เก็บตกจับภาพกศน.คลองสาน


KM ในองค์กรและการสอนโครงงาน

หลังจากที่ได้ไปจับภาพกศน.เขตคลองสานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านและได้เขียนเล่าไปแล้วถึงรูปแบบการนำKM ไปใช้กับชุมชนของกศน.คลองสานไปแล้ว อ่านได้ในhttp://gotoknow.org/blog/thewater-1/77423

เมื่อวันที่ 11และ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาก็ได้ไปเก็บตกอีก 2 ประเด็นคือการจัดการความรู้ในรูปแบบโครงงานนักศึกษา และรูปแบบการจัดการความรู้ในองค์กรของกศน.เขตคลองสาน  มีประเด็นประทับใจหลายอย่าง จึงคัดลอกจากเอกสารถึง ผลการลงพื้นที่นี้มาให้อ่านกันก่อนใคร.... ดังนี้ค่ะ

 

การจัดการความรู้ในกลุ่มบุคคลากรในองค์กร

                หลังจากที่ผอ.อรสา ได้ศึกษากระบวนการการจัดการความรู้ทั้งจากการร่วมงานกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และจากการศึกษาจากเอกสารตำราและทดลองนำไปใช้กับชุมชนมาแล้ว จึงลองนำรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้ามาใช้ในหน่วยงาน โดยกำหนดให้ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ เป็นวันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน

                จากการเข้าสังเกตการณ์ของทีมจับภาพ (PC) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งตรงกับกิจกรรม KM Café ของครูกศน. ได้พบกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทำงานของครูกศน. 8 คนโดยมี ผอ.อรสา ทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย อยู่นอกวงคุย สำหรับประเด็นแรกเปลี่ยนประเด็นแรกคือการ ให้ครูทุกคนเขียนความภาคภูมิใจเกี่ยวกับการจัดงานนิทรรศการโครงงานนักศึกษาที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวาน (11 กุมภาพันธ์ 2550) พร้อมทั้งเขียนวิธีการในการจัดการกับนักศึกษาที่มีควบคุมยาก เป็นการดึงเทคนิคการจัดการกับนักศึกษาของแต่ละคนออกมา

                จากนั้น ก็เป็นการมอบหมายงานให้กับครูกศน. ด้วยวิธีการการจัดการความรู้ ที่แยบยล โดยผอ.อรสา จะแจกแผนภูมิการแบ่งส่วนราชการ และการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในอนาคต ให้ครูกศน. แลกเปลี่ยนกันคิดโครงงานให้สอดรับกับแผน และนโยบายหลักว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน

                จากนั้น ผอ.อรสาจะใช้คำพูดที่อ่านโยน พูดกับครูกศน.ว่าลูกทุกคำ ว่า เมื่อได้โครงสร้างคร่าวๆ แล้วให้ลูกทุกคนลองใส่ชื่อไปซิ ว่าใครจะรับผิดชอบด้านไหน ใครมีความถนัดด้านไหนก็ให้เลือกไปก่อน

                สิ่งสำคัญคือ ก่อนที่ทุกคนจะใส่ชื่อเพื่อรับหน้าที่งานต่างๆ ได้เกิดคำถามที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้งานของกันและกันจาก ครูกศน.บรรจุใหม่ว่า ผมไม่เข้าใจลักษณะงานทำให้ไม่สามารถเลือกได้ หลังจากนั้นจึงเกิดการเล่าลักษณะงานที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่ในแต่ละฝ่าย ประกอบด้วย งานผัสดุ งานเอกสาร งานธุรการ งานแผน งานสารบัญ และงานการเงินเป็นต้น ทำให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจงานของกันและกันมากขึ้น

                สำหรับบรรยากาศในกิจกรรมนี้เต็มไปด้วยความเป็นกัลยานมิตร ยิ้มแย้ม หัวเราะสลับกับความจริงจังในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี ผอ.อรสาซึ่งทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย กระตุ้นให้บรรยากาศน่าคุยไม่ครอบงำความคิดกับผู้ใต้บังคับบัญชา สังเกตได้จากหลายครั้งที่ครูกศน.ต้องเคลียร์ความไม่เข้าใจในเนื้องานหลายครั้ง แต่ผอ.อรสา กลับไปเข้าไปแทรก หรือเข้าไปเคลียร์ปัญหาด้วยตัวเองในทันที แต่จะปล่อยให้ครูกศน. เคลียร์และทำความเข้าใจกันเอง อีกทั้งระหว่างที่ครูกศน.ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็ไม่เร่งรัดให้แผนการดำเนินงานออกมา แต่เมื่อใดที่ผอ.อรสา เข้ามาแทรกมักจะเป็นการเติมเต็มความรู้ประสบการณ์ที่ตนมีมาให้กับครูกศน.ใหม่ด้วยคำพูดที่อ่อนโยนเหมือนลูกเสมอ

                การจัดการความรู้ในกลุ่มบุคคลากรในองค์กร จึงเป็นการนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรโดยสอดแทรกเข้าไปในการประชุมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีผอ.อรสาทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย มีครูกศน.เป็น คุณกิจ ที่ไม่ได้เกิดความเคลียดเลยว่าเมื่อมานั่งในที่ประชุมโต๊ะกลมแล้วพวกตนจะต้องทำKM บรรยากาศดำเนินไปโดยไม่มีคำว่าKM แม้กระทั่งมีผู้มาดูงานจากสคส.ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย ท่านผอ.ก็ไม่ได้หลุดคำว่าการจัดการความรู้ หรือคำว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกมา แต่ในวงพูดคุยกลับเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานซึ่งกันและกัน ประกอบกับในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังมี ผู้กระตุ้น ให้เกิดการเล่าได้ดี คือครูกบ ที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้ครูบรรจุใหม่ ที่มีอาการไม่กล้าเล่างานที่ต้นเองทำในตำแหน่งงานเอกสาร โดยครูกบ จะขอให้ครูบรรจุใหม่ช่วยเล่าให้ฟังเถอะเพราะเธออยากรู้จริงๆ และในอนาคตเธออาจจะไปช่วยงานเขาก็ได้ ทำให้ครูบรรจุใหม่ กล้าที่จะเริ่มเล่า และเล่าได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเห็นภาพการทำงานจริงๆ 

 การจัดการความรู้เรื่องการเรียนการสอน

                อยู่ในรูปแบบของการจัดโครงงาน ที่นักศึกษาจากแต่ละ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ทั้งเขตคลองสานจะนำผลงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันงาน นิทรรศการโครงงานนักศึกษา  โดยกศน.เขตคลองสานได้นำรูปแบบนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2545 กระทั่งถึงปัจจุบัน

                ผอ.อรสา กล่าวว่าเป้าหมายของการจัดงานนี้ก็เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานของนักศึกษา ภายหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูกศน.ในแต่ละสาระการเรียนรู้ ว่ามีความเข้าใจการสอนโครงการหรือไม่ โดยจะนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นอาชีพและในรูปของชิ้นงานต่างๆ  อีกทั้งเป็นการตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษาหลังจบการเรียนในแต่ละภาคการศึกษา ที่สำคัญยังเป็นการยืนยันว่านักศึกษาได้ส่งงานกับครูกศน.จริง

                นายศุภเลิศ นักศึกษา กศน.ระดับประถมศึกษา จากศูนย์การเรียนรู้ช่างนาค-สะพานยาว ซึ่งเคยผ่านกิจกรรมโครงการงานมาแล้ว 3 ครั้ง ให้สัมภาษณ์ในงานนิทรรศการโครงงานนักศึกษาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550 ว่า ตนเป็นเจ้าของชิ้นงาน MATH ART ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างสาระวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องกราฟและ พาลาโบล่า กับสาระวิชาการอาชีพ กล่าวว่า ก่อนที่จะออกมาเป็นชิ้นงานแต่ละชิ้น สมาชิกในกลุ่มแต่ละกลุ่มจะเกิดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เอาแนวคิดของทุกคนมารวมกัน หากมีข้อขัดแย้งความเห็นไม่เหมือนกันก็จะค่อยๆ ตัดทีละข้อจนเหลือข้อที่ดีที่สุดที่ทุกคนในกลุ่มยอมรับได้

                นายศุภเลิศ กล่าวว่า จากการมาร่วมกิจกรรมโครงการ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทำให้ตนเกิดการพัฒนาทักษะการนำเสนอชิ้นงาน เกิดการเรียนรู้จากกลุ่มอื่นๆ เพื่อนำไปปรับและพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง นอกจากนี้ยังเกิดสังคมในการศึกษาย่อยๆ ของนักเรียนและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงที่มาดูงานของนักศึกษา เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่ได้แนวคิดจากชิ้นงานของนักศึกษากศน. อีกด้วย

                นอกจากนี้ยังพบว่า ในการจัดกิจกรรมของงานของนักศึกษายังก่อให้เกิดความรู้ใหม่ จากการเรียนรู้ถูกผิดด้วยตัวนักศึกษาที่พยายามผลิตชิ้นงานมาสำเสนอในงานอีกด้วย ดังกรณีของ คุณศิริกาญจน์ นักศึกษาระดับชั้นประถม ซึ่งคิดที่จะนำเสนอชิ้นงานพื้นที่จำลองการทำการเกษตรแบบพอเพียง เธอพยายามจะประดิษฐ์กระต่ายตัวจิ๋วจากเปลือกหอยแคลง แต่เธอกลับไม่มีสีที่จะมาระบายเปลือกหอยให้เกิดสีสันตามต้องการเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เธอตัดสินใจลองนำเปลือกหอยแคลงไปแช่น้ำยาไฮเตอร์ 2 คืน ผลปรากฎว่าเปลือกหอยแคลงกลายเป็นสีขาว ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่าเธอเองก็สามารถประดิษฐ์กระต่ายสีขาวได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อสีเลย

            การจัดการความรู้เรื่องการเรียนการการสอน ซึ่งอยู่ในรูปของการจัดนิทรรศการโครงงานนักศึกษา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา และเป็นการสรุปบทเรียนของแต่ละภาคการศึกษานั้น ถือว่าเกิดขึ้นก่อนที่ ผอ.กศน.เขตคลองสานจะนำการจัดการความเข้ามาใช้ในองค์กร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียนรู้ของนักศึกษาจากต่างศูนย์การเรียนรู้ ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เกิดอาชีพ เกิดความสัมพันธ์ ข้ามระดับชั้น และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติงานของกศน.ได้เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ในกิจกรรมดังกล่าว เกิดเป็นอาชีพใหม่ สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและชุมชนได้ โดยมี ครูกศน.ทุกศูนย์การเรียนรู้ทำหน้าที่เป็น คุณอำนวย กระตุ้นให้นักศึกษา คิด และประยุกต์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน มีนักศึกษา เป็น คุณกิจ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน และมี ผอ.กศน.เขตคลองสานทำหน้าเป็น คุณเอื้อ ให้เกิดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ทุกๆ ภาคการศึกษา  
                การจัดการความรู้ของกศน.เขตคลองสาน นับเป็นการนำการจัดการความรู้ตามแนวทางของสคส. ไปปรับใช้ในงานของตนเอง มีความโดดเด่นที่เห็นการจัดการความรู้ที่กำลังขยายผลไปยังนักศึกษา และประชาชนในพื้นที่บริการให้ผู้ที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยปรับบทบาทของกศน.ใหม่จากเดิมที่เป็นผู้ให้ความรู้ เป็น คุณอำนวย ความรู้ให้กับทั้งชุมชน และนักศึกษา โดยไม่ยึดติดกับเกณฑ์การให้คะแนนของกพร.
หมายเลขบันทึก: 78121เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2007 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท