๙. Event และเวทีศิลปะชุมชน


การทำโครงการศิลปะ เวที และ Event ทางศิลปะ จะช่วยให้สังคมและชุมชนมีแหล่งสร้างความงดงามและสร้างความสุขร่วมกันมากขึ้น

             การจัด Event และเวทีศิลปะชุมชน เป็นเครื่องมือจัดการทางสังคมอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ทำให้ผู้คนออกจากบ้านและโลกแบบแยกส่วน แล้วมาใช้ชีวิตกลางแจ้งด้วยกัน  เป็นแหล่งประสบการณ์ที่ลึกซึ้งที่ทำให้คนใช้ช่วงเวลาบางเสี้ยว  สัมผัสกับชีวิตและความเคลื่อนไหวของสังคม เห็นแนวโน้มของสังคม  ได้หยั่งชีวิตจิตใจของผู้คนเพื่อที่จะเข้าใจและวางตนเองได้อย่างถูกต้อง  ทำให้ปัจเจกและกลุ่มชนได้พัฒนาความสามารถที่จะเข้าถึงความสุข  ความปีติยินดี มีสติและความสงบรำงับ ละเอียดอ่อนที่จะสัมพันธ์กับโลกรอบข้างด้วยชีวิตจิตใจ  รู้จักทุกข์สุขร่วมกับผู้อื่น มีพื้นที่ให้คนอื่นเข้าไปอยู่ในจิตใจ

           สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานอันสำคัญของการที่ปัจเจกจะมีความสันติและความสุขสมบูรณ์มาแต่ข้างใน อีกทั้งให้สังคมมีชีวิตส่วนรวมที่เจือด้วยความงอกงามของวัฒนธรรมจิตใจ และวัฒนธรรมในการใช้ปัญญาเพื่อการแสดงออกต่อชีวิตรวมหมู่ได้ดีขึ้น

          การจัด Event และเวทีศิลปะ มักเป็นที่แพร่หลายในแหล่งการใช้ชีวิตของชนชั้นกลาง วงสมาคมของผู้นำสังคม คนมีการศึกษา และสถาบันการศึกษาทางศิลปะ ชุมชนและภาคสาธารณะ มักไม่มีเส้นทางการดำเนินชีวิตให้เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีศิลปะดังกล่าวได้ง่ายนัก การทำให้ศิลปะ ความงดงามแห่งชีวิต และกิจกรรมที่หล่อหลอมจิตใจ  เพิ่มความเข้าใกล้ชาวบ้านและเติมเต็มส่วนที่ศิลปะก็ควรขยายออกไปอยู่กับความเป็นจริงของสังคมซึ่งขาดหายอยู่มาก  ให้หลากหลายมากขึ้น สามารถทำผ่านการจัด Event และเวทีศิลปะชุมชน

       การจัด Event และเวทีศิลปะ จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยการจัดการ ในอันที่จะทำให้คนหลายคนและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย  สามารถเข้าใจร่วมกัน  เห็นจุดหมายร่วม  และทำงานร่วมมือกันได้ ซึ่งโดยปรกติแล้ว คนทำงานทางศิลปะจะไม่ถนัดและไม่ชอบ  ทำให้คนทำงานศิลปะ  ศิลปิน และคนที่มีความคิดสร้างสรรค์  กล้าคิด  กล้าแสดงออก จัดกิจกรรมที่เป็นเวทีการแสดงทางสิลปะไม่ได้  ส่วนใหญ่จึงทำตามแนวทางที่เห็นว่ามีอยู่ทั่วไป  เช่น การจัดแสดงนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่คนทั่วไปรับรู้และมีแพร่หลายอยู่แล้ว

        การริเริ่มให้เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ และจัดแสดงให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่การดำเนินชีวิต  เช่น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท  ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ คนทำงานทางศิลปะ ไม่ว่าจะเน้นศิลปะเพื่อความงามบริสุทธิ์ หรือเน้นความงามที่กลมกลืนอยู่กับคุณค่าการใช้สอยและคุณค่าต่อชีวิตประจำวัน  มีโอกาสที่จะบุกเบิกและพัฒนาแนวทางการทำงานของตนเองทางด้านนี้อีกมากเป็นอย่างยิ่ง

        เครื่องมืออย่างหนึ่งที่อาจช่วยได้ก็คือ การทำเป็นโครงงาน หรือโครงการ เพื่อจัด Event ขึ้นมา  ซึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ผมมีโอกาสไปช่วยเพื่อนและกลุ่มศิลปินมืออาชีพ  ซึ่งก็เป็นเพื่อนๆ พี่ๆ และกลุ่มครูในต่างจังหวัด คือที่จังหวัดชลบุรี  ทั้งครูศิลปะและสาขาอื่นๆ ที่สนใจ  จัดเวทีศิลปะเพื่อพากันเรียนรู้และทำอะไรด้วยกัน  เป็นเวทีกลางแจ้งข้างตำหนัก ร 5 ที่อ่างศิลา (มีภาพกิจกรรมให้เห็นบรรยากาศด้วย แต่โพสไว้ที่ http://pohchang.org /webboard/แดง-ดำเนื้อหาสาระ มีนหลายรูป ใครที่ทำงานศิลปะ  สอนศิลปะบูรณาการ หรือผู้สนใจ  ลองเข้าไปดูหาไอเดียได้นะครับ)

       การทำเป็นโครงงานและโครงการจัดแสดง จะทำให้มีเครื่องมือประสานความร่วมมือกับหลายคน  หากทำในท้องถิ่น  ก็สามารถประสานงานขอความร่วมมือด้านสถานที่  ขอจัดกิจกรรมในที่สาธารณะจากองค์กรท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้อง  ขอการสนับสนุนจากแหล่งทุน  ขอความร่วมมือจากศิลปิน  วิทยากร  รวมทั้งสื่อสารบอกกล่าวแก่สาธารณะ 

         คนทำงานศิลปะสาขาต่างๆ ตลอดจนนักวิจัยและนักเรียนศิลปะ  สามารถใช้การทำโครงการทางศิลปะและการจัด Event ให้เป็นวิธีการหนึ่งในการทำงานศิลปะ เพื่อพาศิลปะเข้าหาชุมชน เติมความงามและคุณค่าทางจิตใจ  พร้อมกับเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงบทบาทของศิลปะกับสังคมด้วยการปฏิบัติการจริง

         จะเห็นว่าแตกต่างจากการแสดงออกแบบฉับพลันด้วยตัวเราเองคนเดียว (Happening Art) เพราะทำให้ศิลปินและคนที่มีความสนใจร่วมกันเป็นกลุ่ม  ทำเวทีศิลปะร่วมกันขึ้นมาได้ ผมเลยเสนอแนะให้เพื่อนๆทำเป็นโครงงานขึ้นมา  เพื่อให้หลายฝ่ายในจังหวัดออกมาทำอะไรดีๆด้วยกัน  ซึ่งก็ได้ผลออกมาอย่างน่าประทับใจ  ได้สร้างความสุข และได้แรงบันดาลใจในชีวิต  เห็นความงดงามของชีวิตและออกไปสร้างสังคมให้มีความสุขความดีงามร่วมกันต่อไป

         ใครที่สนใจและอยากเริ่มเรียนรู้ที่จะยกระดับการจัดแสดงทางความคิดโดยใช้โครงงานและโครงการศิลปะและ Event ทางศิลปะชุมชน เป็นเครื่องมือ  ลองพัฒนาความคิดของตนเองให้เป็นโครงการนะครับ  ไม่ยากหรอก  ผมพาชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก ทำได้มาแล้ว...........ลองทำรายละเอียดต่างๆเป็นหัวข้อ ให้เห็นภาพและความเชื่อมโยงตั้งแต่ความคิดและการจัดการเรื่องๆต่างๆ ดังนี้นะครับ

        1. การเลือกเรื่องที่จะทำ เลือกเรื่องที่จะขับเคลื่อนด้วยเวทีศิลปะและ Event ทางศิลปะก่อน อาจใช้สิ่งที่ตนเองทำได้เป็นแกนก่อนแล้วทบทวนความหมายของมันออกมาให้ดี  ได้แง่มุมที่สร้างสรรค์  หรือใช้ประเด็นทางสังคมเป็นแกนเพื่อสื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับการพัฒนามนุษย์  การพัฒนาสังคม เช่น  โลกทัศน์เกี่ยวกับความสุข  สุขภาพ  การศึกษาเรียนรู้ คุณค่าและความหมายของชีวิต

        ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต การพัฒนาคน การพัฒนาปัจเจก มนุษภาพ - การพัฒนาศักยภาพชุมชน จะให้ผมลองดูให้ก็ยินดีนะครับ

        2. ชื่อโครงการกิจกรรม  ตั้งเอาตามที่เราเห็นว่ามีพลัง  สะท้อนจุดเน้นของเวที ละสามารถสื่อความเข้าใจกับสาธารณะได้

        3.  วัตถุประสงค์  ควรระบุวัตถุประสงค์ที่จะเกิดจากเวทีสัก 3-4 ข้อ

        4. กิจกรรมและการดำเนินการ แสดงออกมาหน่อยว่าจะสร้างสรรค์ชีวิตชีวาของเวทีอย่างไร มีอะไรบ้างที่จะทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้  เขียนแจกแจงเป็นข้อๆ

        5.  วิธีดำเนินการ  เขียนเป็นข้อๆ  บอกการปฏิบัติและลำดับการปฏิบัติ ไม่มีอะไรยุ่งยาก  แจกแจงตรงไปตรงมาตั้งแต่ต้นจนจบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง  คนอื่นเขาจะได้เห็นว่ามีหนทางเดินไปสู่จุดหมายได้ จะต้องทำอย่างไร

      6. ระยะเวลา  สถานที่

      7.งบประมาณ  บอกวงเงินค่าใช้จ่ายไป

      8. เจ้าของโครงการและคณะทำงาน

      9. การประเมินผลและรายงาน

     10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

     11. แผนงาน  นำเอากิจกรรมและการดำเนินงานต่างๆ มาใส่ตารางแสดงเวลาและการปฏิบัติเป็นตารางกิจกรรม

      12. ประมาณการค่าใช้จ่าย  ทำแผนงบประมาณให้เห็นรายละเอียด

       ลองทำดูนะครับ  เมื่อเสร็จแล้วก็ลองไปนำเสนอตามแหล่งสนับสนุนต่างๆ  จะทำให้ชุมชนและสังคมมีสิ่งดีๆเพิ่มขึ้นมามากขึ้นครับ

     

 

    

     

หมายเลขบันทึก: 80534เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท