โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒๒)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒๒)

            ผมเอาตอนนี้มาไว้ท้ายสุด    ให้เห็นว่าโรงเรียนชาวนาเป็นการเรียนรู้ที่มีมาตรฐาน     มีตัวชี้วัดแน่นอน     และนักเรียนก็มีความซื่อสัตย์ยอมรับว่าตนยังปฏิบัติไม่ตรงกับกติกาที่จะถือว่าผ่านเกณฑ์

ตอน : ยังไปไม่ถึงฝั่ง

 ถึงแม้ว่าคุณกิจของเราจะร่ำเรียนอย่างหนัก ทั้งความรู้เทคนิคทางการปรับปรุงดินไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักสูตรต่าง ๆ หัวเชื้อจุลินทรีย์ การทำปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ ฮอร์โมน ทั้งจากพืชและจากสัตว์ รวมทั้งการเรียนรู้ คุณภาพของดิน และการปรับสภาพดินให้เป็นกลางจากการสร้างความอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติ
 แต่ความรู้ที่ได้มา ได้เริ่มปฏิบัติจริงในไร่นามาก็ไม่นาน  ก็ยังมีบ้างที่ยังคงใช้ปุ๋ยเคมี “ก็มันเคย” เป็นคำพูดที่เคยชินของคุณกิจ ความหวาดกลัวที่จะถูกลดผลผลิตลงจากเดิมนั่นหมายถึงความสั่นคลอนทางทางเศรษฐกิจของครอบครัว และเป็นการเริ่มต้นของความรู้ใหม่ ๆ ที่ต้องการการพิสูจน์จากคุณกิจ  จึงไม่ผิดที่คุณกิจจะมีความรู้สึกหวั่นไหวต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นในไร่นาของตัวเอง
 “พวกเรายังอยู่ในระหว่าง ลด  ละ  เลิก การใช้ปุ๋ยเคมี และคิดว่าจะเลิกแน่ในปีหน้าที่จะถึง”

 คุณกิจทั้งหลายผ่านหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินมาแล้ว แต่ก็ยังรู้จังหวะย่างก้าวของตัวเองเป็นอย่างดี พวกเขายังก้าวไม่พ้นสารเคมี ดังนั้นพวกเขายังคงต้องเรียนซ้ำชั้นในรูปแบบการเพิ่มความเข้มข้น และหยุดใช้ในหลักสูตรที่ยากที่สุด คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าว
 “พวกเรากำลังพยายามต่อสู้กับความคิด ความเคยชิน ผมรู้ว่าเรายังไปไม่ถึงฝั่ง แต่อีกไม่นานพวกเราจะไปยืนบนฝั่งอีกฝั่งหนึ่งให้ได้ ซึ่งเป็นฝั่งที่ทำให้พวกเรายืนได้อย่างเต็มภาคภูมิ พวกเราจะต้องเรียนเรื่อง การปรับปรุงบำรุงดินต่อ จนกว่าเราจะเลิกใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีทั้งหมด” เป็นคำกล่าวของชาวนาคนหนึ่งที่พูดออกมาอย่างมุ่งมั่น
 ดวงตาและริ้วรอยของใบหน้าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ มองไปข้างหน้าอย่างคนที่มีความหวัง และมีความสุขอยู่ข้างใจจิตใจอย่างแท้จริง

           โปรดสังเกตนะครับว่า นักเรียนชาวนาพร้อมใจกันเรียนซ้ำชั้น    โดยที่ทุกคนรู้ว่าการสนับสนุนการเงิจาก สคส. จำกัดเพียง ๒ ปี    หลังจากนั้น สคส. จะยังคงเป็นพันธมิตรเครือข่ายกัน    แต่ไม่มีเงินสนับสนุนอีกแล้ว     จากการพูดคุยกัน ทั้ง มขข. และนักเรียนชาวนาหลายคนคิดว่าการทดลองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มนักเรียนชาวนาจะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ แม้ มขข. และ สคส. จะไม่เข้าไปเอื้ออำนวยการเรียนรู้แล้ว    ที่ ต. วัดดาว เข้าใจว่า อบต. จะมารับช่วง    โดย อบต. จะจ้าง “คุณอำนวย” ทำหน้าที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติต่อไป     สคส. เชื่อว่า “วัฒนธรรมการเรียนรู้ในงานประจำ” หรือในงานอาชีพ ของชาวบ้านนี้ จะแพร่ขยายออกสู่กิจกรรมอื่นๆ ในชุมชน

วิจารณ์ พานิช
๒๔ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7657เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2005 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายอัครวัฒน์ จิตหาญ

ในการดำเนินการใดๆหากได้มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถนำเสนอและที่สำคัญที่สุดคือความจริงใจ จากทุกๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ องค์กรต่างๆ อย่าเอาแต่พูด  ออกเอกสาร  อบรม สัมมนา และเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมที่กล่าวมา ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ยิ่งพื้นที่ที่มีแต่ความต้องการ ต้องการ และต้องการแต่ไม่เคยคิดที่จะพัฒนา ปรับปรุงตนเอง หวังแต่ได้ หวังแต่รับ มันก็ยากที่จะเอาkmไปใช้ สุดท้ายนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ช่วยเข้าไปดูแลบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท