คำวิจารณ์บทความ "มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา"


คำวิจารณ์บทความ "มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา"

         ขอขอบคุณ ผศ. ดร. วิบูลย์  วัฒนาธร  ที่กรุณาดำเนินการค้นต้นฉบับเรื่องนี้และเอามาลงบล็อก   ทำให้ผมได้สมบัติที่หายไปกลับคืนมา   และทำให้วงการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสศึกษาหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้จากข้อเขียนที่เขียนเผยแพร่ไว้เมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้วสมัยที่ผมทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สกว.

ผมอ่านบทความเหล่านี้   โดยตั้งคำถาม 3 คำถาม
     (1) มีส่วนใดที่ไม่จริง   หรือล้าสมัยไปแล้วบ้าง
     (2) ขาดประเด็นใดไปบ้าง
     (3) มีประเด็นใดที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปบ้างแล้ว

         ผมมองว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีปรากฎการณ์ใหญ่ ๆ ในวงการมหาวิทยาลัยไทยหลายอย่าง  ได้แก่
     - massification ของอุดมศึกษา   ทำให้โอกาสเข้าเรียนสูง   มีสถาบันให้เลือกเรียนมาก   มีการขยายในเชิงปริมาณอย่างรวดเร็ว
     - กิจการอุดมศึกษาเข้าสู่ธุรกิจมากขึ้น   อาจเรียกว่าเป็นธุรกิจวิชาการหรือบางกรณีเป็น "ธุรกิจปริญญา"
     - มีการยกฐานะสถาบันอาชีพไปเป็นมหาวิทยาลัย
     - เกิดมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ
     - มีกระแสของการปรับมหาวิทยาลัยออกไปอยู่นอกระบบราชการ
     - การปฏิวัติระบบ ICT ทำให้เนื้อหาความรู้เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย   มีผลเชิงท้าทายบทบาทของอาจารย์   ว่าจะต้องเปลี่ยนไปและเกิดพฤติกรรมในทางเสื่อมทำให้เกิดการ "มีผลงาน  แต่ไม่เรียนรู้" จากวัฒนธรรม cut & paste ข้อความจากอินเตอร์เน็ต
     - internationalization
     - การขยายตัวของมหาวิทยาลัยเอกชน
     - เริ่มมีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่มเน้นวิจัย   กลุ่มเน้นสร้างบัณฑิต (มหาวิทยาลัยสอน) และกลุ่มเพื่อชุมชน
     - เป็นต้น

         ดังนั้น   มองในมุมหนึ่งบทความเรื่อง "มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา" ก็ถือได้ว่าล้าสมัยไปมากแล้ว

         ยิ่งถ้าคำนึงถึงอีก 2 ประเด็น  คือ (1) การสร้างความรู้โดย KM อย่างที่หมอพิเชฐเข้ามา comment ในบล็อก  (2) การมีแนวความคิดและการดำเนินการด้านการวิจัยแบบ "งานวิจัยไทยรับใช้สังคมไทย" และ "งานวิจัยชาวบ้าน" ก็ย่อมยิ่งทำให้มองได้ว่าบทความ "มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา" ล้าสมัยมาก

         นี่คือมุมมองในภาพรวม

         ที่นี้หันมามองทีละประเด็น


มีส่วนใดที่ไม่จริง  หรือล้าสมัยไปแล้วบ้าง

ผมคิดว่าไม่มีนะครับ   ในภาพรวมยังเป็นเช่นนั้นอยู่   และบางส่วนยิ่งรุนแรงขึ้นจากผลของ massification มหาวิทยาลัยไทยได้เกิด diversification ซึ่งเป็นเรื่องดี   รวมทั้งเกิดมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ 5 - 6 แห่งขึ้นมาแข่งขัน   ซึ่งเป็นเรื่องดี    แต่ "ภารกิจ" สร้างสรรค์ปัญญายังไม่เข้มแข็งนัก   ยังค่อนข้างเน้นการสอนเป็นหลัก


ขาดประเด็นใดไปบ้าง
ขาดไปเยอะครับ  เช่น
     - ขาดเรื่องการสร้างสรรค์ปัญญาด้วย KM   ขาดมุมมองต่อความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)
     - ขาดเรื่องการสร้างสรรค์ปัญญาแบบวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย
     - ขาดการพูดถึงเรื่องระบบวารสารวิชาการของประเทศ   ที่มีทั้งวารสารวิชาการนานาชาติและวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทย
     - ขาดเรื่องการสร้างสรรค์ปัญญาโดยชาวบ้าน - วิจัยท้องถิ่น/วิจัยชาวบ้าน
     - ขาดการเน้นการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ - สังคมศาสตร์ที่เป็นการทำความเข้าใจเรื่องราวของสังคมไทยและของมนุษย์ร่วมสมัย
     - ขาดมุมมองต่อการวิจัยเชิงระบบที่เรียกว่า Systems Research เช่น  ระบบสุขภาพ,  ระบบการศึกษา,  ระบบการเมือง,  ระบบน้ำ,  ระบบพลังงาน ฯลฯ
     - มุมมองเชิงระบบจะนำไปสู่มุมมองเชิงนโยบาย   ที่ผมเขียนเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วยังขาดประเด็นเชิงวิจัยและเสนอแนะเชิงนโยบายหรือขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ


มีประเด็นใดที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปบ้างแล้ว
มีมากพอสมควรนะครับ
     - มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ มีสัดส่วนอาจารย์ระดับปริญญาเอกสูงขึ้นมาก
     - มีการส่งอาจารย์ระดับปริญญาเข้าฝึกอบรมวิจัยต่อระดับ Postdoc มากขึ้น
     - มีนโยบายรับอาจารย์ใหม่เฉพาะระดับปริญญาเอกเท่านั้นในหลายสถาบันและหลายสาขา
     - โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกของ สกว. (และ สกอ.) ได้สร้างนวัตกรรมด้านอุดมศึกษา,  ด้านบัณฑิตศึกษา  และด้านความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศหลายประการ   ที่อยู่บนฐานคิดลึก ๆ ที่ผมเขียนไว้


สรุป
         "ภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา" ในมุมมองของผมเปลี่ยนไปด้วยนะครับ   ผมมองการสร้างสรรค์ปัญญาหลากหลายแบบขึ้น    โดยคนหลากหลายสถานะขึ้น   ที่เขียนในบทความ "มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย : การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา" เน้นการวิจัยพื้นฐานเป็นหลัก   ซึ่งก็ถูกต้องนะครับ   มหาวิทยาลัยวิจัยต้องเน้น basic research   แต่ภารกิจสร้างสรรค์ปัญญากว้างกว่า basic research และกว้างกว่าการวิจัยตามความหมายแบบ conventional ครับ

วิจารณ์ พานิช
 19 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 7651เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2005 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อีกครั้งครับที่กรุณาอนุญาตให้ผมนำต้นฉบับเดิมมาลงใน blog และยังกรุณาช่วยวิจารณ์เพิ่มเติมให้ทันกับยุคสมัยอีกด้วย ทั้งหมดนี้ให้ความรู้และข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของผมและเพื่อน ๆ มากครับ

เรียน ท่านอาจารย์

ในหัวข้อการวิจารณ์บทความของอาจารย์ ได้มุมมองค่อนข้างเยอะค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่า ณ เวลาปัจจุบัน ( ปี 2553 ) จะมีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน เพราะสถาบันอุดมศึกษาโดยเพาะระดับบัณฑิตศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะมีการออกจากระบบราชการและกล่มปัจจุบันก็มีแนวทางเน้นเรื่องการวิจัยเป็นจุดแข็งในถ่ายทอดวิชาการเป็นหลักจะสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบกับการพัฒนางานได้มากนัอยแค่ไหน พอดีหนูปกิบัติงานอยู่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขอยู่และขอบข่ายงานก็เริ่มกว้างมากขึ้นเรื่อยๆขอรบกวนปรึกษาในเรื่องความคิดเห็นดังกล่าวกับอาจารย์ด้วยค่ะ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจศึกษาต่อและเรื่องการปฏิบัติงานในระบบราชการปัจจุบันที่เน้นเรื่ององค์ความร้ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างจะนอกกรอบด้วยคืออยากมีแนวทางจากบทความและการวิเคราะห์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างที่อาจารย์กรุณาชี้แนะให้ผ่านทางWeb board นี้น่ะค่ะ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท