ระบบสร้างสรรค์ปัญญาอเมริกัน (2)


ระบบสร้างสรรค์ปัญญาอเมริกัน (2)

         โปรดอ่านตอนที่ 1 (click) ก่อนนะครับ

         ท่านที่สนใจอ่านบทความต้นตอเอง   อ่านได้จาก www.smithsonianmag.com   แต่จะไม่มีรูปบางรูปที่ลงในนิตยสารฉบับพิมพ์   ซึ่งผมยืมมาจาก อ. นพ. ปรีดา  มาลาสิทธิ์   ซึ่งผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

          ขอเลือกเอานักบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นของอินเดียนแดงกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาเล่าเป็นคนแรก - Jane Mt. Pleasant   ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์การเกษตรและนักวิชาการด้านอเมริกันอินเดียน   ตัวเธอเองมีบิดาเป็นอเมริกันอินเดียน   ตอนวัยรุ่นเรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ   ออกไปขับรถแท็กซี่ในนิวยอร์กอยู่ 8 ปี   แล้วจึงเรียนต่อจนจบปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล   และปริญญาเอกที่ ม.นอร์ธแคโรไลน่า สเตท   ทำวิจัยด้านดินกับวิธีการปลูกพืช   ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเดิมของอเมริกันอินเดียนในการปลูกพืช "สามพี่น้อง" ให้พึ่งพาอาศัยกัน   ได้แก่ ข้าวโพด   ถั่วและน้ำเต้า   โดยที่ลำต้นข้าวโพดทำหน้าที่เป็นค้างให้แก่น้ำเต้าซึ่งทำหน้าที่ยึดและปกป้องหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้าง   ส่วนถั่วช่วยบำรุงดิน   ด้วยภูมิปัญญาเช่นนี้จึงนำไปสู่ "การเกษตรยั่งยืน"    ในปี คศ.1998 ได้รับรางวัล Ely S. Parker Award จากสมาคม American Indian Science and Engineering Society    รางวัลนี้ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกาที่ทำงานวิจัยเกิดคุณประโยชน์แก่ชนเผ่าดั้งเดิม

                                            

                                              Jane Mt. Pleasant

          วิธีการปลูกพืชให้พึ่งพาอาศัยกันของ Mt. Pleasant ทำให้ผมนึกไปถึงป๊ะหรนแห่งจังหวัดสตูล   ที่มีวิธีปลูกต้นไม้ 3 ชนิดในหลุมเดียวกัน   และคำบ่นของ Mt. Pleasant ว่า "ค้นแทบจะไม่พบคนหนุ่มคนสาวที่อยากเป็นเกษตรกรเลย"  และ  "หาคนอเมริกันอินเดียนที่ต้องการเรียนเกษตรได้น้อยมาก"   ฟังดูเหมือน ๆ กับในสังคมเกษตรกรรมของประเทศไทย

          เวลานี้ Jane Mt. Pleasant เป็นรองศาสตราจารย์ด้านพืชศาสตร์และเป็นผู้อำนวยการโครงการ American Indian Program ด้วย

          ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จาก www.yvwiiusdinunohii.net/News2004/0402/BeckerCornell040212IroquoisMethods.html หรือ www.eurekalert.org/pub_releases/2004-02/cunstim021104.php

           นี่คือวิธี "makes a difference" อย่างหนึ่ง   การเอา "ภูมิปัญญา" ในต่างวัฒนธรรมมาบรรจบกัน   ทดลองใช้และสร้างสรรค์เป็นวิธีการหรือแนวทางใหม่

           Mt. Pleasant มีความสามารถ "เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส"    การเกิดมาเป็นอเมริกันอินเดียนเป็นข้อเสียเปรียบในสังคมอเมริกัน   แต่เธอสามารถเปลี่ยนให้เป็นข้อได้เปรียบและเป็นโอกาสในการทำงานวิชาการเพื่อประโยชน์ของคนอเมริกันอินเดียน

วิจารณ์  พานิช
 19 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7724เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2005 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท