ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

กินไป คุยไป เพื่อหาแนวทางความพอเพียง


ในกระบวนการผลิตไม่ควรเน้นเพื่อกำไรอย่างเดียว ต้องมองความเกื้อกูล และการพึ่งพาในระบบ

กินไป คุยกันไป เมื่อตอนเย็นผมมีโอกาสได้โชว์ฝีมือในการทำลาบหมูป่า และน้ำซุบร้อนๆ  ณ มหาชีวาลัยอีสาน หลังจากนั้นจึงได้จัดสำรับพร้อมร่วมรับประทานอาหารเย็น ที่ร้อนๆ กับท่านครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ในขณะที่รับประทานอาหาร ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านครูบาหลากหลายเรื่อง นับว่าเป็นกับแกล้มที่กลมกลืนทีเดียว

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมมีความกังวลใจ และเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรคือ การเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นวัว หมู ที่ราคาค่อนข้างตกต่ำในปัจจุบัน ซึ่งไม่รวมถึงการเลี้ยงไก่ หรือสัตว์ปีก ที่ต้องเผชิญกับไข้หวัดนก

นอกจากนั้นหากมองในเรื่องของการผลิตพืชผักก็ประสบปัญหาเดียวกันคือ ราคาตกต่ำ ไม่รู้จะไปขายที่ไหน เพราะพืชผักที่ผลิตออกมาในแต่ละช่วงฤดูกาล และในแต่ละพื้นที่ก็จะเป็นชนิดของพืชที่เหมือนกัน สุดท้ายก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นเคย

จึงเป็นคำถามที่ผมได้เรียนสอบถามท่าน ครูบาสุทธินันท์  ผู้ที่มีประสบการณ์อันยาวนาน ท่านจึงให้ข้อคิดว่า จากสภาพการณ์ปัจจุบันคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เกษตรกรจะต้องพึ่งตนเองเป็นสำคัญ เพราะครั้นจะไปพึ่งรัฐบาลก็คงลำบากเช่นกัน เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองในบ้านเรายังไม่แข็งแกร่งพอ

ดังนั้น แนวทางที่ดีคือการเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องเลี้ยงแบบเกื้อกูล อย่าหวังกำไรจากตัวสัตว์เพียงอย่างเดียว เช่นการเลี้ยงวัวหนึ่งตัวนั้นหากจะคิดผลตอบแทนต่อปีคงไม่กี่บาท (ประมาณ 1,000 บาท) บางครั้งอาจขาดทุนด้วยซ้ำไป และการเลี้ยงหมูก็เช่นกัน ยิ่งตอนนี้ราคาตกต่ำค่อนข้างมาก อยากให้พี่น้องเกษตรกรมองว่าการเลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และต้นทุนต่ำ เพื่อที่เราจะได้นำปุ๋ยเหล่านั้นไปปรับปรุงบำรุงแปลงนา ปลูกพืชผัก และไม้ผล โดยให้มีทั้งสัตว์และพืชควบคู่กันไปในระบบการผลิต

นอกจากนั้นการผลิตในแนวทางดังกล่าวยังเป็นการสร้างแหล่งอาหารโปรตีนให้กับครอบครัวอีกด้วย กล่าวคือเมื่อเราขายเป็นตัวมีชีวิตไม่ได้ราคา เราอาจจะชำแหละขายเป็นเนื้อขายในชุมชน และส่วนหนึ่งก็เก็บไว้เป็นอาหารสำหรับสมาชิกในครัวเรือน หากเราวางแผนการจัดการที่ดี สามารถหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี นั่นแสดงว่ามีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

อาจสรุปได้ว่า การผลิตที่หลากหลาย เน้นการเกื้อกูล มีความเหมาะสมกับบริบทของคนทำ และพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ก็ดี นี่คือสิ่งที่พี่น้องเกษตรกรต้องขบคิดอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงทุกกิจกรรม ถามว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่นักวิชาการต้องขบคิด และเร่งสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรให้จงได้

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

7 กุมภาพันธ์ 2550

หมายเลขบันทึก: 77030เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เหมือนที่เคยคุยกันไว้ชาวบ้านชอบปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันไหนราคาดีปลูกเลย พอปลูกกันมากราคาก็ตกครับ ชาวบ้านก็ขาดทุน
  • คงต้องให้ชาวบ้านปลูกหลายๆอย่างครับ
  • เพลงไพเราะดี
  • ไปขอนแก่นวันไหนครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิต

  • เป็นสิ่งที่น่าขบคิดสำหรับนักวิชาการ และนักพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นแบบนี้มานาน แต่ทำไมแก้ไขไม่ได้ครับ
  • พรุ่งนี้ผมต้องเดินทางไปประชุมด่วนที่กรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้ไปขอนแก่นร่วม UKM ครับ
  • ฝากความระลึกถึงพี่น้องชาว GotoKnow ทุกๆ ท่านด้วยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท