ระบาดวิทยา


ระบาดวิทยา

         หนังสือจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านระบาดวิทยา   และเชิญประชุมเช้าวันที่ 25 พ.ย.48 (ซึ่งผมเข้าประชุมไม่ได้ - ติดนัด) ทำให้ผมระลึกชาติกลับไปสมัยเกือบ 20 ปีก่อน   เมื่อคุณหมอปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ  ไปสัมภาษณ์ผมถึงห้องทำงานรูหนูที่หน่วยพันธุศาสตร์  ภาควิชาพยาธิวิทยา  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  โดยมีคำถามว่าในอนาคตนักระบาดวิทยาจะตกงานหรือไม่   นักระบาดวิทยาที่ผลิตออกมาแล้วมีเพียงพอสำหรับอนาคตแล้วหรือยัง   โครงการ FETP ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกับสหรัฐในการผลิตนักระบาดวิทยา   ควรขยายเวลาต่อหรือยุติ

         คุณหมอปฐมเป็นบัณฑิตแพทย์เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง   เป็นผู้จบปริญญาเอกด้านระบาดวิทยา   ผมไม่มีความรู้ทางระบาดวิทยาใด ๆ เลย   แต่เขายกย่องว่ามีความคิดแปลก ๆ ดีจึงมาถามความเห็น   ผมจำได้ว่าผมกระอักกระอ่วนมากที่จะให้ความเห็น   แต่ก็กล้อมแกล้มตอบแบบใช้ "ปัญญาญาณ - intuition" (ในที่นี้แปลว่าเดาสุ่ม)   ว่าไม่หรอก   นักระบาดวิทยาจะไม่ตกงาน    และยังจะต้องผลิตนักระบาดวิทยาเพิ่มขึ้นอีกเพราะโรคมันไม่หยุดนิ่ง   มันจะมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก   ทั้งที่เป็นไปตามธรรมชาติและที่มนุษย์เองอุตริทำให้เกิด   ตอบเขาไปแล้วก็ฝังใจเรื่อยมาว่า   ตอบแบบนี้มีโอกาสถูก 50%   เพราะมี 2 choice เท่านั้น   คือผิดกับถูก

         คงเพราะเหตุนี้กระมัง   เขาจึงมาตั้งให้ผมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดนี้   ซึ่งดูรายชื่อที่ปรึกษาแล้วเป็นนักระบาดวิทยาระดับผู้ใหญ่หรือเป็นแพทย์ระดับปราชญ์ทั้งนั้น   ได้แก่
     ศ. นพ. มุกดา  ตฤษณานนท์
     นพ. สุชาติ  เจตนเสน
     นพ. ประยูร  กุนาศล
     นพ. ธวัช  จายนียโยธิน
     ศ. นพ. จรัส  สุวรรณเวลา
     ศ. นพ. ประเสริฐ  ทองเจริญ

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่
     1. กำหนดนโยบายและสนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน  แขนงระบาดวิทยา  และการพัฒนานักระบาด

วิทยาในสายวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ
     2. กำหนดกลวิธีให้มีการใช้ระบาดวิทยาในการบริหารงานสาธารณสุขทุกระดับ
     3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามความจำเป็น

         ไหน ๆ ก็บันทึกเรื่องระบาดวิทยา   ก็ขอบันทึกความประทับใจอีกเรื่องหนึ่งคือ   เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว   จู่ ๆ คุณหมอคำนวณ  อึ้งชูศักดิ์  ผอ. สำนักระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุข  ก็โทรศัพท์มาหา   บอกว่าอาจารย์ช่วยที  ช่วยเป็น keynote speaker ในการประชุมระบาดวิทยาแห่งชาติให้ที   ผมก็ถามว่าทำไมแจ้งกระชั้นอย่างนี้ (ประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนการประชุม) หมอคำนวณก็สารภาพว่าเดิมเชิญท่านองคมนตรี  ศ. นพ. เกษม  วัฒนชัยไว้   และท่านก็รับแล้ว   แต่เกิดมาติดงานตามเสด็จกะทันหัน   ไม่รู้จะพึ่งใครจึงต้องหันมาขอร้องผม   ด้วยความเห็นใจและเพราะรักใคร่สนิทสนมกับหมอคำนวณ   ผมก็ตอบรับ   รับแล้วก็มากลุ้มใจว่าเราไม่มีความรู้   จึงต้องคิดวิธีพูดแบบคนไม่รู้   กลายเป็นสนุกและท้าทาย   พูดจบมีคนมาบอกว่าดี   ช่วยให้มุมมองที่เขาไม่เคยคิด   รอดตัวไป

          เฉลยวิธีพูดแบบคนไม่รู้นะครับ   คือพูดแบบเน้นตั้งคำถาม   ไม่พูดแบบเน้นให้คำตอบ

วิจารณ์  พานิช
 19 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7726เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2005 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีหลักสูตรปริญญาเอกระบาดวิทยา (นานาชาติ) ด้วยครับ

กำลังพยายามศึกษาหาความรู้ด้านระบาดวิทยาอยู่ครับ

เพราะเห็นว่าเป็นสาขาวิชาที่เอามาใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ได้ดีมาก ๆ

จะพากเพียรเรียนรู้ต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท