แม่บับพา หญิงแกร่งตัวจริงตลุยบางกอก


พวกเขาได้เห็นตัวแท้จริงของเรื่องชนบทชิ้นหนึ่ง ได้ฟังสิ่งที่ถูกพูดในแบบของชาวบ้าน อย่างน้อยสิ่งที่แม่บับพาพูดก็เป็นเนื้อตัวของแกจริง ๆ คิดอะไร ทำอะไร ก็พูดไปตามนั้น แถมพูดภาษาย้ออีกต่างหาก

แม่บับพาอยู่บ้านนาดี เป็นชาวย้อ ออกไปอยู่นาเป็นส่วนใหญ่กับพ่อบ้าน ตัวเล็กแกร็น เดินเร็ว วับ ๆ วับ ๆ ไปกลับระหว่างนากับบ้านนาดีเมื่อจำเป็นต้องเข้ามาบ้าน รัศมีเกือบ ๓ กม. เพราะแม่บับพาขับรถเครื่องไม่เป็น จักรยานก็ปั่นไม่ได้ เดินลูกเดียว

แม่บับพาเขียนอ่านหนังสือไม่เป็น เขียนได้แต่ชื่อของตัวเอง แม่กังวลเรื่องการลงชื่อในเอกสารต่าง  ๆ เป็นที่สุด เพราะว่ากลัวจะถูกหลอกให้เซ็นเอกสารเรี่ยราด แล้วเป็นหนี้โดยไม่รู้สึกตัว

เรื่องของไร่นานั้น แม่บับพาเป็นเอกในกลุ่มเพื่อนที่บ้านนาดี.....ปลูกต้นไม้แม่จะขุดหลุมใหญ่ ยาว ลึก เพื่อปลูกต้นไม้ยาวเป็นแถว ใส่ปุ๋ยหมัก ผสมอย่างดี ใช้ดินคลุมทับชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงเอากล้าไม้ลง กลบ แล้วจึงคลุมด้วยฟางหนา

แม่ชอบดายหญ้า สวนต้องเรียบกริบ แสดงการดูแล อย่างดีระหว่างช่องทางเดินจะไม่มีหญ้าแม้แต่ต้นเดียว  แม่จันดา ..ญาติ ๆ บอก
“ทำแบบอีลาย (ชื่อเล่นแม่บับพา)ไม่ไหวหรอก เล่นจุดตะเกียงดายหญ้า ดูแลสวนจนถึงเที่ยงคืน หรือถ้าวันไหนที่พระจันทร์เต็มดวง ก็จะอาศัยแสงจากพระจันทร์นั้นแหละส่องสว่างในการทำงาน “........อือม์  ต้องทำขนาดนั้นจึงได้สวนแบบแม่บับพา ต้นไม้งามสะพรั่ง

แม่ไม่กลัวไม่เกรงใคร อยากให้คนไปเที่ยวชมเฉพาะสวนของแก ของคนอื่นก็ช่างเถอะ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าคนหน้าใหม่ ที่เป็นนักวิชาการทั้งหลาย หรือผู้ที่สนใจโครงการมาเยี่ยม แม่จะรุกเข้ามาหา มาวิสาสะสนทนา เล่าการทำงานของตนเอง แล้วชวนไปเที่ยวสวนของตนเอง

และแล้ววันหนึ่งคณะอาจารย์จากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ธรรมศาสตร์ ก็สนใจที่จะไปชมสวนแม่บับพา ดิฉันไม่ได้ไปด้วยก็เลยไม่รู้ว่าได้คุยอะไรกันบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีหนังสือเชิญมาที่โครงการและเชิญแม่บับพา ให้ไปร่วมสัมมนากับบัณฑิตอาสาสมัคร ที่ชะอำ ก่อนที่นักศึกษาจะเขียนสาระนิพนธ์

ดิฉันพาแม่เดินทางเข้ากรุงเทพและพักค้างที่กรุงเทพหนึ่งคืน ที่หอพักสำนักกลางคริสเตรียนแถวราชเทวี  ตื่นตอนสายก็พาแม่ไปกินและชมอาหารมังสวิรัติและชมตลาดจตุจักรไปตามเรื่อง ตอนเย็นพักอีกหนึ่งคืนเตรียมเดินทางต่อวันรุ่งขึ้น โดยจะขึ้นรถที่ธรรมศาสตร์ตอนหกโมงเช้า เนื่องจากดิฉันเป็นคนไม่สมาทานนาฬิกาและโทรศัพท์มือถือ ก็เลยบอกกับยามที่เฝ้าประตูอาคารที่นั่นว่าให้ช่วยปลุกด้วยตอนตีห้า ครับผม ยามบอก

ช่วงนั้นที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนกำลังมีการเร่งรื้อและก่อสร้างตึกอาคารหลายจุด คืนนั้นดิฉันนอนหลับ ๆ  ตื่น ๆ กังวล พอตื่นมาครั้งหนึ่ง แง้มผ้าม่านมองออกไปฝั่งตรงกันข้ามเห็นไฟสว่าง คนงานทำงานกันง่วนก็ตกใจ ตายแล้วสว่างแล้วละมัง ก็เลยเปิดประตูห้องออกไปมองหน้าประตูทางเข้าสำนัก ก็เห็นคนเดินและมีคนเข็นรถขายอาหารเข็นผ่าน จะมองท้องฟ้าก็อาศัยไม่ได้แล้วในกรุงเทพ มันไม่รู้เรื่อง ก็คิดว่า สายแน่แล้ว ก็เลยรีบปลุกแม่บับพาขึ้นมา ดิฉันก็รีบอาบน้ำแต่งตัว ในใจก็โกรธยาม
โธ่ ช่วยเหลือแค่นี้ก็ไม่ได้ แย่นะ คงมัวแต่ง่วงหงาวหาวนอน 
คิดตำหนิเขาไปหมด  แต่ก็จะเอาขนม น้ำอัดลมจากรถทัวร์ไปฝากแก

อย่างเร่งรีบ เรียบร้อยแล้ว สองแม่ลูกก็พากันหอบกระเป๋าตุหรัดตุเหร่โซซัดโซเซเมาขี้ตา ออกจากห้องจะเอากุญแจไปฝากเคาน์เตอร์เช็คเอาท์ ไปถึงยามยังทำเฉย ๆ  อีก ไม่ยอมขอโทษเราอีกแน่ะ ดิฉันก็เอาของฝากไปให้ทั้งที่ขัดเคืองในใจ หนอยแน่ ไม่ยอมปลุกเรา

ยามถาม  จะไปไหนกันครับ
ดิฉัน แน่ะ ยังจะมาถามอีก.... ก็จะไปขึ้นรถต่อไปชะอำค่ะ
ไปยังไงกันครับ พึ่งจะเที่ยงคืนเอง
แป่ววววว
สองแม่ลูกหอบข้าวของกลับไปนอนต่อทั้งชุดนั้นเลย นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ  จนตีห้า จึงได้ออกเดินทางคราวนี้ไม่ต้องอาบน้ำอีกเพราะอาบไว้แล้วก่อนนอน
โธ่ คนงานคงทำงานล่วงเวลาเปิดไฟสว่างตลอดวันตลอดคืน ส่วนรถเข็นขายอาหารคงเพิ่งจะขายหมดแล้วกลับบ้าน

ในที่สุดเราก็ไปถึงชะอำ ติดทะล ปรากฏว่ามีชาวบ้านที่ได้รับเชิญไปร่วมงานอีกหนึ่งคนนอกเหนือจากแม่บับพา การไปทะเลเที่ยวนี้เป็นเที่ยวที่สองของแม่บับพา หลังจากพวกเราไปขี้แตกขี้แตนที่เกาะเสม็ดมาแล้ว  ซึ่งเที่ยวนั้นแม่บับพารอดตัว

แม่บับพาเป็นคนดูแลตัวเองเรื่องอาหารเป็นพิเศษ ต่อให้อาหารนั้นจะเริดหรู น่ากิน หอมหวน หรือแกจะหิวเพียงไร แม่ไม่สน แม่ก็จะขอข้าวเหนียวกินกับผลไม้ หรือถ้ามีปลาย่าง หรือกินข้าวกับเกลือไปเลย ยิ่งถ้าอยู่ในพื้นที่ถ้าเรามีประชุม แม่ก็จะห่อข้าวของตัวเองมาด้วยเผื่อไว้ว่าจะกินกับเพื่อนไม่ได้ เช่น ถ้ามีหมู มีปลาเลี้ยง มีไก่ ระมัดระวังอย่างนี้เองคนรุ่นโบราณของเรา ไม่กินของแปลกเพราะเห็นแก่ปากอย่างเดียว

เราพักร่วมกับคณะที่ชะอำสองคืน ซึ่งจะรวมเป็นห้าคืนเมื่อนับรวมทั้งหมด วันที่สองของการนอนพักในรีสอร์ตหรูหรา แม่บับพาถึงกับนอนละเมอตอนเช้ามืดดิฉันรีบปลุกแกให้ตื่น  แล้วก็เหย้าแหย่แก
“แหม แม่คิดถึงพ่อบ้านถึงกับนอนละเมอเลยหรือคะ”
แม่ก็สมอ้างโดยซื่อ
“ ใช่ วันพรุ่งนี้ที่หมู่บ้านจะมีงานบุญ ก็เลยคิดถึงพ่อตา ที่บ้าน ไม่รู้ว่าจะเตรียมข้าวของไปร่วมทำบุญกับเขาเป็นหรือเปล่า”

ตื่นแล้วดิฉันก็ยุให้แกลงเล่นน้ำทะเลแกก็ชวนพ่ออีกคนหนึ่งไปด้วย ลาวทั้งสองคนพากันลงเล่นน้ำทะเลในชุดเก๋ แม่บับพานุ่งผ้าถุงและใส่เสื้อหมากกะแหล่ง (เสื้อชั้นในแบบชาวบ้านมีกระเป๋าสองข้าง) เตรียมว่ายน้ำ น้ำทะเลก็ซัดแกตุ๊บป่องลอยขึ้นลงตามคลื่นน้ำ แม่ก็พยายามตีโปงอาศัยผ้าซินที่นุ่ง  แล้วก็ว่ายหมากลับไปกลับมา....โอ้ หล่า ล้า  ภาพแม่บับพาจ้อนผ้าซิ่น กับเสื้อสายเดี่ยวบุกน้ำทะเล  มันส์พ่ะย่ะค่ะ

แม่บับพาแลกเปลี่ยนให้ลูกหลานฟังเรื่องการทำงานของตนเอง ดิฉันไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะเข้าใจเพียงไร ดิฉันน่ะเข้าใจว่าแม่พยายามพูดเรื่องอะไร แม่หมายถึงอะไร เด็ก ๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้ซักไซ้อะไร ดิฉันก็ปล่อยไปเพราะคิดว่าพวกเขาได้เห็นตัวแท้จริงของเรื่องชนบทชิ้นหนึ่ง ได้ฟังสิ่งที่ถูกพูดในแบบของชาวบ้าน อย่างน้อยสิ่งที่แม่บับพาพูดก็เป็นเนื้อตัวของแกจริง ๆ คิดอะไร ทำอะไร ก็พูดไปตามนั้น แถมพูดภาษาย้ออีกต่างหาก

วันเดินทางกลับพวกเราได้รับความอนุเคราะห์จากพี่น้อย นักวิชาการจากสำนัก พามาส่งที่หมอชิต แม่บับพาพอมาถึงวันสุดท้ายก็เหี่ยวเชียว คิดถึงบ้านเต็มแก่ ห้าคืนเต็ม ๆ  ช่วงนั่งรถเข้าถึงชานเมืองกรุงเทพ แม่ก็พูดน้อยลง น้อยลงเรื่อย ๆ  จนเงียบสนิท พูดกับกระจกเป็นครั้งคราว ตามองรถที่วิ่งขวักไขว่ไปมาตลอดเวลา ส่วนดิฉันก็หันมาคุยกับแกบ้างเป็นครั้งคราว คุยกับพี่น้อยเป็นส่วนใหญ่ ช่วยกันดูทาง เพราะพี่น้อยบอก
พี่ไม่เคยขึ้นทางด่วนแล้วมาลงหมอชิตซักที ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ช่วยดูทางด้วย
อ้าว...

จนเข้ามาสู่กลาง ๆ  กรุงเทพ ก็ได้ยินแม่บับพาหน้าแนบกระจกพึมพำ จนดิฉันได้ยินด้วยว่า
“ รถพวกนี้ พวกเขาไปไหนกันนะ ทำไมไม่เข้าถึงบ้านซักที ทำไมไม่หมดซักที เขาไปไหน”
แน่นอน ถนนที่บ้านแม่บับพาก็มีรถราวิ่งเหมือนกัน แต่มันไม่เป็นแบบนี้  มีวิ่งแล้วก็มีหมด เข้าบ้านเข้าช่อง แล้วถนนก็ว่าง แต่นี้รถวิ่งสวนมาตลอดเวลาไม่ขาดสายเลยเป็น ๓-๔ ชั่วโมง ( ที่จริงทั้งวันทั้งคืน ทั้งเดือน ทั้งปีและต่อไปและต่อไป...)

แม่บับพารู้สึกงุนงงอย่างแรงกับความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นอย่างปกติ  ในขณะที่พวกเรา เห็นความผิดปกตินี้เป็นเรื่องปกติ!!!!!! ใครผิดปกติกันแน่....

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การเผชิญ
หมายเลขบันทึก: 76093เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2007 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท