดงความดีและ เสียดายที่ไม่ได้ไปดูด้วยตัวเอง  ขณะนี้ทีมkmi เหน็ดเหนื่อยกับงานมหกรรมกันเต็มที แต่อย่างไรไม่พลาดอ่านบันทึกของอาจารย์แน่นอนค่ะ (อาจารย์นอนดึกจังน่ะค่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันคงไม่ดีแน่ค่ะ )

ขอบคุณคุณน้ำที่เป็นห่วง ปกติก็นอนดึกเสมอค่ะ ประมาณเที่ยงคืน แต่ถ้าช่วงไหนต้องเร่งทำงานมาก ก็อาจจะถึงตีหนึ่งตีสอง รู้ว่าทีม สคส.คงเหน็ดเหนื่อยกันมากๆ ขนาดงานตลาดนัดของเราเล็กกว่าหลายเท่า เรายังต้องเตรียมการอย่างหนักเลยค่ะ

คุณน้ำก็อย่านอนดึกนะคะ ยิ่งตัวเล็กๆ อยู่ด้วย เดี๋ยวจะไม่มีแรงทำงาน

ขอแสดงความยินดีครับ  

วิจารณ์

ขอบพระคุณอาจารย์วิจารณ์ค่ะ เห็น comment ของอาจารย์แล้วดีใจมากๆ มีกำลังใจทำงานต่อ เพราะรู้ว่าอาจารย์ยังคอยติดตามเราค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท