ระบบสร้างสรรค์ปัญญาอเมริกัน (1)


ระบบสร้างสรรค์ปัญญาอเมริกัน (1)

         ระบบสร้างสรรค์ปัญญาเป็นระบบที่ซับซ้อนมาก   ผมไม่มีปัญญาจะเอาภาพรวมของระบบอเมริกันมาบันทึกไว้ได้   ขอเอามาเสี้ยวเดียวหรือเสี้ยวของเสี้ยว   คือ Smithsonian  ซึ่งตั้งขึ้นโดยเงินบริจาคของ James Smithson เพื่อ "increasing and diffusing knowledge" และผมขอบันทึกเพียงเสี้ยวเดียวของ Smithsonian คือ นิตยสาร Smithsonian ซึ่งฉลอง 35 ปีในฉบับเดือน พ.ย.48   โดยการนำเรื่องราวของคนอเมริกัน 35 คนที่ยังมีชีวิตอยู่มาลง   เรียกว่า "35 Who Made a Difference"   เป็นเรื่องราวของ "คนดี" คนมีประโยชน์หลากหลายด้านของสังคม   เป็นคนที่มีเป้าหมายชีวิต (mission) ของตนเอง   ฟันฝ่าชีวิตสู่เป้าหมายที่ไม่ธรรมดาในท่ามกลางสังคมธรรมดา (conventional) คนเหล่านี้คล้ายเป็นกบฎสังคม (rebel) คนที่เขาเลือกมามีทั้งกวี   นักสร้างภาพยนตร์   นักดนตรี   ช่างภาพ   นักวาดรูป   นักชีววิทยาศึกษามด   นักสำรวจทะเลลึก   นักพัฒนาคอมพิวเตอร์ ฯลฯ    กล่าวคือเขาเลือก "อัจฉริยะ" มาชนิดละคน (one of a kind)

ผมสนใจวิธีการของนิตยสารนี้   เนื่องจาก
1. อยากให้มีระบบส่งเสริมการสร้างสรรค์ปัญญาไทย   โดยการส่งเสริมคนที่เกิดมาพร้อมกับเป้าหมายชีวิตของตน   ผมคิดว่าโลกจะดีขึ้นหากสังคมเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ทำงานให้แก่สังคมตามที่ตนใฝ่ฝัน
2. อยากดูตัวอย่าง   ว่าเขามองคนแบบนี้อย่างไร   เขาเลือกคนแบบไหนมานำเสนอต่อสังคม

         ผมจะเล่าว่า "คนไม่ธรรมดา" 35 คนนี้   แต่ละคนทำอะไรบ้างก่อน   แล้วในตอนต่อ ๆ ไปจะคัดเลือกเอาความ "ไม่ธรรมดา" ของบางคนมาเล่าสั้น ๆ เท่าที่สติปัญญาของผมพอจะเข้าใจ

         คนแรกเป็นนักเป่าทรัมเป็ตและแต่งเพลงแจ๊ส   คนที่ 2  เป็นนักดาราศาสตร์ผู้หญิงที่ทำงานด้านดาราศาสตร์มา 69 ปี    คนที่ 3 เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกที่มุ่งบริจาคเงินเพื่อพัฒนาสุขภาพของผู้คนในโลก   คนที่ 4 เป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้ทุ่มเทอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อน   คนที่ 5 เป็นนักค้นคว้าเรื่องมนุษย์วานร (hominid)   คนที่ 6 เป็นช่างภาพ   คนที่ 7 เป็นนักวิจัยค้นคว้าเรื่องปลาหมึก   คนที่ 8 เป็นนักบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนอินเดียนแดงกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่   คนที่ 9 เป็นศิลปินวาดภาพธรรมชาติ   คนที่ 10 เป็นนักคอมพิวเตอร์กราฟฟิก   คนที่ 11 เป็นหญิงนักบุญผู้ช่วยเหลือสัตว์ป่าในอัฟริกาที่ช่วยตนเองไม่ได้   คนที่ 12 เป็นนักกำกับละครเวที   คนที่ 13 เป็นกวี   คนที่ 14 เป็นนักชีววิทยาสังคม  ผู้เสนอว่ายีนมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมของมนุษย์   คนที่ 15 เป็นนักดาราศาสตร์ริมถนน   คนที่ 16 เป็นนักอียิปต์วิทยา   คนที่ 17 เป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรก   คนที่ 18 เป็นนักประพันธ์  นักแต่งเพลง  นักกำกับภาพยนตร์และอีกหลาย ๆ นัก  อายุ 93 ปี     คนที่ 19 เป็นนักกวาดล้างโรคไข้ทรพิษที่กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากอาวุธเชื้อโรค   คนที่ 20 เป็นนักร้องเสียงโซปราโน   คนที่ 21 เป็นนักถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับธรรมชาติ   คนที่ 22 เป็นผู้ให้กำเนิด World Wide Web   คนที่ 23 เป็นนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล  ผู้ค้นพบโครงสร้างสามมิติของดีเอ็นเอ   คนที่ 24 เป็นนักพันธุศาสตร์พืช  ผู้ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน   คนที่ 25 เป็นกวีหญิงผิวดำ   คนที่ 26 เป็นนักดนตรีอัจฉริยะเล่น cello   คนที่ 27 เป็นนักชีววิทยา ผู้ศึกษาป่าอนุรักษ์ที่คอสตาริกา   คนที่ 28 เป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ต่อสู้เพื่ออนุรักษ์พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์   คนที่ 29 เป็นสถาปนิกผู้นำด้านการออกแบบอาคาร   คนที่ 30 เป็นนักจิตวิทยาผู้คลั่งไคล้การศึกษาชิมแปนซี  คนที่ 31 เป็นนักการศึกษาปฏิวัติการเรียนคณิตศาสตร์   คนที่ 32 เป็นสถาปนิกและศิลปิน   คนที่ 33 เป็นนักนิติเวชมานุษยวิทยา (Forensic Anthropology) ผู้คลั่งไคล้การศึกษากระดูก   คนที่ 34 เป็นศิลปินนักวาดภาพคน   และคนที่ 35เป็นนักสร้างภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่ 

          เห็นความงดงามของ "พหุปัญญา" (multiple intelligence) ไหมครับ

          ผมฝันเห็นโรงเรียน   บ้าน   ครอบครัว   และสังคมไทย   เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยดินดี  ปุ๋ยดี   ที่ส่งเสริมปัญญาหลากหลายด้านที่เกิดมากับเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน   ให้เมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาเหล่านี้ได้งอกงามเติบโต   และทำคุณประโยชน์แก่สังคมเต็มศักยภาพของแต่ละ "เมล็ดพันธุ์"

วิจารณ์  พานิช
 19 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7653เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2005 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมไปค้นเจอบทความดังกล่าว ในเว็บของเขาครับ

35 who made a difference 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท