การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข


ธงชัย วัลลภวรกิจ
โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี

วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาสถานการณ์การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดำเนินงาน

วิธีการศึกษา
- การวิจัยเชิงสำรวจโดยส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2549 กลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 94 แห่ง สถิติที่ใช้ได้แก่ t-test , chi-square test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

ผลการศึกษา
- จากแบบสอบถามที่ตอบกลับรวมทั้งสิ้น 84 แห่ง (ร้อยละ 89.4) จำแนกเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 23 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 61 แห่ง พบว่า การมีหรือไม่มีการบริบาลทางเภสัชกรรม มีความสัมพันธ์กับประเภทของโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีการดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์ 16 แห่ง (ร้อยละ 69.6) โรงพยาบาลทั่วไป 24 แห่ง (ร้อยละ 39.3) ระยะเวลาดำเนินการเฉลี่ย 5.1 ปี จำนวนหอผู้ป่วยที่มีการดำเนินการโดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.2 แห่ง และเภสัชกรใช้เวลาในการปฏิบัติงานโดยเฉลี่ยต่อแห่งเท่ากับ 8.6 ชั่วโมงต่อวัน หรือร้อยละ 6.8 ของชั่วโมงทำงานของเภสัชกรทั้งหมด คะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติตามมาตรฐานการบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยใน 10 กิจกรรมเท่ากับ 3.5 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลางและมีความสัมพันธ์กับจำนวนเภสัชกรที่มีวุฒิการศึกษา ด้านเภสัชกรรมคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r= 0.439, P < 0.05) กิจกรรมที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วน ได้แก่ การบริบาลทางเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยที่ย้ายหอ การร่วมตรวจเยี่ยมผู้ป่วยกับทีมรักษาพยาบาลและการจัดทำประวัติการใช้ยาของ ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา (ร้อยละ 22.5, 12.5 และ 7.5 ตามลำดับ) ในส่วนของการประเมินผลการดำเนินการ พบว่า ร้อยละ 72.5 มีการประเมินผลโดยหัวข้อที่มีการประเมินมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สถิติปริมาณงาน ผลลัพธ์ทางคลินิก ความคิดเห็นของทีมรักษาพยาบาล ปัญหาและอุปสรรคที่พบเป็นอันดับแรก มีสาเหตุจาก จำนวนเภสัชกรไม่เพียงพอ และเภสัชกรขาดความรู้และประสบการณ์ (ร้อยละ 82.5 และ 30.0 ตามลำดับ)

สรุป
- จำนวนโรงพยาบาลและจำนวนหอผู้ป่วยที่ดำเนินการยังไม่มากเป็นสถานการณ์ที่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเภสัชกรกับภาระงานที่มีอยู่ และจำนวนเภสัชกรที่มีวุฒิการศึกษาทางเภสัชกรรมคลินิก อันจะส่งผลให้เภสัชกรสามารถดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องและมี คุณภาพสูงขึ้น



จาก บทคัดย่อผลงานวิชาการนำเสนอ
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๙
วันที่ ๔-๖ กันยายน ๒๕๔๙ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร

หมายเลขบันทึก: 78781เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท