ผู้ใหญ่ลี KMธรรมชาติ กับการพัฒนา


ทำไมเราไม่นำ KMธรรมชาติ มาแจง หาข้อเด่นข้อด้อย เพื่อการพัฒนาต่อยอดในด้านต่างๆ แต่กลับทำเสมือนหนึ่งเป็นคำใหม่ มาให้คนตกอกตกใจ ชักดิ้นชักงอ ตายไปหลายคนแล้วครับ

เริ่มตั้งแต่ยุคแผนพัฒนาฯ ในปี ๒๕๐๔ ที่ทำให้ผู้ใหญ่ลี ต้องไปตีกลองประชุม  และเกิดความสับสนว่าประเทศกำลังจะพัฒนาอะไร

ผมเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ลีน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของระบบราชการ ไม่ใช่ผู้นำชุมชน

 

เพราะขนาดแสดงความเปิ่นได้ขนาดนั้น ไม่ใช่ผู้นำชุมชนแน่นอน แต่คนแต่งเพลงอาจกลัวถูกสั่งห้ามเผยแพร่ ก็เลยแปลงโฉมให้มาเป็น ผู้ใหญ่ที่น่าจะไม่มีตัวแทนที่ไหนไปฟ้อง ประเด็นนี้ไว้หาโอกาสคุยกันวันหลังนะครับ

  

การที่ผู้ใหญ่ลี แจ้งว่า

  

ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ด และสุกร

 

จนมาตอบคำถามว่า

สุกร แปลว่า ลูกหมาที่อาจสะท้อนถึงความคิดแบบตีความ ว่าเรื่องง่ายๆ อาจพูดได้ว่าเป็นเรื่อง ระดับลูกหมาหรือ ระดับหมูๆที่เขียนให้เพราะๆว่าสุกร

  

(หมาน้อย ในภาษาอีสาน ที่แปลว่า ลูกหมาแต่ไม่แปลว่า หมามีอยู่ไม่มากนั้น ผมไม่สามารถเขียนเป็นภาษาเขียนได้ ให้ต่างกันได้ เลยขอใช้ลูกหมาแทน ขอโทษด้วยครับ)

  

ผมมานั่งไล่เรียงดูแล้ว เกือบ ๕๐ ปีผ่านไป เพลงแห่งการประชดประชันระบบราชการ ก็ยังไม่ล้าสมัย และมีผลอยู่จนถึงปัจจุบัน

  

แต่แปรรูปเป็นคำที่คล้ายคลึงกัน เช่น การขยายฐานการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรยั่งยืน เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ คุณภาพชีวิต ชุมชนเข้มแข็ง และ สุดท้ายก็คือ การจัดการความรู้ และ ฯลฯ

  

คำเหล่านี้เป็นที่ใช้เป็นคำโฆษณา ชวนเชื่อ และโอ้อวดว่าเป็นคำใหม่ ทันสมัย

เช่นเดียวกับคำว่า สุกรที่เป็นคำสมัยใหม่

ที่ ผู้ใหญ่ลีก็ เข้าใจว่าไม่ใหม่  แต่ ก็ไม่แน่ใจว่าแปลว่า อะไร จึงแปลออกไปเป็นลูกหมาที่ชาวบ้านเลี้ยงกันอยู่แล้ว ที่(อาจจะ) แกมดูถูกฝ่ายบริหาร ด้วยซ้ำว่า แค่ลูกหมา ก็ต้องมาสั่งให้เลี้ยง 

อุปมาอุปไมย ครับ

คำว่า การจัดการความรู้ก็กำลังอยู่ในกระแสว่าเป็นคำใหม่ แต่ความจริงไม่ใหม่ เก่ามาเป็น พันล้านปีมาแล้ว

  

·        สิ่งมีชีวิต จัดการความรู้สั่งสมประสบการณ์ ไว้ใน DNA จนมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ก้าวหน้าด้านความรู้ในปัจจุบัน

 

·        คนไทยโบราณ จัดการความรู้จับช้างป่า มาใช้งาน เอาควายมาไถนา เอาวัวมาลากเกวียน เอาม้ามาขี่ เอาหมูมาเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำมันมาตั้งนาน ก่อนที่คนทั่วไปจะรู้ว่าตัวหนังสือคืออะไร

  

แล้วทำไม เราจึงคิดว่า การจัดการความรู้เป็นเรื่องใหม่

  

สาเหตุที่สำคัญที่ผมลองเดาดูนะครับ

 

·        ก็แบบเดียวกับการเลี้ยงหมูของผู้ใหญ่ลี ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อมีคนดัดจริต ไปใช้คำว่า สุกรกับชาวบ้านขึ้นมา ก็เลยเป็นเรื่องใหม่ สำหรับชาวบ้าน

 

·        และเป็นเรื่องใหม่สำหรับระบบราชการ และฝ่ายแผน ที่ไม่เคยรู้ว่าชาวบ้านนั้นเลี้ยง สุกรกันแทบทุกครัวเรือนอยู่แล้ว

  

ผมจำได้ว่า ในสมัยเด็กๆนั้น ทุกหลังคาเรือน จะมีหมูอย่างน้อย ๑ ตัว เสมอ ไว้กินรำและปลายข้าว จากการสีและตำข้าวไว้รับประทานในทุกครัวเรือน จะโรยให้ไก่ ก็ไม่จำเป็น เพราะไก่หาคุ้ยเขี่ยกินแมลงได้เอง

  

ดังนั้น แผนการเลี้ยงหมูจึงน่าจะเป็นตลกล้อเลียนภาครัฐมากกว่า

  

วันนี้ เรามี

การจัดการความรู้ ที่กำลังจะเป็นเรื่องตลก ทั้งในระบบราชการ นักวิชาการ  และระบบชุมชน ทั้งๆที่ทุกคนก็ทำอยู่แล้ว แบบKMธรรมชาติ  

ทำไมเราไม่นำ KMธรรมชาติ มาแจง หาข้อเด่นข้อด้อย เพื่อการพัฒนาต่อยอดในด้านต่างๆ แต่กลับทำเสมือนหนึ่งเป็นคำใหม่ มาให้คนตกอกตกใจ ชักดิ้นชักงอ ตายไปหลายคนแล้วครับ

  หรือ เราก็จะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนคำว่า สุกร ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 77949เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2007 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ  ขณะนี้ใคร ๆ ก็มักนำคำ KM ไปใช้กันจนไม่รู้ว่า แท้จริงในชีวิตประจำวัน การทำงาน เรามี ความรู้อยู่มากแต่ ไม่นำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้    สิ่งที่เห็นทุกวันนี้กำลังกลายเป็นกระแส   กลายเป็นแฟชั่น  เดี๋ยวกลัวเค้าจะหาว่าตกยุค    บางหน่วยงานถึงกับตั้งหน่วยงานระดับกอง ขึ้นมาทีเดียว  เช่น สำนักจัดการความรู้  โดยไม่รู้แก่นแท้ของมันเลย  KM ไม่ได้อยู่ที่มีหน่วยงานแบ่งแยกต่างหาก  แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ความรู้ในองค์กรนั้นมาก่อร่างสร้างการเรียนรู้ให้เกิดกับคนในองค์กร และคนรอบข้าง  อย่างน้อยเป็นตัวกลาง หรือกลไกให้มีประสิทธิภาพ   ดังนั้น ใครก็ได้ที่มีพลังอำนาจช่วยสร้างความกระจ่างด้วยนะครับ 

   พ.ศ.2504 เป็นปีที่ประเทศไทยประกาศใช้ แผนพัฒนาการเศรษฐกิจ(ฉบับแรก) เป็นความฉับไวของการสั่งการของนายอำเภอสั่งไปกับผู้ใหญ่บ้านครับ ผู้ใหญ่บ้านก็ต้องมีแผนพัฒนาหมู่บ้านด้วยครับ

  สมัยก่อนการสื่อสารช้า แต่สั่งการเร็ว ปัจจุบันสื่อสารได้ฉับไว แต่สั่งการได้ช้ามาก เพราะต้องโยนหินถามทางก่อนตั้งหลายก้อน

คุณไชยยงค์

ไม่ทราบพอจะเหลือหินสัก สองสามก้อนไหมครับ ผมโยนจนหมดแล้วยังหาทางไม่เจอเลยครับ

 

สมัยก่อนเขาโยนหิน

สมัยนี้ เขาโยนความรับผิดชอบ ครับเล่าฮู

เคยเจอคล้ายๆกรณี "ผู้ใหญ่ลี" สมัยนี้ด้วยค่ะ

เมื่อปีที่แล้ว ลงไปสังเกตุการณ์ประชุมหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้

ผู้ใหญ่บ้าน หยิบจดหมายของทางอำเภอมาอ่านให้ลูกบ้านฟัง  ทำนอง "ทางการเขาสั่งมาว่า  ใครมีสัตว์ป่าในครอบครองให้ไปแจ้งทางอำเภอ มิฉะนั้นจะมีความผิด"

ชาวบ้านก็ลุกมาถามว่า "สัตว์ป่า แปลว่าอะไร  นกเขา นกกรงหัวจุก ที่เขาเลี้ยงกันอยู่ทั้งหมู่บ้าน เป็นสัตว์ป่า หรือไม่"

ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ ดีกว่าผู้ใหญ่ลี ตรงที่ท่านยอมรับตามตรงว่า "ไม่รู้เหมือนกันว่า สัตว์ป่าที่ว่าแปลว่าอะไร  จะไปถามอำเภอให้"

สี่สิบปีผ่านไป  ประเทศไทยก็ยังปกครองแบบรวมศูนย์ที่ "ทางการเขาสั่งมาว่า"  อยู่ดี 

 

อาจารย์ ปัทมาวดี

ผมสงสัยจะได้ประเด็นไปคุยในวันที่ ๒ มีนาคม  ในหัวข้อ KM research

ขอบคุณครับ

  • อาจารย์ดร. แสวง รวยสูงเนิน คะ  อาจารย์เปรียบเทียบจนเห็นภาพเลยค่ะ 
  • ใช่ค่ะ  ถ้าบรรพบุรุษเราไม่มีการจัดการความรู้  เราคงไม่รู้จักสมุนไพร ไม่มีแพทย์แผนไทย  มาให้ประยุกต์ใช้กันแบบทุกวันนี้หรอกเนอะ
  • ขอบพระคุณค่ะ  หนิงได้ไอเดียอีกแล้ว  ขอเก็บเกี่ยวนะคะ

ด้วยความยินดีครับอาจารย์หนิง

ขอบคูณสำหรับทุกอย่างที่ช่วยเหลือครับผมและครอบครัวครับ ประหยัดเวลาไปได้มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท